--------------------------------------
คำอาราธนาศีล
มะยัง ภันเต, วิสุง วิสุง รักขะณัตถายะ,
ติสะระเณนะ สะหะ, ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ.
ทุติยัมปิ มะยัง ภันเต ...
ตะติยัมปิ มะยัง ภันเต ...
เขียนแบบบาลี :
มยํ ภนฺเต, วิสุํ วิสุํ รกฺขณตฺถาย,
ติสรเณน สห, ปญฺจ สีลานิ ยาจาม.
ทุติยมฺปิ มยํ ภนฺเต ...
ตติยมฺปิ มยํ ภนฺเต ...
.................
แปลเป็นคำๆ หรือภาษานักเรียนบาลีเรียกว่า “แปลยกศัพท์” คือยกคำบาลีขึ้นมาศัพท์หนึ่ง แล้วเป็นไทยไปทีหนึ่ง :
ภนฺเต ข้าแต่ท่านผู้เจริญ
มยํ อันว่าข้าพเจ้าทั้งหลาย
ยาจาม ย่อมขอ
สีลานิ ซึ่งศีลทั้งหลาย
ปญฺจ ห้าข้อ
สห พร้อม
ติสรเณน ด้วยไตรสรณะ
รกฺขณตฺถาย เพื่อต้องการจะรักษา
วิสุํ วิสุํ เป็นส่วนๆ
ทุติยมฺปิ แม้ในวาระที่สอง
ภนฺเต ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ...
ตติยมฺปิ แม้ในวาระที่สาม
ภนฺเต ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ...
.................
ได้ความเฉพาะคำแปลว่า -
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ อันว่าข้าพเจ้าทั้งหลาย ย่อมขอ ซึ่งศีลทั้งหลาย ห้าข้อ พร้อม ด้วยไตรสรณะ เพื่อต้องการจะรักษา เป็นส่วนๆ
แปลรวมความว่า -
ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าขอศีลห้าข้อพร้อมด้วยไตรสรณะ เพื่อรักษาแยกกันเป็นพวกๆ
.................
โปรดสังเกตว่า เวลาแปลเป็นไทย เราไม่ได้แปลเรียงคำไปตามลำดับคำบาลีที่เขียนไว้ แต่แปลคำนี้แล้วกระโดดไปคำโน้น
ถามว่า แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า ต้องแปลคำไหนก่อน แล้วแปลคำไหนต่อไป
ตอบว่า รู้ได้เมื่อเรียนหลักบาลีไวยากรณ์ แต่ไม่ต้องกลัว ตอนนี้เรารู้ได้ด้วยการจำเป็นคำๆ ไปก่อน
หรือจะจำสูตรไว้สั้นๆ พอหากินไปได้เฉพาะหน้าก็ได้ คือ -
...................................
ถ้าไม่มีคำอื่นมาตัดหน้าหรือมาแทรก -
(๑) หาประธานให้เจอก่อน แล้วไป -
(๒) คำกริยา (กิริยา) แล้วไป -
(๓) กรรม
...................................
แต่ถ้า-ประธาน-กริยา-กรรม คือคำหน้าตาเป็นอย่างไร ยังไม่รู้จัก ก็ต้องใช้วิธีจำเป็นคำๆ ไปก่อน
“มยํ” (อันว่าข้าพเจ้าทั้งหลาย) = ประธาน
“ยาจาม” (ย่อมขอ) = กริยา (กิริยา) > กิริยาที่ทำคือ “ขอ”
“สีลานิ” (ซึ่งศีลทั้งหลาย) = กรรม > สิ่งที่ถูกทำ คือถูกขอ
ยังมีเรื่องที่น่าคุยกันต่อ
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๔
๑๘:๓๘