วันเสาร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

เวลาที่จิตจะล้างกิเลส

เวลาที่จิตมันจะล้างกิเลส มันจะมีกระบวนการของมัน
ถ้าจิตของเราทรงสมาธิจริงๆ
เราจะเห็นเป็น ช็อต..ช็อต..ช็อต..ช็อตนะ

อย่างสมมติเราเปียกฝนนะ แล้วเราก็กังวลใจ
ว่าเอ๊ เดี๋ยวต้องเป็นหวัดแน่เลย

พอกังวลใจเนี่ย จิตที่เคยฝึกเจริญสติมาชำนาญ
พอเกิดความกังวลขึ้น สติระลึกรู้ทันทีเลย
ความกังวลดับปั๊บลงไป
พอความกังวลดับปั๊บลง ขณะนั้นเนี่ย ศีล สมาธิ ปัญญาของเราแก่รอบพอแล้ว

จิตมันจะวางการรับรู้อารมณ์ภายนอก
มันจะทวนกระแสเข้ามาภายใน
จิตมันจะเข้าฌาน
เข้าอัปปนาสมาธิ เข้าเอง 

ชาตินี้ไม่เคยเข้าฌานก็ไม่เป็นไร
เจริญสติไปเถอะ ถึงจุดที่จะแตกหัก จิตเข้าฌานทุกคน
จะเข้าเอง อัตโนมัติ

พอจิตรวมเข้ามาแล้วเนี่ย
จิตผู้รู้จะตั้งมั่นอยู่นะ แล้วมันก็จะเห็นสภาวะธรรมเกิด-ดับ 2-3 ขณะ
บางคนเกิด 2 ครั้ง บางคนเกิด 3 ครั้ง

ถ้าพวกที่ปัญญากล้านี่เกิด 2 ที 
ไหววับดับ วับดับ 
ถามว่ารู้ไหมว่าอะไรเกิดอะไรดับ
(ตอบว่า) ไม่รู้ว่าอะไรเกิดอะไรดับ

เห็นแค่สิ่งบางสิ่งเกิด และสิ่งนั้นก็ดับ
เหมือนที่พระโกณฑัญญะท่านเห็น
ยํ กิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธ ธมฺมนฺติ
สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้น สิ่งนั้นทั้งหมดดับเป็นธรรมดา

ทำไมใช้คำว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่ง?
Something เพราะไม่รู้ว่าคืออะไร
เพราะไม่ได้ไปหมายรู้ ไม่ได้ไปคิดนึกปรุงแต่งว่าสภาวะนี้คืออะไร

มันจะผุดขึ้นมาแล้วก็ดับ ผุดขึ้นมาแล้วก็ดับ 2-3 ครั้ง
แต่ละคนแตกต่างกัน
ถ้าเป็นพวกปัญญินทรีย์กล้า จะเห็น 2 ที
ถ้าเรียนยังไม่เก่ง 3 ที ถึงจะเข้าใจ

พอเห็นสภาวะเกิดดับ 3 หน จิตจะวางการรู้สภาวะ
แล้วทวนกระแสเข้ามาหาธาตุรู้
เข้ามาที่ผู้รู้ ทวนเข้ามาที่จิตผู้รู้

ตรงที่ทวนนี้ชั่วขณะเดียว
พอเข้ามาถึงตรงจิตผู้รู้แล้ว 
มันจะแหวกตัวนี้ออก

อาสวะจะถูกอริยมรรคแหวกออก
ชั่วขณะจิตเดียว แล้วจิตจะสัมผัสพระนิพพาน 2-3 ขณะ
แล้วแต่แต่ละคนไม่เท่ากัน

ถ้าพวกปัญญินทรียแก่กล้าจะเห็นเป็น 3 ขณะ
ว่าง -- สว่าง -- เบิกบาน
ถ้าไม่แก่กล้า จะเห็น ว่าง -- แล้วก็สว่าง เฉยๆ

แต่กิเลสขาดไปละ
แจกแจงสภาวะได้ไม่ชัด ไม่ละเอียดเฉยๆ
เหมือนคนตกต้นไม้แล้วนับไม่ทันว่าผ่านกิ่งไม้มากี่กิ่ง
หล่นตุ้บถึงพื้นเลย
แต่พวกที่สติปัญญาแรงนี่
(รู้เลย) ตกลงมาผ่านกิ่งไม้มากี่กิ่ง

ไม่จำเป็นนะ จิตมันเป็นไปเอง
กี่กิ่งก็ช่างมันเถอะ
ให้มันพ้นก็แล้วกัน

พอมันแหวกออกมันก็ว่าง สว่างนะ
ก็รู้เลยว่า "โอ้ ไม่มีตัวเรานะ" 
ไม่มีตัวเรา ไม่มีของเรา

ก็ภาวนาไปเรื่อยๆ นะ 
ปัญญามันก็จะแก่รอบมากขึ้นๆ

วิธีภาวนาถัดจากนี้ก็ทำเหมือนเดิม
มีสติรู้กายรู้ใจ ตามความเป็นจริงด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง

ถ้าเหนื่อยหมดแรง กลับมาทำความสงบ
มีกำลังแล้วขึ้นไปเดินปัญญาต่อ
แบบเนี้ยทำไปเรื่อยๆ
แล้วความรู้ถูก ความเข้าใจถูก็จะมากขึ้นๆ

ทีแรกหลงยาวแล้วถึงจะรู้
ต่อไปเนี่ย พอผ่านกระบวนการครั้งที่ 2 ไปแล้วเนี่ย
หลงปั๊บรู้ปั๊บๆ เลย เร็ว
เพราะฉะนั้นกิเลสมันจะเบาบาง
เพราะอะไร? เพราะสติมันเร็ว

สติเกิดปุ๊บกิเลสดับปั๊บเลย
มันจะเร็วขึ้นๆๆๆๆ
แล้วสุดท้าย ปัญญามันจะเรียนรู้บีบวง
จากความปรุงแต่งทั้งหลาย มันบีบวงเข้ามาที่ร่างกาย

แล้วมันก็รู้แจ้งแทงตลอดนะ
ร่างกายนี้คือตัวทุกข์ !
ไม่ใช่ทุกข์บ้างสุขบ้างอีกต่อไปแล้ว

พอรู้ว่าร่างกายเป็นตัวทุกข์
มันก็ปล่อยวางกาย
ถ้าปล่อยวางกายได้
เขาเรียกพระอนาคามี

พระอนาคามีนี่จิตไม่ติดในกามแล้ว
ไม่ติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสแล้ว
ทำไมไม่ติด?
เพราะเห็นแล้วมันทุกข์

เมื่อเห็นตาเป็นทุกข์ รูป(ก็)ไม่มีความหมาย
เมื่อเห็นหูเป็นทุกข์ เสียงก็ไม่มีความหมายแล้ว
ไอ้ตัวที่สัมผัสนี่มันทุกข์ซะแล้วนะ
ไอ้ของข้างนอก ไม่มีความหมายอะไร

พอจิตมันไม่ได้ยินดีใน ตา หู จมูก ลิ้น กาย 
มันก็ไม่ได้ยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
แล้วมันก็ไม่ยินร้ายในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
กามและปฏิฆะ ขาดตรงนี้ ! 
ตรงที่มันรู้แจ้งเห็นจริงว่า กายนี้คือก้อนทุกข์แท้ๆ เลย

แล้วการภาวนาถัดจากนั้นมันจะบีบวงเข้ามาที่จิตล้วนๆ เลย
มาแตกหักกันตรงที่จิตนี้แหละ
เห็นจิตเป็นตัวทุกข์ล้วนๆ
จะเห็นได้ 3 แบบนะ
บางท่านท่านเห็นอนิจจัง 
ครูบาอาจารย์บางองค์ท่านเห็นจิตนี้เป็นตัวทุกขัง
บางท่านท่านเห็นเป็นอนัตตา
49.21-55.11

...

ถ้าเราเห็นร่างกายที่หายใจออกไม่ใช่เรา
ร่างกายที่หายใจเข้าไม่ใช่เรา
ร่างกายทั้งหมดจะไม่ใช่เรา

ถ้าเราเห็นว่าร่างกายที่ยืน เดิน นั่ง นอน ไม่ใช่เรา
ร่างกายทั้งหมดก็ไม่ใช่เรา

...

ธัมมานุปัสสนาจะรู้ธรรม
อะไรเป็นธรรม?
สิ่งใดเกิดจากเหตุ ถ้าเหตุดับธรรมนั้นก็ดับ

ในธัมมานุปัสสนานั้นจะมีทั้งสิ่งที่ชั่วคือนิวรณ์
เราก็เรียนจนเห็นเหตุของนิวรณ์
ถ้าเหตุของนิวรณ์ดับ นิวรณ์ก็ดับ
ไม่มีใครดับนิวรณ์ แต่เหตุของมันดับ ตัวมันดับ

เราเรียนเรื่องโพชฌงค์ อันนี้เป็นตัวกุศล
สุ่มตัวอย่างฝ่ายกุศลคือตัวโพชฌงค์มาเรียน

หรือเรื่อง ขันธ์ ธาตุ อายตนะ เป็นการสุ่มตัวอย่างมาเรียน
นี้เรียกว่า ธรรมในธรรม
เรียนเพื่อให้เห็น รู้เหตุ รู้ผล

แต่ถ้าเรียนกายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา
ก็เรียนให้เห็นมันเป็นไตรลักษณ์เฉยๆ 
พอมันแก่รอบขึ้นมาจิตมันจะก้าวขึ้นมาสู่ธัมมานุปัสสนาทุกคน

แล้วสุดท้ายมันจะแตกหักตรงที่สัจจบรรพทุกคน
พระอรหันต์ทุกคนผ่านสัจจบรรพ
ฉะนั้นอยู่ในสติปัฏฐานนั่นเอง

หลักสติปัฏฐานข้อที่ 1 
มีหลักให้จิตอยู่ มีบ้านให้จิตอยู่ เมื่อจิตหนีออกไปจากบ้านจะได้รู้ทัน

ข้อที่ 2 มีความเพียรแผดเผากิเลส
ไม่ได้ภาวนาเพื่อสนองกิเลส
ไม่ได้ภาวนาเพื่ออยากเป็นพระอรหันต์
ภาวนาเพราะอยากเป็นพระอรหันต์เรียกว่าสนองกิเลส ไม่ได้แผดเผากิเลสแล้ว

ภาวนาเพราะอยากรู้ อยากเห็น อยากเป็น อยากได้ อยากดี ไม่ใช่ !
ภาวนาเพื่อจะลดละกิเลส นั่นเรียก อาตาปี

วิธีที่จะลดละกิเลสได้ คือมีสัมปชาโน
มีความรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ ตรงที่รู้เนื้อรู้ตัวนี้ จิตต้องตั้งมั่นนะ
ถ้าจิตไม่ตั่งมั่นมันก็ลืมเนื้อลืมตัว

ทีนี้พอรู้เนื้อรู้ตัวแล้ว
พอสติระลึกรู้รูปธรรม นามธรรมใดๆ 
ก็จะเห็นไตรลักษณ์

ระลึกรู้กาย ก็เห็นไตรลักษณ์
ระลึกรู้เวทนา ก็เห็นไตรลักษณ์
ระลึกรู้จิต ระลึกรู้ธรรม ก็เห็นไตรลักษณ์ทั้งหมด

พอระลึก..ระลึก..ระลึก..ไป
จิตมันรู้นะ อย่างมันเห็นกุศลเกิด
หรือบางทีก็อกุศลเกิด

พอกุศลเกิดนะ เราพอใจ
อกุศลเกิด เราไม่พอใจ
หรือพอความสุขเกิด เราพอใจ
ความทุกข์เกิด เราไม่พอใจ

เนี่ย มันจะมี พอใจ - ไม่พอใจอยู่
ให้เรารู้ทันลงไปอีกชั้นหนึ่ง

ทีแรกเรารู้สภาวะที่กำลังมีกำลังเป็น
แล้วถ้าจิตมันยินดีพอใจ หรือยินร้ายไม่พอใจ ให้รู้ตรงนี้ด้วย

ฉะนั้นในสติปัฏฐานบอกว่า
วิเนยยะ อภิชฌา โทมนัสสัง ถอนความยินดียินร้ายในโลกเสีย
ฉะนั้น เวลาภาวนา จิตยินดีให้รู้ทัน จิตยินร้ายให้รู้ทัน แล้วมันจะเป็นกลาง

อันนี้ยังเป็นกลางด้วยสตินะ
แล้วต่อไปพอปัญญาเกิดมันเห็น
สุขกับทุกข์เท่ากัน เกิดแล้วดับเหมือนกัน
ดีกับชั่วก็เท่ากัน เกิดแล้วดับเหมือนกัน
นี่จิตจะเข้าสู่ความเป็นกลางด้วยปัญญา

ตรงที่จิตเป็นกลางด้วยปัญญาตรงนี้เรียกว่า
จิตเข้ามาถึงสังขารุเปกขาญาณ
ญาณคือปัญญา ปัญญาจนกระทั่งเป็นอุเบกขาต่อความปรุงแต่ง ทั้งหลายทั้งปวง

สังขารุเปกขาญาณนี้เป็นประตูของการบรรลุอริยมรรค อริยผล
บางคนปรารถนาพุทธภุมิ จิตมาหยุดอยู่ตรงนี้ ไม่ไปไหนต่อ
คนส่วนใหญ่มาถึงตรงนี้ไม่นานก็เสื่อม
ทำขึ้นไปอีกจนกระทั่งเป็นกลาง ก็ยังเสื่อมได้อีกนะ ขึ้นๆ ลงๆ 

จนกระทั่งมันแข็งแรงพอ
ศีล สมาธิ ปัญญาแก่กล้าพอ
มันจะก้าวข้ามจากจุดที่สังขารุเปกขาญาณ เกิดอริยมรรค-อริยผลขึ้น

เส้นทางนี้มีจริง
คำสอนของพระพุทธเจ้ามีจริง
ดังนั้นพระพุทธเจ้ามีจริง
อยู่ที่พวกเราเอาจริงไหม

****

การพยากรณ์ เป็นเอกสิทธิ์ของพระพุทธเจ้า
และผู้ภาวนาที่จะรู้ได้ด้วยตนเอง

***

ชาติ จิตไปตะครุบเขาตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ขึ้นมา

***

จิตยิ้ม
ยิ้มเยาะกิเลส เจ้าครอบงำเราไม่ได้อีกแล้ว

***

จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง จึงปล่อยวางจิต

คือเห็นจิตโดยความเป็นไตรลักษณ์

เมื่อปล่อยวางจิตก็ไม่มีอะไรให้ยึดถืออีกต่อไป


จิตนั้นแหละคือตัวทุกข์
ทุกข์ตัวสุดท้ายที่จะเห็นอย่างแจ่มแจ้งคือจิต


ทำลายผู้รู้ คือไม่ยึดถือผู้รู้

วันพุธที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

17 ก.ค.2567 /2024

อีก landmark

เฝ้าดูมา 8 ปี ด้วยความสบายใจ

วันนี้แสดงตัวให้เห็นแล้ว เจตนา ปานาติบาต

แม้เป็นในฝัน แต่เจตนาไปจนถึงกายกรรม ชัดเจน

ฝันเสร็จ มีความไม่เอา ในช่วงแรก หมายถึง เหมือนเป็นเรื่องคนอื่นทำ

แต่พอทบทวน มีการคว้าเป็นของเรามากขึ้นเรื่อยๆ และติดเป็นมลทินของจิต

ไม่เยอะ แต่ติด

มีความพยายามวนซ้ำว่า เอ๊ะ หรือว่า มันมีได้เกิดได้ แต่แค่ไม่เอา

มันเป็นเพราะบังเอิญไปดูภาพยุงดูดเลือดแล้วถูกตบ จนเก็บไปฝัน

และก็มีฝ่ายค้านบอกว่า นี่มันเริ่มเพี้ยน เห็นหรือเปล่า เชื่อตัวมากกว่าเชื่อพระพุทธเจ้า

"อบายยังเป็นที่หมายที่เป็นไปได้"

ขอบคุณที่ชี้แนะ