ที่ใดไม่มีสัตบุรุษ ที่นั้นไม่ชื่อว่าสภา
คนเหล่าใดไม่กล่าวธรรม คนเหล่านั้นไม่ชื่อว่าสัตบุรุษ
เพราะพวกสัตบุรุษละราคะ โทสะ และโมหะได้แล้วจึงกล่าวธรรมอยู่
โขมทุสสสูตร, สังยุตตนิกาย สคาถวรรค
“สภา” (สะ-พา) รากศัพท์มาจาก
- สนฺต (คนดี) + ภา (ธาตุ = รุ่งเรือง) + กฺวิ ปัจจัย แปลง สนฺต เป็น ส, ลบ กฺวิ: สนฺต > ส + ภา = สภา + กฺวิ = สภากฺวิ > สภา
แปลตามศัพท์ว่า “ที่อันรุ่งเรืองด้วยคนดี” - สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + ภาสฺ (ธาตุ = พูด, กล่าว) + กฺวิ ปัจจัย,
ลบนิคหิตที่ สํ (สํ > ส), ลบ ส ที่สุดธาตุ (ภาสฺ > ภา) และลบ กฺวิ: สํ > ส + ภาสฺ = สภาสฺ + กฺวิ = สภาสกฺวิ > สภาส > สภา
แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่มาประชุมกันพูด” - สห (คำอุปสรรค = ร่วมกัน) + ภา (ธาตุ = พูด, กล่าว) + กฺวิ ปัจจัย,
ลบ ห ที่ สห (สห > ส) และลบ กฺวิ: สห > ส + ภา = สภา + กฺวิ = สภากฺวิ > สภา
แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่พูดร่วมกัน
ตามความหมายเหล่านี้
“สภา” คือ คนดีๆ
มาปรึกษาหารือกันก่อนแล้วจึงลงมือทำกิจการต่างๆ
“สภา” (อิตถีลิงค์)
ทั้งบาลี สันสกฤต และภาษาไทยใช้รูปเดียวกัน
ข้อมูลจาก “บาลีวันละคำ”
โดย นาวาเอกทองย้อน แสงสินชัย
______________________
“สัตบุรุษ” : คนสงบ,
คนดี, คนมีศีลธรรม, คนที่ประกอบด้วย
สัปปุริสธรรม*
*“สัปปุริสธรรม” : ธรรมของสัตบุรุษ,
ธรรมของคนดี,
ธรรมที่ทำให้เป็นสัตบุรุษ มี ๗ อย่าง คือ
๑. ธัมมัญญุตา รู้หลักหรือรู้จักเหตุ
๒. อัตถัญญุตา รู้ความมุ่งหมายหรือรู้จักผล
๓. อัตตัญญุตา รู้จักตน
๔. มัตตัญญุตา รู้จักประมาณ
๕. กาลัญญุตา รู้จักกาล
๖. ปริสัญญุตา รู้จักชุมชน
๗. ปุคคลัญญุตา รู้จักบุคคล;
อีกหมวดหนึ่งมี ๘ อย่างคือ
๑. ประกอบด้วย สัทธรรม ๗ ประการ
๒. ภักดีสัตบุรษ (คบหาผู้มีสัทธรรม ๗)
๓. คิดอย่างสัตบุรุษ
๔. ปรึกษาอย่างสัตบุรุษ
๕. พูดอย่างสัตบุรุษ
๖. ทำอย่างสัตบุรุษ
(๓, ๔, ๕, ๖ คือ คิด ปรึกษา พูด ทำ มิใช่เพื่อเบียดเบียนตน
และผู้อื่น)
๗. มีความเห็นอย่างสัตบุรุษ (คือเห็นชอบว่า
ทำดีมีผลดี ทำชั่วมีผลชั่วเป็นต้น)
๘. ให้ทานอย่างสัตบุรุษ (คือให้โดยเคารพ
เอื้อเฟื้อแก่ของและผู้รับทาน เป็นต้น)
ข้อมูลจาก : พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น