-----------------------------
คำว่า “ชุมนุมเทวดา” หมายถึงคำกล่าวเชิญเทวดาให้มาชุมนุมกัน ข้อความที่กล่าวเป็นภาษาบาลี
การกล่าวชุมนุมเทวดาที่เห็นทำกันในปัจจุบันนี้มี ๒ โอกาส คือ เมื่อพระสงฆ์จะเจริญพระพุทธมนต์ กับเมื่อเจ้าพิธีทำพิธีบวงสรวงบูชา
การกล่าวชุมนุมเทวดาในโอกาสที่พระสงฆ์จะเจริญพระพุทธมนต์เป็นกิจที่ทำกันเป็นสามัญ ทั้งในการที่พระสงฆ์ทำวัตรสวดมนต์ประจำวัน ทั้งในโอกาสที่ญาติโยมนิมนต์ไปเจริญพระพุทธมนต์ในบุญพิธีต่าง ๆ
ในการเจริญพระพุทธมนต์ในบุญพิธีต่าง ๆ ลำดับการปฏิบัติคือ (๑) เจ้าภาพจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย (๒) พิธีกรนำบูชาพระ (๓) อาราธนาศีล (๔) สมาทานศีล (๕) อาราธนาพระปริตร ลำดับนั้นพระภิกษุรูปหนึ่ง (ตามหลักนิยมคือพระภิกษุที่นั่งเป็นลำดับที่ ๓) จะกล่าวบทชุมนุมเทวดา ภาษาปากเรียกว่า “ขัดสัคเค” เนื่องจากข้อความบทชุมนุมเทวดาขึ้นต้นว่า “สคฺเค กาเม จ รูเป” จบแล้วพระสงฆ์ก็เจริญพระพุทธมนต์
คนทั่วไปเข้าใจแต่เพียงว่า ชุมนุมเทวดาคือบทที่เชิญเทวดาให้มาชุมนุมกัน แต่ที่ไม่รู้ไม่เข้าใจก็คือ ชุมนุมเทวดาคือบทที่เชิญเทวดาให้มาฟังธรรม
ขอให้ดูคำลงท้ายที่ว่าซ้ำกัน ๓ ครั้ง คือ “ธัมมัสสะวะนะกาโล อะยัมภะทันตา” แปลว่า “ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย กาลนี้เป็นกาลควรฟังธรรม” เป็นการยืนยันว่า บทชุมนุมเทวดานี้เป็นบทที่เชิญเทวดามาฟังธรรม
ข้อความตรงที่อื่นก็ยืนยันอยู่ คือ -
.........................................................
สัทธัมมัง มุนิราชัสสะ
สุณันตุ สัคคะโมกขะทัง.
จงฟังซึ่งพระสัทธรรมอันให้สวรรค์และนิพพาน
ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นเจ้าแห่งมุนี
.......................
ยัง มุนิวะระวะจะนัง สาธะโว เม สุณันตุ.
คำใดเป็นคำของพระมุนีผู้ประเสริฐ,
ท่านสัตบุรุษทั้งหลายจงสดับคำนั้นแห่งข้าพเจ้า
.........................................................
เป็นอันสรุปได้ว่า บทชุมนุมเทวดาใช้เฉพาะงานที่มีการสวดมนต์เท่านั้น เพราะเป็นการเชิญเทวดามาฟังธรรม คือมาฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า
และบทชุมนุมเทวดานี่เองที่ยืนยันว่า สวดมนต์คือสาธยายพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
ฟังพระสวดมนต์ ก็คือฟังพระสาธยายพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
เราสวดเอง ก็คือเราสาธยายพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าคืออะไร เป็นเรื่องที่ควรศึกษาหาความเข้าใจต่อไปอีก
เวลาฟังพระสวดมนต์ หรือเวลาที่เราสวดมนต์ ขอให้ตั้งอารมณ์ให้ถูกว่าเรากำลังทำอะไร อย่ามองเห็นเป็นเพียงพิธีกรรมเพื่อความขลังความศักดิ์สิทธิ์จนไม่เห็นสาระในสิ่งที่กำลังทำ
.......................
ทีนี้ก็มาถึงบทชุมนุมเทวดา
ตัวบทเชิญเทวดามาชุมนุมจริง ๆ เริ่มที่คำว่า “สคฺเค กาเม จ รูเป” แต่ก่อนจะถึงตัวบท จะมีคำเริ่ม หรือคำปรารภ หรือคำกล่าวเกริ่นนำขึ้นมาก่อน
พึงทราบว่า “คำเริ่ม คำปรารภ คำกล่าวเกริ่นนำ” นี้ เป็นคำที่ผมเรียกเอง โดยทั่วไปแล้วเข้าใจกันว่าเป็นส่วนหนึ่งของบทชุมนุมเทวดาหรือเป็นตัวบทชุมนุมเทวดานั่นเลย ไม่ได้แยกออกมาอย่างที่ผมเรียก แต่ผมเห็นว่า คำขึ้นต้นนี้ไม่ใช่เป็นคำเชิญเทวดา แต่เป็นคำที่ผู้เชิญปรารภนำขึ้นมา จะว่าพูดบอกกันในหมู่พวกกันเองก็ได้ จึงยกออกมาให้เห็นเป็นต่างหาก
มีธรรมเนียมว่า ถ้าเป็นพระราชพิธีและสวดมนต์ในพระราชฐาน หรือเป็นงานพิธีของทางราชการ คำกล่าวเกริ่นนำจะมีข้อความดังนี้ -
.........................................................
สะรัชชัง สะเสนัง สะพันธุง นะรินทัง
ปะริตตานุภาโว สะทา รักขะตูติ.
(ขออานุภาพแห่งพระปริตรจงรักษาพระราชา
พร้อมทั้งราชสมบัติ ไพร่ฟ้าเสนามาตย์ พระราชวงศ์จงทุกเมื่อ เทอญ)
.........................................................
งานพิธีทั่วไป ถ้าเป็นพระสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย คำกล่าวเกริ่นนำนิยมว่าดังนี้ -
.........................................................
ผะริต๎วานะ เมตตัง สะเมตตา ภะทันตา
อะวิกขิตตะจิตตา ปะริตตัง ภะณันตุ.
(ท่านผู้เจริญทั้งหลาย จงมีเมตตาแผ่เมตตาจิตไปเถิด
จงสวดพระปริตร อย่าได้มีจิตฟุ้งซ่านเลย)
.........................................................
งานพิธีทั่วไป ถ้าเป็นพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุต คำกล่าวเกริ่นนำนิยมว่าดังนี้ -
.........................................................
สะมันตา จักกะวาเฬสุ
อัต๎ราคัจฉันตุ เทวะตา
สัทธัมมัง มุนิราชัสสะ
สุณันตุ สัคคะโมกขะทัง.
(ขอเชิญเทพยดาในรอบจักรวาลทั้งหลาย
จงมาประชุมพร้อมกันในสถานที่นี้
จงฟังซึ่งพระสัทธรรมอันให้สวรรค์และนิพพาน
ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นเจ้าแห่งมุนี)
.........................................................
(เฉพาะบทนี้ มีใจความที่ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำเชิญ)
.........................................................
แล้วจึงต่อด้วยข้อความตัวบทชุมนุมเทวดาดังต่อไปนี้ -
.........................................................
สัคเค กาเม จะ รูเป
คิริสิขะระตะเฏ จันตะลิกเข วิมาเน,
(ขอเชิญเหล่าเทพเจ้าซึ่งสถิตอยู่ในสวรรค์ชั้นกามภพก็ดี รูปภพก็ดี, อยู่ในวิมานเหนือยอดเขาแลเขาขาดก็ดี ในอากาศก็ดี)
ทีเป รัฏเฐ จะ คาเม
ตะรุวะนะคะหะเน เคหะวัตถุมหิ เขตเต,
(ในเกาะก็ดี ในแว่นแคว้นก็ดี, ในบ้านก็ดี ในต้นพฤกษาและป่าชัฏก็ดี, ในเรือนก็ดี ในที่ไร่นาก็ดี)
ภุมมา จายันตุ เทวา
ชะละถะละวิสะเม ยักขะคันธัพพะนาคา,
(ภุมเทวดาก็ดี, ยักษ์ คนธรรพ์ และนาค ซึ่งสถิตอยู่ในน้ำแลบนบกแลอันที่ไม่เรียบราบก็ดี)
ติฏฐันตา สันติเก ยัง
มุนิวะระวะจะนัง สาธะโว เม สุณันตุ.
(ซึ่งอยู่ในที่ใกล้เคียง จงมาประชุมพร้อมเพรียงกันในสถานที่นี้,
คำใดเป็นคำของพระมุนีผู้ประเสริฐ,
ท่านสัตบุรุษทั้งหลายจงสดับคำนั้นแห่งข้าพเจ้า)
ธัมมัสสะวะนะกาโล อะยัมภะทันตา
(ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย กาลนี้เป็นกาลควรฟังธรรม)
ธัมมัสสะวะนะกาโล อะยัมภะทันตา
(ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย กาลนี้เป็นกาลควรฟังธรรม)
ธัมมัสสะวะนะกาโล อะยัมภะทันตา.
(ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย กาลนี้เป็นกาลควรฟังธรรม.)
.........................................................
ที่ว่ามานี้เป็นการกล่าวบทชุมนุมเทวดาเมื่อพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ เป็นพิธีที่เราคุ้นกัน และไม่มีปัญหา คือ เชิญเทวดาให้มาชุมนุมกันเพื่อฟังธรรม ก็มีธรรมให้เทวดาฟัง นั่นคือพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ พูดกันตรง ๆ ก็คือ เชิญเทวดามาฟังพระสวดมนต์นั่นเอง
เจริญพระพุทธมนต์เป็นการแสดงธรรมในรูปแบบหนึ่ง เป็นอันว่าเทวดาได้ฟังธรรมสมกับเจตนาที่เชิญมา
แต่การกล่าวบทชุมนุมเทวดาที่เป็นปัญหา คือเมื่อเจ้าพิธีทำพิธีบวงสรวงบูชาในงานต่าง ๆ
ในพิธีการบางอย่าง เช่นพิธีบวงสรวงสังเวย พิธีไหว้ครูเป็นต้น ซึ่งไม่มีการสวดมนต์ และไม่มีการแสดงธรรมใด ๆ พิธีกรหรือเจ้าพิธีก็นิยมกล่าวคำชุมนุมเทวดาด้วยเสมอ
ปัญหาน่าคิดก็คือ ในเมื่องานนั้นไม่มีการสวดมนต์ ไม่มีการแสดงธรรม คำชุมนุมเทวดาซึ่งระบุชัดว่าเชิญเทวดามาฟังธรรม ไม่ได้เชิญมาทำอย่างอื่น จะเป็นคำที่ถูกต้องหรือ?
อุปมาเหมือนเราเชิญแขก ในคำเชิญระบุชัดว่าขอเชิญมารับประทานอาหาร แต่ไม่มีอาหารใด ๆ ให้รับประทาน จะไม่เป็นการโกหกตลกเล่นไปหรือ?
ตอนหน้าค่อยว่ากันต่อครับ
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา
๗ มิถุนายน ๒๕๖๗
๑๔:๓๐
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น