วันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2567

จิตปล่อยจิต ไตรลักษณ์และอริยสัจ

บางทีจิตมันก็วางจิต (วางผู้รู้) ลงไป
แล้วมันก็หยิบฉวยขึ้นมาอีก
ตราบใดที่มันยังไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ มันก็ยังหยิบอีก
แล้วถ้ามันหยิบมาแล้ว เราเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของจิต มันก็จะวาง
วางแล้วมันยังไม่รู้แจ้งอริยสัจ มันก็จะหยิบอีก

ทำไมวางได้ เพราะเห็นไตรลักษณ์ของจิต
ทำไมยังหยิบได้ เพราะไม่เห็นอริยสัจ
มันเป็น 2 กระบวนการ

กำลังของศีล สมาธิ ปัญญา ของอริยมรรคทั้ง 4 ขั้นไม่เท่ากัน 

เทศน์ลพ.ปราโมทย์ 26 ต.ค.2567 ประมาณครึ่งชม.ท้าย

วันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2567

ประเด็นคนตื่นธรรมอีกมุมหนึ่ง

ในเรื่องปัจจุบันนี้เกี่ยวกับ "หมอดู" และ "คนตื่นธรรม" จะว่าไปแล้วเป็นเรื่องของการเอากิเลสไปชนกัน..! ในส่วนของหมอดู กระผม/อาตมภาพตำหนิเขาน้อย ตำหนิเขาน้อยตรงที่ว่าเขาแค่ปากไว แล้วก็ไปพูดกระทบกระเทือนในลักษณะปรามาสพระพุทธเจ้าว่า พระพุทธเจ้าก็ไม่แน่ว่าจะรู้จริงทั้งหมด ซึ่งตรงนี้ไปสวนกับความเชื่อของพุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่ เลยเจอ "ทัวร์ลง" เยอะหน่อย..!
.
ในเรื่องของหมอดูนั้น ถ้าหากว่ามีจรรยาบรรณและมีความคล่องตัวจริง ๆ สามารถอาศัยได้ในระดับหนึ่ง ที่กระผม/อาตมภาพบอกไปวันก่อนก็คือได้ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่ใช่ไปฝากชีวิตไว้กับหมอดู อย่าลืมว่า ๔๐ เปอร์เซ็นต์ที่นอกเหตุเหนือผล นั่นก็คือคนที่ไม่ยอมจำนนต่อชะตากรรม ดิ้นรนฝ่าฟันจนกระทั่งผ่านพ้นไปได้

นั่นคือสิ่งที่พระพุทธเจ้าเชื่อว่าพวกเรามีศักยภาพเพียงพอ พระองค์ท่านถึงได้เสียเวลามาสอนพวกเราอยู่ถึง ๔๕ ปี ไม่อย่างนั้นถ้าหากว่าเชื่อหมอดูอย่างเดียว ก็ไม่ต้องทำมาหากินอะไรแล้ว เขาบอกว่าไม่ดีก็ไม่ดีไปตลอดชีวิต เขาบอกว่าดีแล้วจะดีไปตลอดชีวิตได้อย่างไร ? เพราะว่าเราเองก็ทำดีไม่ทั่ว ทำชั่วไม่หมด ก็ต้องมีขึ้น ๆ ลง ๆ ดีบ้าง ชั่วบ้าง

แต่ว่าในส่วนของบุคคลที่อ้างว่าเป็นผู้ตื่นธรรมหรือผู้รู้ธรรมนั้น การสอนธรรมของท่านปราศจากสาราณียธรรม ตรงนี้อันตราย ท่านที่เรียนนักธรรมชั้นตรีมาก็รู้อยู่แล้ว สาราณียธรรม ธรรมอันเป็นเครื่องยังให้ทุกคนระลึกถึงกัน เมื่อจะคิดก็คิดถึงผู้อื่นด้วยเมตตา เมื่อจะพูดก็พูดถึงผู้อื่นด้วยเมตตา เมื่อจะกระทำก็กระทำต่อผู้อื่นด้วยเมตตา ไม่ใช่อยู่ในลักษณะของด่าสาดเสียเทเสีย ไป "บูลลี่" หรือว่า "ด้อยค่า" ความรู้ของคนอื่น

ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายไปนึกถึงปิรามิดพระพุทธศาสนาที่กระผม/อาตมภาพเคยเปรียบเทียบไปแล้ว ส่วนของพิธีกรรมพิธีการก็คือฐานใหญ่ที่สุด นี่คือพุทธศาสนิกชน ๘๐ - ๙๐ เปอร์เซ็นต์เลยนะ..! ขึ้นมาถึงระดับกลาง ก็คือ ศีล สมาธิเบื้องต้น พวกที่จะใช้ปัญญาได้จริง ๆ ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญาครบถ้วน ไปอยู่ที่ยอดปิรามิดนิดเดียว

ถ้าหากว่าเราไป "ด้อยค่า" คนอื่น หรือไป "บูลลี่" คนอื่น ถือว่าคนอื่นตื่นไม่เท่ากูก็แปลว่าชั่วหมด..! อย่างนั้นใช้ไม่ได้ เราจะไปอ้างว่าเรื่องของธรรมะไม่ต้องเอาใจใคร..ก็ถูก แต่ลักษณะของการสอนธรรม เราสอนด้วยกิเลส หรือว่าเราสอนเพราะเจตนาให้ผู้อื่นรู้ตาม ?ถ้าท่านทั้งหลายลองไปฟังดูแล้วก็จะรู้

ถ้าหากว่าท่านตั้งใจสอนให้ผู้อื่นรู้ตาม ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องหาคอนเท็นต์หรือว่าแนวทางที่โลดโผน เพื่อที่จะเป็นติ๊กต็อกเกอร์ หรือเป็นยูทูบเบอร์ เพราะลักษณะอย่างนั้นก็คือการดึงคนเข้ามา ดึงคนเข้ามาเพื่ออะไร ? ก็ต้องหวังยอดวิว หวังยอดไลค์..!
.
ดังนั้น..เรื่องพวกนี้เราอย่าไปกล่าววาจาอันเป็นเหตุให้เถียงกัน พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดแล้วว่า วาจาอันเป็นเหตุให้เถียงกันทำให้ต้องพูดมาก บุคคลที่พูดมาก จิตใจย่อมฟุ้งซ่าน บุคคลที่ฟุ้งซ่านย่อมห่างจากสมาธิ..!

ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านทั้งหลายก็ต้องเข้าใจว่าคนเราสร้างบุญสร้างกรรมมาไม่เท่ากัน เหมือนอย่างกับวิทยานิพนธ์วิเคราะห์ภพภูมิที่ ดร.ซ้วงท่านทำมา ในเมื่อสร้างบุญสร้างกรรมมาไม่เท่ากัน บุคคลที่สร้างบุญมาดีก็ได้ครูบาอาจารย์ดี สิ่งใดผิดพลาดก็แก้ไขให้ บอกกล่าวแต่ในสิ่งที่ถูกต้อง แต่ถ้าหากว่าเราสร้างบุญสร้างกรรมมาไม่เท่ากัน แล้วเราดันไปสร้างด้านที่ไม่ดี ถ้าไม่โดนพวกบรรดา "คอลเซ็นเตอร์" หลอกจนหมดเนื้อหมดตัว ก็โดนหมอดูหลอกให้ไปสะเดาะเคราะห์บ้าง ไปเปลี่ยนชื่อบ้าง สารพัด แล้วแต่ละวิธีก็ล้วนแล้วแต่เสียเงินทั้งนั้น..!

ทั้ง ๆ ที่ถ้าเราตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติใน ศีล สมาธิ ปัญญา โดยไม่ต้องเสียสตางค์ และเป็นการแก้ดวงที่ดีที่สุด แต่พวกเรากลับขี้เกียจ มักง่าย อะไรยากไม่ทำ สิ่งไม่ดีเกิดขึ้นแทนที่จะรีบแก้ไขด้วยการพัฒนา กาย วาจา ใจ ของตนเองให้ดีขึ้น เรากลับไปเปลี่ยนชื่อ ฟังดูแล้วว่ามันใช่หรือไม่ ? เปลี่ยนชื่อให้ตาย ถ้าความประพฤติไม่เปลี่ยน แล้วสิ่งดี ๆ จะเข้ามาได้อย่างไร ?

จึงเป็นเรื่องพวกเราทั้งหลาย โดยเฉพาะพระภิกษุสามเณรต้องตระหนักให้มากไว้ว่า เรื่องของพระพุทธศาสนา ต่อให้ปฏิบัติไปไม่ถึงพระอริยเจ้า ก็ต้องรักษาพระไตรปิฎกเอาไว้ พูดง่าย ๆ ก็คืออย่านอกคอก เพราะว่าถ้าความนอกคอกของเรา แล้วมีคนเดินตาม..พังแน่ ๆ..! คือถ้านอกคอกเมื่อไร โอกาสที่จะไปได้ดีนั้นก็ยากแล้ว เพราะว่าไม่ว่าโลกไหน ๆ ก็ไม่มีใครที่จะมีความสามารถเสมอกับพระพุทธเจ้า พระองค์ท่านวางแนวทางเอาไว้แล้ว ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ สรุปลงมาเหลือหนทาง ๘ ประการ ย่อลงมาก็คือแนวปฏิบัติ ๓ อย่าง คือ ศีล สมาธิ ปัญญา

ดังนั้น..ถ้าหากว่าใครคิดว่าจะหาทางใหม่ที่จะเก่งกว่าพระพุทธเจ้าได้ เราก็ปล่อยท่านไปเถอะ เอาที่ท่านสบายใจก็แล้วกัน เดี๋ยวตอนตายก็รู้เองว่าจะไปพบกันข้างบนหรือข้างล่าง..!

พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
คัดลอกบางส่วนจาก.. เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
วันอังคารที่ ๘ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗
......

บาป 18 ประการ คนตื่นธรรม
กรณีคนตื่นธรรม สอนธรรมออนไลน์ในสื่อโซเชียล มีลักษณะการใช้คำพูดหยาบคาย ด้อยค่าด่ากราด ไม่ประนีประนอมเพื่อให้คนเข้าถึงธรรมะที่แท้จริง ตื่นรู้จากอวิชชา เดรัจฉานวิชา ปลุกเสก ได้สร้างบาป 18 ประการขึ้น คือในการสอนธรรม มีข้อผิดพลาดที่เป็นปัญหาควรต้องพิจารณาและปรับปรุง เพราะกระทบต่อภาพลักษณ์ของพุทธสาสนา และสร้างสัทธรรมปฏิรูปขึ้นแก่ชาวพุทธ เป็นบาปใหญ่หลวง

1. ใช้วจีทุจริต ไม่เป็นสัมมาวาจา ไม่เป็นวาจาสุภาษิต (ตามแนวทางมรรค ๘)
มีการใช้คำพูดด่า ดูถูก กดข่มผู้ฟัง เช่น มึงมันโง่ ไอ้ปัญญาอ่อน มึงปัญญาอ่อนไง โดยกล่าวอ้างว่า ธรรมแท้ไม่มีประนีประนอม ในหลักของมรรคมีองค์ ๘ ครอบคลุมอยู่ในทุกเรื่องของการกระทำ จึงจะถือว่าเป็นการปฏิบัติตามคำสอนในพระพุทธศาสนา การสอนโดยใช้วาจาไม่เป็นสัมมาวาจานั้น เป็นวจีทุจริต เป็นบาป ผิดหลักมรรคมีองค์ ๘

2. สอนขัดแย้งกันเอง ยกธรรมตีธรรม เพราะไม่รอบรู้ไม่เข้าใจหลักเหตุผล มักจะเอาธรรมข้อใดข้อหนึ่งยกขึ้นมา ตีธรรมะข้ออื่นในชุดธรรมเดียวกัน หรือชุดอื่น เพื่อสร้างภาพว่าตนรู้ทั่วถึงธรรมวินัยดี อันไหนธรรมแท้ ธรรมถูก เช่น การกล่าวว่าการรู้อดีต รู้อนาคต ไม่ได้ทำให้เข้าใจปัจจุบัน ไม่มีประโยชน์
ถือเป็นดูหมิ่นด้อยค่า คำสอน วิชชา 3 มี ปุพเพนิวาสนุสสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ โดยคำลักษณะนี้เป็นการบอกว่า ญาณ 2 อย่างข้างต้นไม่มีความสำคัญ ในขณะที่ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ การระลึกรู้อดีตชาติของพระพุทธเจ้า ได้เป็นการประจักษ์แจ้งการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์ ทำให้รู้จุตูปปาตญาณ รู้ผลของการกระทำกรรม และนำสู่อาสวักขยญาณ ปัญญารู้ทำอาสวะกิเลสให้หมดสิ้นได้   และข้อธรรมอื่นก็คล้ายกัน ไม่รู้จักเหตุผล พุทธเจ้าแสดงธรรมเป็นชุดเหตุผล เป็นลำดับ

3. พุทธคุณไม่มีอยู่จริง นอกจากพระบริสุทธิคุณ ปัญญาคุณ มหากรุณาคุณ 
ความจริงคุณของพระพุทธเจ้ามีหลายประการ ทั้งนวหรคุณ 9 อย่าง อะระหํ(เป็นพระอรหันต์) สัมมาสัมพุทโธ(ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง) วิชชาจรณสัมปันโน (เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ) เป็นต้น  พุทธานุภาพที่เกิดจากอานุภาพบารมีที่สั่งสมแสดงออกอำนวยผล ในหลายลักษณะ ให้เกิดความสวัสดีแก่ผู้นับถือบูชา เช่น การปกป้องคุ้มครองพระภิกษุที่ไปปฏิบัติอยู่ในสถานที่ห่างไกล มักจะปูลาดอาสนะไว้ เมื่อมีภัย หรือเกิดอกุศลวิตก หวาดกลัว เพียงระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระองค์จะเสด็จมาปลอบ สอนธรรม ทำให้พระภิกษุไม่หวาดกลัวที่จะเดินทางไปอยู่ในที่ไกลๆ เพราะพลังแห่งพุทธะคุ้มครอง แม้ในยุคปัจจุบันพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ก็ยังมีพลังพุทธคุณหรือพุทธานุภาพปกป้องคุ้มครองชาวพุทธอยู่ ความเชื่อเหล่านี้จะมีผลได้ต้องปฏิบัติธรรมจนเข้าถึงธรรมระดับหนึ่งจึงจะสามารถพิสูจน์ได้ การเห็นสุดโต่งปฏิเสธความมีอยู่แห่งพุทธานุภาพจึงเป็นความเห็นผิด อันร้ายแรงอย่างหนึ่ง

4.พระเครื่องไม่มีพุทธคุณ เป็นความเห็นผิด พุทธเจ้าประทานบทพระปริตรหลายวาระหลายบท เพื่อป้องกัน เพื่อรักษา ไม่เบียดเบียน อยู่สำราญ ของพระภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พุทธานุภาพหรือเขตอำนาจแห่งพุทธเจ้าแผ่ไปใน 3 เรื่อง คือ
1)ชาติเขต แผ่ไปในหมื่นจักรวาล
2)อาณาเขต คือ พุทธมนต์ หรือปริตร แผ่ไปในแสนโกฏิจักรวาล 
3)วิสัยเขต แผ่ไปไม่มีขอบเขต 
พุทธคุณหรือพุทธานุภาพ เกิดจากการสวดสาธยายมนต์ มีอำนาจแผ่ไปในแสนโกฏิจักรวาล ช่วยขจัดปัดเป่าอุปัทวันตราย โรคภัย เสนียดจัญไรต่างๆ ได้ มีการสืบทอดคำสอนมาช้านาน
ดังข้อความว่า 
"ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเรียนมนต์เครื่องรักษาชื่ออาฏานาฏิยะจงเล่าเรียนมนต์เครื่องรักษาชื่ออาฏานาฏิยะ จงทรงจำมนต์เครื่องรักษาชื่ออาฏานาฏิยะไว้ ภิกษุทั้งหลาย มนต์เครื่องรักษาชื่ออาฏานาฏิยะนี้ ประกอบด้วยประโยชน์ เพื่อคุ้มครอง เพื่อรักษา เพื่อไม่เบียดเบียน เพื่ออยู่สำราญของภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลาย”
ข้อความนี้แสดงให้เห็นว่า บทปริตร หรือบทพุทธมนต์ มีพลังอำนาจ คุ้มครองป้องกันรักษา พระพุทธเจ้าจึงให้สวดสาธยาย และเมื่อนำมาใช้ในการสร้างพระพุทธรูป พระเครื่องต่างๆ ย่อมมีคุณตามที่พระพุทธเจ้าตรัส
คำพูดปฏิเสธพุทธคุณ พุทธรูป สิ่งเคารพทางศาสนา ที่สืบทอดคติความเชื่อจารีตมาช้านานนับพันปี จึงเป็นการบ่อนทำลายความศรัทธาที่มีต่อ พระพุทธเจ้า สิ่งแทนพุทธเจ้า หรือคำสอนที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า ไม่ให้ผู้คนมีศรัทธา โดยยกคำสอนเรื่องอริยสัจ มาด้อยค่าคำสอนว่าด้วยเรื่องศรัทธาต่อพระพุทธเจ้า จึงเป็นการทำลายศาสนา ไปพร้อมกัน อนาคตเด็กยุคใหม่เสพคำสอนนี้ จะไม่นับถือไม่ไหว้พระพุทธเจ้าและไม่เห็นความสำคัญ คุณค่าของพุทธรูปที่สร้างไว้ในฐานะเครื่องยึดเหนี่ยวที่เป็นรูปธรรมนำสุ่พุทธเจ้า รวมทั้งไม่เชื่อในพระพุทธเจ้า

5. มิจฉาทิฐิ 10 สอนการบูชาที่ไร้ผล สายลัทธิวัดนา สอนไม่ให้กราบไหว้บูชาพระพุทธรูป องค์แทนพุทธเจ้าสร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงพุทธเจ้า เป็นจารีตนิยมที่ถือมาช้านาน เชื่อมโยงคำสอนในพระไตรปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ ปีตวิมานวัตถุ
“ติฏฺฐนฺเต นิพฺพุเต จาปิ, สเม จิตฺเต สมํ ผลํ;
เจโตปณิธิเหตุ  หิ, สตฺตา คจฺฉนฺติ สุคฺคตึ.
"พระพุทธเจ้า จะทรงพระชนม์อยู่ หรือแม้จะนิพพานไปแล้วก็ตาม
ถ้าจิตเสมอกัน ผลก็เสมอกัน สัตว์ทั้งหลายไปสู่สวรรค์ เพราะความเลื่อมใสตั้งมั่นแห่งจิตใจ
การสอนไม่ให้ไหว้พุทธรูป นับเป็นมิจฉาทิฐิ ข้อที่ ๒ นัตถิ ยิตถัง และข้อที่ ๑๐ พระพุทธเจ้าไม่มีอยู่จริง ในชุดคำสอน มิจฉาทิฐิ ๑๐ ประการ  เป็นการสร้างบาปทำลายคำสอน ความศรัทธาที่ชาวพุทธมีต่อพระพุทธเจ้า โดยอ้างว่าให้ยึดคำสอนสูงสุด อริยสัจสี่ เพื่อพ้นทุกข์

6. คุณไสย ไสยเวทย์ ไม่มี.  การปฏิเสธคำสอน ในเรื่องคุณไสย์ วิชาอาคม มนต์ มีพลังอำนาจอยู่จริง หรือไม่ เมื่อไม่สามารถหาคำตอบหรือพิสูจน์ได้ ก็ควรพิจารณาจากหลักฐานในพระไตรปิฎก มีที่ใดบ้าง ข้อความพุทธพจน์วินัยบัญญัติ ดังเรื่องต่อไปนี้
๑) พระภิกษุถูกผีสิง อมนุษย์สิง กินเลือดสด เนื้อสด ทรงอนุญาตให้พระภิกษุฉันเลือดและเนื้อสดได้ เพื่อเป็นเภสัช เมื่อฉันแล้วอมนุษย์จะออกไป แสดงให้เห็นว่าบทบัญญัติทางพระวินัย พระพุทธเจ้ายอมรับว่ามีผีหรืออมนุษย์สามารถสิงสู่คนได้ พระภิกษุถูกอมนุษย์สิงได้ และวิธีการรักษา ในครั้งนั้นตามอาการ คือเมื่ออมนุษย์มาสิงเพื่อกินเนื้อสด เลือดสด(ปอบ) ก็อนุญาตให้พระภิกษุกินได้ และไม่ถือว่าต้องอาบัติอะไร เพราะคนที่กิน ไม่ใช่พระ แต่เป็นอมนุษย์ หลักฐานนี้ยอมรับการมีอยู่ การสิงร่างคน ของอมนุษย์ เป็นความรู้ที่ควรต้องมี ไม่ปฏิเสธว่า ผี อมนุษย์ ไม่มี ไสยเวทย์ ไม่มี
เรื่องเนื้อดิบและเลือดสด
"อมนุษย์เคี้ยวกินเนื้อดิบและดื่มเลือดสด เพราะเหตุนั้น ภิกษุจึงชื่อว่าไม่ได้เคี้ยวกินเนื้อดิบและดื่มเลือดสดนั้น. อมนุษย์ ครั้นเคี้ยวกินและดื่มแล้วได้ออกไป เพราะเหตุนั้น พระธรรมสังคาหกาจารย์จึงกล่าวว่า อาพาธเกิดแต่อมนุษย์นั้นของเธอย่อมระงับ."
วินัยปิฎก มหาวรรค ๕/๒๖๔๔๙.
https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=5&siri=8

๒) เรื่องภิกษุโดนยาแฝดดื่มน้ำที่ละลายจากดินติดผาลไถ
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธโดนยาแฝด ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบพระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ดื่มน้ำที่เขาละลายดิน รอยไถติดผาล”
(วินัยปิฎกมหาวรรค. ๕/๒๖๙/๖๑.)

วิธีการรักษาโรคต่างๆ มีปรากฏอยู่ในตุวฏกสุตตนิทเทสขุททกนิกาย มหานิเทศ ได้กล่าวถึงวิธีการบำบัดโรคไว้ 5 อย่างด้วยกัน คือ 
(๑) การบำบัดด้วยการเสกเป่า (๒) การบำบัดด้วย (๓) การผ่าตัด (๔) การบำบัดด้วยยา (๕) การรักษาที่เกี่ยวข้องกับทางภูตผีหรือไสยศาสตร์ และการบำบัดโรคเด็ก (กุมารเวช)

7.ปฏิเสธการสวดมนต์ สาธยายมนต์ พระปริตร ว่าไม่มีคุณค่า ไม่ได้ช่วยอะไร
เป็นการปฏิเสธคำของพระพุทธเจ้า ที่อนุญาตให้พุทธบริษัท ๔ เรียน และสวดสาธยายปริตร ดังข้อความว่า "ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเรียนมนต์เครื่องรักษาชื่ออาฏานาฏิยะจงเล่าเรียนมนต์เครื่องรักษาชื่ออาฏานาฏิยะ จงทรงจำมนต์เครื่องรักษาชื่ออาฏานาฏิยะไว้ ภิกษุทั้งหลาย มนต์เครื่องรักษาชื่ออาฏานาฏิยะนี้ ประกอบด้วยประโยชน์เพื่อคุ้มครอง เพื่อรักษา เพื่อไม่เบียดเบียน เพื่ออยู่สำราญของภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลาย”
(ที.มหา. ๑๑/๒๙๕/๒๖๔.)

8. เรียนไม่ถึง ตีความเอง ไม่ศึกษาเครื่องมือการศึกษาพระไตรปิฎก คือไวยากรณ์ภาษาบาลี คนตื่นธรรมเป็นศิษย์สำนักวัดนาจึงใช้ทิฏฐิของตน อัตโนมัติ ตัดสินธรรมตามชอบใจ ซึ่งเป็นหลักสำคัญที่สำนักนี้ใช้การตีความแบบนี้มาช้านาน
โดยใช้หลักการยึดเอาพระไตรปิฎกเฉพาะบางส่วน ที่เห็นว่าเป็นคำพุทธวจนะแท้ จากพระโอษฐ์ โดยใช้ตรรกะง่ายๆ หาข้อความในพระสูตรที่มีคำว่า "ภิกฺขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย" เป็นต้น
จึงจะเชื่อว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ส่วนคำสอนอื่นที่ไม่มีข้อความตรัสแบบนี้ จะตีความว่าไม่ใช่คำสอน เป็นคำแต่งเติม แต่งใหม่จึงมีส่วนคำสอนที่ถูกสำนักนี้ตัดออกไป เช่น เรื่องสวดปริตร หรือสิกบท 150 ข้อ การตัดสินความเป็นพุทธพจน์แท้ แบบนี้นับเป็นการตีความผิดพลาดอย่างมาก ได้สร้างบาปใหญ่ให้เกิดในสังฆมณฑลมา 20 กว่าปี ศิษย์สำนักนี้เผยแผ่ธรรม ตามการตีความแบบนี้จึงได้เกิด วิวาทะ ปะทะกับชาวพุทธส่วนใหญ่ ถกเถียงกันเรื่อง เดรัจฉานวิชา การทำน้ำมนต์ ปลุกเสก สิกขาบทวินัย ทำให้เกิดความแตกแยก ไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาแก้ปัญหา ยังคงเป็นปัญหาจนทุกวันนี้ คนตื่นธรรมถือเป็นผลผลิตของวัดนาที่ได้สร้างบาปให้แก่พุทธสาสนา ด้วยการศึกษาเอง ตีความเอง ข่มชาวพุทธ

9.ศึกษาธรรมวินัยเอง ไม่มีครูอาจารย์ผู้สอน ทำให้ตีความธรรมวินัยผิดพลาด ขัดแย้งกับคำสอนหลายเรื่อง เป็นมิจฉาทิฐิ  ในการเล่าเรียนธรรมพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติวิธีการศึกษาพระธรรมวินัยไว้ในสัทธิวิหาริกวัตรว่า
“อุปชฺฌาเยน, ภิกฺขเว, สทฺธิวิหาริโก สงฺคเหตพฺโพ อนุคฺคเหตพฺโพ อุทฺเทเสน ปริปุจฺฉาย โอวาเทน อนุสาสนิยา.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุปัชฌาย์ ต้องสงเคราะห์ อนุเคราะห์ สัทธิวิหาริก(พระลูกศิษย์) ด้วยอุทเทส(พระบาลี) ปริปุจฉา(การทวนสอบอรรถกถา) โอวาท และอนุสาสนีย์
วินัยปิฎก มหาวรรค.๔/๖๗/๘๘
https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=4&siri=20
หลักการนี้ย้ำชัดว่า ในการศึกษาคำสอน ต้องทำอยู่ภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญ ที่รอบรู้ในพระธรรมวินัย ไม่สามารถศึกษาเองได้ คนตื่นธรรมหรือสำนักวัดนา ใช้วิธีการอ่านศึกษาธรรมเอง จึงได้เกิดความเห็นผิดขึ้นหลายประการ เรื่องการตีความคำสอนผิดพลาด 

10.ขาดคุณสมบัติของผู้สอนธรรม ๗ ประการ ที่จำเป็นของผู้สอนธรรม ตามพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ในอังคุตรนิกาย สัตตกนิบาตว่า
“ปิโย ครุ ภาวนีโย, วตฺตา จ วจนกฺขโม;
คมฺภีรญฺจ กถํ กตฺตา, โน จฏฺาเน นิโยชโก .
๑. เป็นที่รักเป็นที่พอใจ ๒. เป็นที่เคารพ  ๓. เป็นที่ยกย่อง
๔. เป็นนักพูด  ๕. เป็นผู้อดทนต่อถ้อยคำ ๖. เป็นผู้พูดถ้อยคำลึกซึ้งได้
๗. ไม่ชักนำในอฐานะ
ภิกษุทั้งหลาย มิตรประกอบด้วยองค์ ๗ ประการนี้แล เป็นผู้ควรเสพ ควรคบ
ควรเข้าไปนั่งใกล้ แม้จะถูกขับไล่ก็ตาม
อธิบายความ
1.ปิโย เป็นที่รักเป็นที่พอใจ ในที่นี้หมายถึงมีลักษณะแห่งกัลยาณมิตร ๘ ประการ คือ (๑) มีศรัทธา คือ เชื่อการตรัสรู้ของพระตถาคต เชื่อกรรมและผลของกรรม (๒) มีศีล คือ เป็นที่รัก เป็นที่เคารพ เป็นที่นับถือของสัตว์ทั้งหลาย (๓) มีสุตะ คือ กล่าวถ้อยคำที่ลึกซึ้งที่สัมปยุตด้วยสัจจะและปฏิจจสมุปบาท (๔) มีจาคะ คือปรารถนาน้อย สันโดษ ชอบสงัด ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ (๕) มีความเพียร คือ ปรารภความเพียรในการปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลแก่ตนและเกื้อกูลแก่ผู้อื่น (๖) มีสติ คือ มีสติตั้งมั่น (๗) มีสมาธิ คือ มีจิตตั้งมั่นไม่ฟุ้งซ่าน(๘) มีปัญญา คือ รู้อย่างไม่วิปริต ใช้สติพิจารณาคติแห่งกุศลธรรมและอกุศลธรรม รู้สิ่งที่เกื้อกูลและสิ่งไม่เกื้อกูลแห่งสัตว์ทั้งหลายด้วยปัญญาตามความเป็นจริง มีจิตเป็นหนึ่งในอารมณ์นั้นด้วยสมาธิ เว้นสิ่งที่ไม่เกื้อกูล ประกอบสิ่งที่เกื้อกูลด้วยความเพียร (องฺ.สตฺตก.ฏีกา ๓/๓๗-๔๓/๒๐๓)
2.ครุ เป็นที่เคารพ สูงส่งหนักแน่นดุจหินผา
3.ภาวนีโย เป็นที่ยกย่อง น่าเจริญใจ
4.วัตตา เป็นนักพูด(ผู้สอน)  หมายถึงเป็นผู้ฉลาดในการใช้คำพูด (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๓๗/๑๗๙)
5. วจนักขโม อดทนต่อถ้อยคำ  หมายถึงปฏิบัติตามโอวาทที่ท่านให้แล้ว (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๓๗/๑๗๙)
6. คัมภีรัญ จะ กถัง กัตตา ถ้อยคำลึกซึ้ง หมายถึงเรื่องเกี่ยวกับฌาน วิปัสสนา มรรค ผล และนิพพาน (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๓๗/๑๗๙)
7. โน จัฏฐาเน นิโยชะโก ไม่ชักนำในอฐานะ หมายถึงป้องกันไม่ให้ทำในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล มีคติเป็นทุกข์ แต่ชักชวนให้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลมีคติเป็นสุข (เทียบ องฺ.สตฺตก.ฏีกา ๓/๓๗/๒๐๓)

11. ไม่จำแนกแยกแยะ ให้ชัดเจน เหมาะรวม เช่น การสวดมนต์ เจริญพุทธมนต์ ปริตร การอธิษฐานจิตปลุกเสกพระเครื่องวัตถุมงคล กับเดรัจฉานวิชา เอามายำรวมกัน เป็นของที่ห้าม

12.ไม่ให้บูชานับถือ สิ่งอื่นนอกเหนือจากพระรัตนตรัย หรือคำสอน บูชาเทวดา ยมยักษ์ ต่างๆ
ในรายละเอียดเรื่องนี้ พระพุทธเจ้าแสดงอานิสงส์ของการบูชาเจดีย์ ที่เป็นเหตุแห่งความเจริญไว้ ในมหาปรินิพพานสูตร  ตอนราชอปริหานิยธรรม ทีฆนิกาย มหาวรรค ข้อที่  ๖ ว่า
“อานนท์ เธอได้ยินไหมว่า ‘พวกเจ้าวัชชี สักการะ เคารพ นับถือ บูชา
เจดีย์ในแคว้นวัชชีของชาววัชชี ทั้งในเมืองและนอกเมือง และไม่ละเลยการบูชาอันชอบธรรม ที่เคยให้เคยกระทำต่อเจดีย์เหล่านั้นให้เสื่อมสูญไป”
“อานนท์ พวกเจ้าวัชชีพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลยตราบเท่าที่พวกเจ้าวัชชียังสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเจดีย์ในแคว้นวัชชีของชาววัชชีทั้งในเมืองและนอกเมือง และไม่ละเลยการบูชาอันชอบธรรมที่เคยให้เคยกระทำ ต่อเจดีย์เหล่านั้นให้เสื่อมสูญไป”
(ที.มหา.10/134/78.)
https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=10&siri=3
คำว่า เจดีย์ ที่ชาววัชชีบูชา หมายถึง ต้นไม้ใหญ่ ที่มียักษ์สิงสถิตย์ ยักษ์เป็นเทวดาชั้นจาตุม ยกฺข ภาษาบาลีแปลว่า ผู้ที่เขาบูชา เมื่อบุคคลบูชาต้นไม้ใหญ่ หรือยักษ์ ย่อมมีความเจริญ ยักษ์คือเทวดาย่อมปกปักษ์รักษา สอดคล้องกับคำสอนเรื่อง เทวตานุสสติ ในพระพุทธศาสนา ไม่ขัดแย้งกัน
ย่อมเป็นหลักการยืนยันว่า พระพุทธเจ้ายอมรับว่า มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีพลังอำนาจอำนวยผลให้ผู้คนนับถือบูชา การบูชาเทวดา หรือต้นไม้ใหญ่ ก็มีผลนำความเจริญมาสู่ได้ เป็นหลักการย่อยในหลักการใหญ่ ที่ควรต้องรู้รอบและลึกชัดเจน จึงจะเข้าใจเรื่องนี้

13. ไม่เข้าใจตัวบทพยัญชนะ ความหมายคำ
ติรัจฉานวิชชา การสวดปริตร การใช้อิทธิปาฏิหาริย์ที่อนุญาต
ติรจฺฉานวิชฺชา(อิต.) วิชาขวาง, วิชาขวาง ทางไปนิพพาน, ติรัจฉานวิชา คือความรู้ที่ไร้สาระ ความรู้ที่ไม่เป็นประโยชน์ วิชาที่ไม่ทำตนให้พ้นจากทุกข์ซึ่งพระพุทธเจ้า ทรงห้ามมิให้ภิกษุ - สามเณรศึกษา เช่น วิชาทำเสน่ห์ยาแฝดเป็นต้น.

14. ไม่เข้าใจ แยกไม่ออกระหว่างการสวดปริตร กับการทำเดรัจฉานวิชา
ทำให้ โจมตีพระที่สวดปริตร ทำน้ำมนต์ ปลุกเสก ในขณะที่เรื่องการทำวัตถุมงคล พุทธพานิชย์มีรายละเอียดหลายส่วน ต้องพิจารณาว่าพระสงฆ์รูปใดเข้าไปเกี่ยวข้องในลักษณะใดบ้าง ผิดพระวินัยข้อใด การสร้างพระพุทธรูป การสวดปริตร ปลุกเสก ไม่ได้ผิดหลักคำสอนทั้งในส่วนวินัยบัญญัติ หรือสัมมาอาชีวะแต่อย่างใด ส่วนการทำพานิชย์ที่เกี่ยวข้องเป็นหน้าที่ของฆราวาสดำเนินการด้วยมุ่งประโยชน์ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาสร้างถาวรวัตถุ ก็เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ ไม่ใช่การหลอกลวงตามพระวินัย

15. ไม่มีคารวธรรม คุณธรรม ศึกษาแบบลวกๆ ไม่เคารพในสิกขา การศึกษา ทำให้เข้าใจไม่ถูกต้อง นำสุ่การตีความธรรมวินัยผิด 
การศึกษาธรรมต้องมีความเคารพในสิกขา คือการศึกษาด้วยความเคารพ ข้อใดไม่เข้าใจก็ต้องไปสอบถาม กับอาจารย์ผู้รู้ จนเกิดความเข้าใจ การไม่แสวงหา ไม่ใฝ่หาผู้รู้มาสอบทานความรู้ที่ตนมีจึงเป็นการศึกษาโดยไม่เคารพในพระธรรม ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาในเรื่องความเข้าใจไม่ถูกต้อง และเป็นปัญหาชาวพุทธเมื่อนำไปเผยแผ่
(มี ต่อ 16-18)

อย่าร่วมกันสร้างบาปให้กับพระพุทธศาสนา คำสอนในพระไตรปิฎกมีความลึกซึ้ง ต้องศึกษาอย่างเคารพ ระมัดระวัง อย่างเป็นระบบ มีกระบวนการ และชาวพุทธควรยึดหลักการในพระไตรปิฎก ไม่สนับสนุนกลุ่มคนที่ทำลายคำสอนด้วยการสอนผิด
Cr.พระมหาวัฒนา ปัญญาทีโป ปธ.๙
ศึกษาวิธีการวิเคราะห์และอ้างอิง


.....

วันเสาร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2567

7 ก.ย. 2567 / 2024 จิปาถะจากวัดญาณ

  • พุทธธรรม คือ ทรงไว้ซึ่งความเป็นพุทธะ
    พุทธะ คือ ตื่น รู้ และเบิกบาน
  • ให้ความสำคัญกับความตื่น รู้ ที่เบิกบาน หาใช่แค่
    "อือ ก็รู้แหละว่าวันนึงเราต้องจากกัน" แล้วก็เฮ่อ...
    จงเบิกบาน และยิ้มรับ (ฝึกถ้ายังไม่เป็นอย่างนั้น) 
  • ปัญญาจะทำงานได้ดีในจิตที่ปราโมช
  • นึกถึงความตาย มันเป็นโทสะ 
    ธรรมชาติของโทสะคือต้องปลดปล่อยออก ระบายออก
    แต่ความตายนั้น ก็เข้าใจว่าสักวันต้องเป็นอย่างนั้น กระนั้นมันก็ยังมีโทสะ
  • โทสะที่หาทางระบายออกไม่ได้ เพราะไม่รู้จะไปโทษใคร ด้วยไม่มีใครให้โทษ
    จึงแปลงเป็นโสกะ
  • เมื่อใดที่ถอนหายใจ "เฮ่อ" 1 ที ก็ให้สูดลมหายใจเอาความเบิกบานกลับเข้าไป 1 ทีด้วย
    ไม่งั้นจิตมันจะจำแต่ความไม่พอใจเล็กๆ น้อยๆ สะสมเข้าเป็นความซึมเศร้า
  • การพิจารณาความตายนั้นทำไปม้วนเดียวจบไปเลย คือ
    เราตายได้ทุกแบบ
    เราตายได้ทุกที่
    เราตายได้ทุกเมื่อ
    ดังนั้นจะอยู่ยังไงให้ดีตอนที่ยังไม่ตาย
  • ความเมตตาตนเองก็คือนึกอยากให้ตนเองมีความสุขนั่นแหละ
---------
NbN
  • ขณะนั่งดูสภาวะ ก็รู้สึกว่า กายปัสสัทธิ กับจิตตปัสสัทธิ ไม่ต้องมาด้วยกันก็ได้นี่กว่า
    ความรู้มันรุู้ความมึนและง่วงอยู่เฉยๆ ของมันอยู่อย่างงั้น
  • สังเกตว่าเวลาฟังธรรม ราวกับจิตมันค่อยๆ defragment ตัวเองให้เป็นระเบียบ ช่างเป็นเวลาที่เยียวยา
  • วันนี้หันไปหาพระพุทธเจ้า เพื่อฟังธรรม ท่านบอกว่าอย่าเสียเวลาเลย

วันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2567

15 - 19 ส.ค.2567 / 2024

14 ส.ค.67 มีเหตุการ feedback
ซึ่งก็ตลก เหมือนจะเครียดแบบไม่มีสาเหตุชัดเจนมาตั้งแต่ก่อนหน้า
ซึ่งในตอนนั้น เป็นเครียดเรื่องจะทำยังไงไม่ให้อีกฝ่าย broken
ใน เหตุการณ์ทุกอย่างปกติ หลังเหตุการณ์วันเดียวกัน ทุกอย่างปกติ

15 ส.ค.67
มีการรับรู้เรื่องการ abuse ส่วนหนึ่งจากภาค
และมีการรับรู้ซ้อนเข้าไปเรื่อง อ้าว เธอไม่รู้เหรอว่ามันเป็นแบบนี้
และมีการอธิบายถึง ปกติต่อให้รู้ก็ไม่พูดเพราะมันไม่เกี่ยวกับเรา
หลังจากนั้นอะไรบางอย่างก็กระแทกให้น้ำตาไหล และรู้สึกจะคลื่นไส้จะอ้วกแบบเป็น reflex
ทำนองว่าสังคมที่อยู่นี้สกปรกเหลือเกิน เราจะต้องอยู่ที่นี่หรือ
ดูมันสยดสยองบางอย่างแต่ไม่รู้อะไร

หลังจากนั้นก็อยู่ใน Dark mode มาจน function ไม่ได้
พบมีความ avoidance อะไรสักอย่าง แต่ไม่ชัดเจนว่าอะไร
พอแยกเวทนาออกจากสังขาร ก็เหมือนทำให้มันเบลอๆ ไป

เอาจริงคือมันไม่เข้าใจอะไรเลย ดูเป็นทุกข์ที่งงๆ ที่สุดละ

มีคำนึงที่เข้ามาคือ invisible hand
เหตุการณ์ที่เกิดไม่ได้มีปัจจัยจากเหตหนึ่งเหตุใด
แต่มันคือ momentum ที่ผลักดันกันไปอย่างละนิดๆๆ จนสู่แดนประหาร
มันดูกลัวกับ position หรือ situation ที่อยู่
และถ้ายังอยู่ต่อไป มันจะเข้าสู่วงจรนี้แน่ๆ ไม่ว่าจะป้องกันยังไงก็ตาม

ในความรู้สึกคือ คุณไม่มีทางต่อต้าน momentum นั้นได้
มัน echo ผนวกกับเสียงเตือนตั้งแต่เด็กที่ว่า ชาตินี้อย่ายุ่งกับความเป็นที่ 1 เด็ดขาด
แต่ไม่เคยรู้ว่าทำไม แต่เดิมเข้าใจเอาโดยตรรกะว่า
เมื่ออยู่ใน position แล้ว ต่อให้เรื่องที่ไม่อยากทำ ก็จำเป็นต้องทำ
มันมาในนามของ "หน้าที่ที่พึงทำ"

ส่วนหนึ่งก็มีความคิดเข้าข้างตัวเองว่า "มันจัดเหตุได้"
"ก็เห็นเหตุอยู่ทุกอย่าง เราไม่จำเป็นต้องเจออย่างนั้น" 
"Be small and do your jobs, that thing couldn't reach you"

แต่มันอาจเป็นความช็อคที่ว่า ที่หลบนั้นไม่มี
และมันมาเยือนเธอแล้วแม้ว่าจะป้องกันดีขนาดไหนก็ตาม

ถูกความรับรู้นี้ strike จน down

การแสดงออกเหมือนกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง
หลบสิ่งที่ไม่อยากเจอ 
รู้สึกเหมือนไม่มีที่พึ่ง
เหมือนปลาถูกทุบหัว ไม่มีแรงชีวิต

ช่วงนี้แม้จะรับรู้ได้ว่ารอบข้างดู nice มาก
แต่กลับไม่อยากเจอ และไม่อยากยุ่ง
เป็นความรู้สึกขัดแย้ง ภาพที่เห็นเป็นของปลอม

ใจที่ไม่มีกำลังเลยแยกแยะอะไรได้ไม่ชัดเจน
ถ้าปล่อยให้ลืมไปงงๆ แบบนี้ สักวันจะซ้ำรอย

วันเสาร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

เวลาที่จิตจะล้างกิเลส

เวลาที่จิตมันจะล้างกิเลส มันจะมีกระบวนการของมัน
ถ้าจิตของเราทรงสมาธิจริงๆ
เราจะเห็นเป็น ช็อต..ช็อต..ช็อต..ช็อตนะ

อย่างสมมติเราเปียกฝนนะ แล้วเราก็กังวลใจ
ว่าเอ๊ เดี๋ยวต้องเป็นหวัดแน่เลย

พอกังวลใจเนี่ย จิตที่เคยฝึกเจริญสติมาชำนาญ
พอเกิดความกังวลขึ้น สติระลึกรู้ทันทีเลย
ความกังวลดับปั๊บลงไป
พอความกังวลดับปั๊บลง ขณะนั้นเนี่ย ศีล สมาธิ ปัญญาของเราแก่รอบพอแล้ว

จิตมันจะวางการรับรู้อารมณ์ภายนอก
มันจะทวนกระแสเข้ามาภายใน
จิตมันจะเข้าฌาน
เข้าอัปปนาสมาธิ เข้าเอง 

ชาตินี้ไม่เคยเข้าฌานก็ไม่เป็นไร
เจริญสติไปเถอะ ถึงจุดที่จะแตกหัก จิตเข้าฌานทุกคน
จะเข้าเอง อัตโนมัติ

พอจิตรวมเข้ามาแล้วเนี่ย
จิตผู้รู้จะตั้งมั่นอยู่นะ แล้วมันก็จะเห็นสภาวะธรรมเกิด-ดับ 2-3 ขณะ
บางคนเกิด 2 ครั้ง บางคนเกิด 3 ครั้ง

ถ้าพวกที่ปัญญากล้านี่เกิด 2 ที 
ไหววับดับ วับดับ 
ถามว่ารู้ไหมว่าอะไรเกิดอะไรดับ
(ตอบว่า) ไม่รู้ว่าอะไรเกิดอะไรดับ

เห็นแค่สิ่งบางสิ่งเกิด และสิ่งนั้นก็ดับ
เหมือนที่พระโกณฑัญญะท่านเห็น
ยํ กิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธ ธมฺมนฺติ
สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้น สิ่งนั้นทั้งหมดดับเป็นธรรมดา

ทำไมใช้คำว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่ง?
Something เพราะไม่รู้ว่าคืออะไร
เพราะไม่ได้ไปหมายรู้ ไม่ได้ไปคิดนึกปรุงแต่งว่าสภาวะนี้คืออะไร

มันจะผุดขึ้นมาแล้วก็ดับ ผุดขึ้นมาแล้วก็ดับ 2-3 ครั้ง
แต่ละคนแตกต่างกัน
ถ้าเป็นพวกปัญญินทรีย์กล้า จะเห็น 2 ที
ถ้าเรียนยังไม่เก่ง 3 ที ถึงจะเข้าใจ

พอเห็นสภาวะเกิดดับ 3 หน จิตจะวางการรู้สภาวะ
แล้วทวนกระแสเข้ามาหาธาตุรู้
เข้ามาที่ผู้รู้ ทวนเข้ามาที่จิตผู้รู้

ตรงที่ทวนนี้ชั่วขณะเดียว
พอเข้ามาถึงตรงจิตผู้รู้แล้ว 
มันจะแหวกตัวนี้ออก

อาสวะจะถูกอริยมรรคแหวกออก
ชั่วขณะจิตเดียว แล้วจิตจะสัมผัสพระนิพพาน 2-3 ขณะ
แล้วแต่แต่ละคนไม่เท่ากัน

ถ้าพวกปัญญินทรียแก่กล้าจะเห็นเป็น 3 ขณะ
ว่าง -- สว่าง -- เบิกบาน
ถ้าไม่แก่กล้า จะเห็น ว่าง -- แล้วก็สว่าง เฉยๆ

แต่กิเลสขาดไปละ
แจกแจงสภาวะได้ไม่ชัด ไม่ละเอียดเฉยๆ
เหมือนคนตกต้นไม้แล้วนับไม่ทันว่าผ่านกิ่งไม้มากี่กิ่ง
หล่นตุ้บถึงพื้นเลย
แต่พวกที่สติปัญญาแรงนี่
(รู้เลย) ตกลงมาผ่านกิ่งไม้มากี่กิ่ง

ไม่จำเป็นนะ จิตมันเป็นไปเอง
กี่กิ่งก็ช่างมันเถอะ
ให้มันพ้นก็แล้วกัน

พอมันแหวกออกมันก็ว่าง สว่างนะ
ก็รู้เลยว่า "โอ้ ไม่มีตัวเรานะ" 
ไม่มีตัวเรา ไม่มีของเรา

ก็ภาวนาไปเรื่อยๆ นะ 
ปัญญามันก็จะแก่รอบมากขึ้นๆ

วิธีภาวนาถัดจากนี้ก็ทำเหมือนเดิม
มีสติรู้กายรู้ใจ ตามความเป็นจริงด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง

ถ้าเหนื่อยหมดแรง กลับมาทำความสงบ
มีกำลังแล้วขึ้นไปเดินปัญญาต่อ
แบบเนี้ยทำไปเรื่อยๆ
แล้วความรู้ถูก ความเข้าใจถูก็จะมากขึ้นๆ

ทีแรกหลงยาวแล้วถึงจะรู้
ต่อไปเนี่ย พอผ่านกระบวนการครั้งที่ 2 ไปแล้วเนี่ย
หลงปั๊บรู้ปั๊บๆ เลย เร็ว
เพราะฉะนั้นกิเลสมันจะเบาบาง
เพราะอะไร? เพราะสติมันเร็ว

สติเกิดปุ๊บกิเลสดับปั๊บเลย
มันจะเร็วขึ้นๆๆๆๆ
แล้วสุดท้าย ปัญญามันจะเรียนรู้บีบวง
จากความปรุงแต่งทั้งหลาย มันบีบวงเข้ามาที่ร่างกาย

แล้วมันก็รู้แจ้งแทงตลอดนะ
ร่างกายนี้คือตัวทุกข์ !
ไม่ใช่ทุกข์บ้างสุขบ้างอีกต่อไปแล้ว

พอรู้ว่าร่างกายเป็นตัวทุกข์
มันก็ปล่อยวางกาย
ถ้าปล่อยวางกายได้
เขาเรียกพระอนาคามี

พระอนาคามีนี่จิตไม่ติดในกามแล้ว
ไม่ติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสแล้ว
ทำไมไม่ติด?
เพราะเห็นแล้วมันทุกข์

เมื่อเห็นตาเป็นทุกข์ รูป(ก็)ไม่มีความหมาย
เมื่อเห็นหูเป็นทุกข์ เสียงก็ไม่มีความหมายแล้ว
ไอ้ตัวที่สัมผัสนี่มันทุกข์ซะแล้วนะ
ไอ้ของข้างนอก ไม่มีความหมายอะไร

พอจิตมันไม่ได้ยินดีใน ตา หู จมูก ลิ้น กาย 
มันก็ไม่ได้ยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
แล้วมันก็ไม่ยินร้ายในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
กามและปฏิฆะ ขาดตรงนี้ ! 
ตรงที่มันรู้แจ้งเห็นจริงว่า กายนี้คือก้อนทุกข์แท้ๆ เลย

แล้วการภาวนาถัดจากนั้นมันจะบีบวงเข้ามาที่จิตล้วนๆ เลย
มาแตกหักกันตรงที่จิตนี้แหละ
เห็นจิตเป็นตัวทุกข์ล้วนๆ
จะเห็นได้ 3 แบบนะ
บางท่านท่านเห็นอนิจจัง 
ครูบาอาจารย์บางองค์ท่านเห็นจิตนี้เป็นตัวทุกขัง
บางท่านท่านเห็นเป็นอนัตตา
49.21-55.11

...

ถ้าเราเห็นร่างกายที่หายใจออกไม่ใช่เรา
ร่างกายที่หายใจเข้าไม่ใช่เรา
ร่างกายทั้งหมดจะไม่ใช่เรา

ถ้าเราเห็นว่าร่างกายที่ยืน เดิน นั่ง นอน ไม่ใช่เรา
ร่างกายทั้งหมดก็ไม่ใช่เรา

...

ธัมมานุปัสสนาจะรู้ธรรม
อะไรเป็นธรรม?
สิ่งใดเกิดจากเหตุ ถ้าเหตุดับธรรมนั้นก็ดับ

ในธัมมานุปัสสนานั้นจะมีทั้งสิ่งที่ชั่วคือนิวรณ์
เราก็เรียนจนเห็นเหตุของนิวรณ์
ถ้าเหตุของนิวรณ์ดับ นิวรณ์ก็ดับ
ไม่มีใครดับนิวรณ์ แต่เหตุของมันดับ ตัวมันดับ

เราเรียนเรื่องโพชฌงค์ อันนี้เป็นตัวกุศล
สุ่มตัวอย่างฝ่ายกุศลคือตัวโพชฌงค์มาเรียน

หรือเรื่อง ขันธ์ ธาตุ อายตนะ เป็นการสุ่มตัวอย่างมาเรียน
นี้เรียกว่า ธรรมในธรรม
เรียนเพื่อให้เห็น รู้เหตุ รู้ผล

แต่ถ้าเรียนกายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา
ก็เรียนให้เห็นมันเป็นไตรลักษณ์เฉยๆ 
พอมันแก่รอบขึ้นมาจิตมันจะก้าวขึ้นมาสู่ธัมมานุปัสสนาทุกคน

แล้วสุดท้ายมันจะแตกหักตรงที่สัจจบรรพทุกคน
พระอรหันต์ทุกคนผ่านสัจจบรรพ
ฉะนั้นอยู่ในสติปัฏฐานนั่นเอง

หลักสติปัฏฐานข้อที่ 1 
มีหลักให้จิตอยู่ มีบ้านให้จิตอยู่ เมื่อจิตหนีออกไปจากบ้านจะได้รู้ทัน

ข้อที่ 2 มีความเพียรแผดเผากิเลส
ไม่ได้ภาวนาเพื่อสนองกิเลส
ไม่ได้ภาวนาเพื่ออยากเป็นพระอรหันต์
ภาวนาเพราะอยากเป็นพระอรหันต์เรียกว่าสนองกิเลส ไม่ได้แผดเผากิเลสแล้ว

ภาวนาเพราะอยากรู้ อยากเห็น อยากเป็น อยากได้ อยากดี ไม่ใช่ !
ภาวนาเพื่อจะลดละกิเลส นั่นเรียก อาตาปี

วิธีที่จะลดละกิเลสได้ คือมีสัมปชาโน
มีความรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ ตรงที่รู้เนื้อรู้ตัวนี้ จิตต้องตั้งมั่นนะ
ถ้าจิตไม่ตั่งมั่นมันก็ลืมเนื้อลืมตัว

ทีนี้พอรู้เนื้อรู้ตัวแล้ว
พอสติระลึกรู้รูปธรรม นามธรรมใดๆ 
ก็จะเห็นไตรลักษณ์

ระลึกรู้กาย ก็เห็นไตรลักษณ์
ระลึกรู้เวทนา ก็เห็นไตรลักษณ์
ระลึกรู้จิต ระลึกรู้ธรรม ก็เห็นไตรลักษณ์ทั้งหมด

พอระลึก..ระลึก..ระลึก..ไป
จิตมันรู้นะ อย่างมันเห็นกุศลเกิด
หรือบางทีก็อกุศลเกิด

พอกุศลเกิดนะ เราพอใจ
อกุศลเกิด เราไม่พอใจ
หรือพอความสุขเกิด เราพอใจ
ความทุกข์เกิด เราไม่พอใจ

เนี่ย มันจะมี พอใจ - ไม่พอใจอยู่
ให้เรารู้ทันลงไปอีกชั้นหนึ่ง

ทีแรกเรารู้สภาวะที่กำลังมีกำลังเป็น
แล้วถ้าจิตมันยินดีพอใจ หรือยินร้ายไม่พอใจ ให้รู้ตรงนี้ด้วย

ฉะนั้นในสติปัฏฐานบอกว่า
วิเนยยะ อภิชฌา โทมนัสสัง ถอนความยินดียินร้ายในโลกเสีย
ฉะนั้น เวลาภาวนา จิตยินดีให้รู้ทัน จิตยินร้ายให้รู้ทัน แล้วมันจะเป็นกลาง

อันนี้ยังเป็นกลางด้วยสตินะ
แล้วต่อไปพอปัญญาเกิดมันเห็น
สุขกับทุกข์เท่ากัน เกิดแล้วดับเหมือนกัน
ดีกับชั่วก็เท่ากัน เกิดแล้วดับเหมือนกัน
นี่จิตจะเข้าสู่ความเป็นกลางด้วยปัญญา

ตรงที่จิตเป็นกลางด้วยปัญญาตรงนี้เรียกว่า
จิตเข้ามาถึงสังขารุเปกขาญาณ
ญาณคือปัญญา ปัญญาจนกระทั่งเป็นอุเบกขาต่อความปรุงแต่ง ทั้งหลายทั้งปวง

สังขารุเปกขาญาณนี้เป็นประตูของการบรรลุอริยมรรค อริยผล
บางคนปรารถนาพุทธภุมิ จิตมาหยุดอยู่ตรงนี้ ไม่ไปไหนต่อ
คนส่วนใหญ่มาถึงตรงนี้ไม่นานก็เสื่อม
ทำขึ้นไปอีกจนกระทั่งเป็นกลาง ก็ยังเสื่อมได้อีกนะ ขึ้นๆ ลงๆ 

จนกระทั่งมันแข็งแรงพอ
ศีล สมาธิ ปัญญาแก่กล้าพอ
มันจะก้าวข้ามจากจุดที่สังขารุเปกขาญาณ เกิดอริยมรรค-อริยผลขึ้น

เส้นทางนี้มีจริง
คำสอนของพระพุทธเจ้ามีจริง
ดังนั้นพระพุทธเจ้ามีจริง
อยู่ที่พวกเราเอาจริงไหม

****

การพยากรณ์ เป็นเอกสิทธิ์ของพระพุทธเจ้า
และผู้ภาวนาที่จะรู้ได้ด้วยตนเอง

***

ชาติ จิตไปตะครุบเขาตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ขึ้นมา

***

จิตยิ้ม
ยิ้มเยาะกิเลส เจ้าครอบงำเราไม่ได้อีกแล้ว

***

จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง จึงปล่อยวางจิต

คือเห็นจิตโดยความเป็นไตรลักษณ์

เมื่อปล่อยวางจิตก็ไม่มีอะไรให้ยึดถืออีกต่อไป


จิตนั้นแหละคือตัวทุกข์
ทุกข์ตัวสุดท้ายที่จะเห็นอย่างแจ่มแจ้งคือจิต


ทำลายผู้รู้ คือไม่ยึดถือผู้รู้

วันพุธที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

17 ก.ค.2567 /2024

อีก landmark

เฝ้าดูมา 8 ปี ด้วยความสบายใจ

วันนี้แสดงตัวให้เห็นแล้ว เจตนา ปานาติบาต

แม้เป็นในฝัน แต่เจตนาไปจนถึงกายกรรม ชัดเจน

ฝันเสร็จ มีความไม่เอา ในช่วงแรก หมายถึง เหมือนเป็นเรื่องคนอื่นทำ

แต่พอทบทวน มีการคว้าเป็นของเรามากขึ้นเรื่อยๆ และติดเป็นมลทินของจิต

ไม่เยอะ แต่ติด

มีความพยายามวนซ้ำว่า เอ๊ะ หรือว่า มันมีได้เกิดได้ แต่แค่ไม่เอา

มันเป็นเพราะบังเอิญไปดูภาพยุงดูดเลือดแล้วถูกตบ จนเก็บไปฝัน

และก็มีฝ่ายค้านบอกว่า นี่มันเริ่มเพี้ยน เห็นหรือเปล่า เชื่อตัวมากกว่าเชื่อพระพุทธเจ้า

"อบายยังเป็นที่หมายที่เป็นไปได้"

ขอบคุณที่ชี้แนะ

วันศุกร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2567

ว่าด้วยชุมนุมเทวดา

คำแนะนำเรื่องชุมนุมเทวดา (๑)

-----------------------------

คำว่า “ชุมนุมเทวดา” หมายถึงคำกล่าวเชิญเทวดาให้มาชุมนุมกัน ข้อความที่กล่าวเป็นภาษาบาลี

การกล่าวชุมนุมเทวดาที่เห็นทำกันในปัจจุบันนี้มี ๒ โอกาส คือ เมื่อพระสงฆ์จะเจริญพระพุทธมนต์ กับเมื่อเจ้าพิธีทำพิธีบวงสรวงบูชา

การกล่าวชุมนุมเทวดาในโอกาสที่พระสงฆ์จะเจริญพระพุทธมนต์เป็นกิจที่ทำกันเป็นสามัญ ทั้งในการที่พระสงฆ์ทำวัตรสวดมนต์ประจำวัน ทั้งในโอกาสที่ญาติโยมนิมนต์ไปเจริญพระพุทธมนต์ในบุญพิธีต่าง ๆ

ในการเจริญพระพุทธมนต์ในบุญพิธีต่าง ๆ ลำดับการปฏิบัติคือ (๑) เจ้าภาพจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย (๒) พิธีกรนำบูชาพระ (๓) อาราธนาศีล (๔) สมาทานศีล (๕) อาราธนาพระปริตร ลำดับนั้นพระภิกษุรูปหนึ่ง (ตามหลักนิยมคือพระภิกษุที่นั่งเป็นลำดับที่ ๓) จะกล่าวบทชุมนุมเทวดา ภาษาปากเรียกว่า “ขัดสัคเค” เนื่องจากข้อความบทชุมนุมเทวดาขึ้นต้นว่า “สคฺเค กาเม จ รูเป” จบแล้วพระสงฆ์ก็เจริญพระพุทธมนต์

คนทั่วไปเข้าใจแต่เพียงว่า ชุมนุมเทวดาคือบทที่เชิญเทวดาให้มาชุมนุมกัน แต่ที่ไม่รู้ไม่เข้าใจก็คือ ชุมนุมเทวดาคือบทที่เชิญเทวดาให้มาฟังธรรม

ขอให้ดูคำลงท้ายที่ว่าซ้ำกัน ๓ ครั้ง คือ “ธัมมัสสะวะนะกาโล อะยัมภะทันตา” แปลว่า “ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย กาลนี้เป็นกาลควรฟังธรรม” เป็นการยืนยันว่า บทชุมนุมเทวดานี้เป็นบทที่เชิญเทวดามาฟังธรรม 

ข้อความตรงที่อื่นก็ยืนยันอยู่ คือ -

.........................................................
สัทธัมมัง มุนิราชัสสะ
สุณันตุ สัคคะโมกขะทัง.
จงฟังซึ่งพระสัทธรรมอันให้สวรรค์และนิพพาน 
ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นเจ้าแห่งมุนี

.......................

ยัง มุนิวะระวะจะนัง สาธะโว เม สุณันตุ. 
คำใดเป็นคำของพระมุนีผู้ประเสริฐ, 
ท่านสัตบุรุษทั้งหลายจงสดับคำนั้นแห่งข้าพเจ้า
.........................................................

เป็นอันสรุปได้ว่า บทชุมนุมเทวดาใช้เฉพาะงานที่มีการสวดมนต์เท่านั้น เพราะเป็นการเชิญเทวดามาฟังธรรม คือมาฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า

และบทชุมนุมเทวดานี่เองที่ยืนยันว่า สวดมนต์คือสาธยายพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า 

ฟังพระสวดมนต์ ก็คือฟังพระสาธยายพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
เราสวดเอง ก็คือเราสาธยายพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า 

พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าคืออะไร เป็นเรื่องที่ควรศึกษาหาความเข้าใจต่อไปอีก

เวลาฟังพระสวดมนต์ หรือเวลาที่เราสวดมนต์ ขอให้ตั้งอารมณ์ให้ถูกว่าเรากำลังทำอะไร อย่ามองเห็นเป็นเพียงพิธีกรรมเพื่อความขลังความศักดิ์สิทธิ์จนไม่เห็นสาระในสิ่งที่กำลังทำ

.......................

ทีนี้ก็มาถึงบทชุมนุมเทวดา

ตัวบทเชิญเทวดามาชุมนุมจริง ๆ เริ่มที่คำว่า “สคฺเค กาเม จ รูเป” แต่ก่อนจะถึงตัวบท จะมีคำเริ่ม หรือคำปรารภ หรือคำกล่าวเกริ่นนำขึ้นมาก่อน

พึงทราบว่า “คำเริ่ม คำปรารภ คำกล่าวเกริ่นนำ” นี้ เป็นคำที่ผมเรียกเอง โดยทั่วไปแล้วเข้าใจกันว่าเป็นส่วนหนึ่งของบทชุมนุมเทวดาหรือเป็นตัวบทชุมนุมเทวดานั่นเลย ไม่ได้แยกออกมาอย่างที่ผมเรียก แต่ผมเห็นว่า คำขึ้นต้นนี้ไม่ใช่เป็นคำเชิญเทวดา แต่เป็นคำที่ผู้เชิญปรารภนำขึ้นมา จะว่าพูดบอกกันในหมู่พวกกันเองก็ได้ จึงยกออกมาให้เห็นเป็นต่างหาก

มีธรรมเนียมว่า ถ้าเป็นพระราชพิธีและสวดมนต์ในพระราชฐาน หรือเป็นงานพิธีของทางราชการ คำกล่าวเกริ่นนำจะมีข้อความดังนี้ -

.........................................................
สะรัชชัง สะเสนัง สะพันธุง นะรินทัง
ปะริตตานุภาโว สะทา รักขะตูติ.

(ขออานุภาพแห่งพระปริตรจงรักษาพระราชา
พร้อมทั้งราชสมบัติ ไพร่ฟ้าเสนามาตย์ พระราชวงศ์จงทุกเมื่อ เทอญ)
.........................................................

งานพิธีทั่วไป ถ้าเป็นพระสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย คำกล่าวเกริ่นนำนิยมว่าดังนี้ -

.........................................................
ผะริต๎วานะ เมตตัง สะเมตตา ภะทันตา
อะวิกขิตตะจิตตา ปะริตตัง ภะณันตุ.

(ท่านผู้เจริญทั้งหลาย จงมีเมตตาแผ่เมตตาจิตไปเถิด 
จงสวดพระปริตร อย่าได้มีจิตฟุ้งซ่านเลย)
.........................................................

งานพิธีทั่วไป ถ้าเป็นพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุต คำกล่าวเกริ่นนำนิยมว่าดังนี้ -

.........................................................
สะมันตา จักกะวาเฬสุ
อัต๎ราคัจฉันตุ เทวะตา
สัทธัมมัง มุนิราชัสสะ
สุณันตุ สัคคะโมกขะทัง.

(ขอเชิญเทพยดาในรอบจักรวาลทั้งหลาย
จงมาประชุมพร้อมกันในสถานที่นี้ 
จงฟังซึ่งพระสัทธรรมอันให้สวรรค์และนิพพาน 
ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นเจ้าแห่งมุนี)
.........................................................
(เฉพาะบทนี้ มีใจความที่ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำเชิญ)
.........................................................

แล้วจึงต่อด้วยข้อความตัวบทชุมนุมเทวดาดังต่อไปนี้ -

.........................................................
สัคเค กาเม จะ รูเป
คิริสิขะระตะเฏ จันตะลิกเข วิมาเน,

(ขอเชิญเหล่าเทพเจ้าซึ่งสถิตอยู่ในสวรรค์ชั้นกามภพก็ดี รูปภพก็ดี, อยู่ในวิมานเหนือยอดเขาแลเขาขาดก็ดี ในอากาศก็ดี)

ทีเป รัฏเฐ จะ คาเม
ตะรุวะนะคะหะเน เคหะวัตถุมหิ เขตเต,

(ในเกาะก็ดี ในแว่นแคว้นก็ดี, ในบ้านก็ดี ในต้นพฤกษาและป่าชัฏก็ดี, ในเรือนก็ดี ในที่ไร่นาก็ดี)

ภุมมา จายันตุ เทวา 
ชะละถะละวิสะเม ยักขะคันธัพพะนาคา,

(ภุมเทวดาก็ดี, ยักษ์ คนธรรพ์ และนาค ซึ่งสถิตอยู่ในน้ำแลบนบกแลอันที่ไม่เรียบราบก็ดี)

ติฏฐันตา สันติเก ยัง
มุนิวะระวะจะนัง สาธะโว เม สุณันตุ. 

(ซึ่งอยู่ในที่ใกล้เคียง จงมาประชุมพร้อมเพรียงกันในสถานที่นี้,
คำใดเป็นคำของพระมุนีผู้ประเสริฐ, 
ท่านสัตบุรุษทั้งหลายจงสดับคำนั้นแห่งข้าพเจ้า)

ธัมมัสสะวะนะกาโล อะยัมภะทันตา
(ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย กาลนี้เป็นกาลควรฟังธรรม)

ธัมมัสสะวะนะกาโล อะยัมภะทันตา
(ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย กาลนี้เป็นกาลควรฟังธรรม)

ธัมมัสสะวะนะกาโล อะยัมภะทันตา.
(ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย กาลนี้เป็นกาลควรฟังธรรม.)
.........................................................

ที่ว่ามานี้เป็นการกล่าวบทชุมนุมเทวดาเมื่อพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ เป็นพิธีที่เราคุ้นกัน และไม่มีปัญหา คือ เชิญเทวดาให้มาชุมนุมกันเพื่อฟังธรรม ก็มีธรรมให้เทวดาฟัง นั่นคือพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ พูดกันตรง ๆ ก็คือ เชิญเทวดามาฟังพระสวดมนต์นั่นเอง

เจริญพระพุทธมนต์เป็นการแสดงธรรมในรูปแบบหนึ่ง เป็นอันว่าเทวดาได้ฟังธรรมสมกับเจตนาที่เชิญมา

แต่การกล่าวบทชุมนุมเทวดาที่เป็นปัญหา คือเมื่อเจ้าพิธีทำพิธีบวงสรวงบูชาในงานต่าง ๆ

ในพิธีการบางอย่าง เช่นพิธีบวงสรวงสังเวย พิธีไหว้ครูเป็นต้น ซึ่งไม่มีการสวดมนต์ และไม่มีการแสดงธรรมใด ๆ พิธีกรหรือเจ้าพิธีก็นิยมกล่าวคำชุมนุมเทวดาด้วยเสมอ

ปัญหาน่าคิดก็คือ ในเมื่องานนั้นไม่มีการสวดมนต์ ไม่มีการแสดงธรรม คำชุมนุมเทวดาซึ่งระบุชัดว่าเชิญเทวดามาฟังธรรม ไม่ได้เชิญมาทำอย่างอื่น จะเป็นคำที่ถูกต้องหรือ? 

อุปมาเหมือนเราเชิญแขก ในคำเชิญระบุชัดว่าขอเชิญมารับประทานอาหาร แต่ไม่มีอาหารใด ๆ ให้รับประทาน จะไม่เป็นการโกหกตลกเล่นไปหรือ?

ตอนหน้าค่อยว่ากันต่อครับ

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา
๗ มิถุนายน ๒๕๖๗
๑๔:๓๐