วันพุธที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2559

สรุปผลประกอบการปี 59

เจอ "เรา" เสียบจังๆ เข้าไปทีนี่เป๋ทั้งระบบ ถ้าจับสัญญาณทิฏฐุปาทานแล้วปัญญาใช้วิชาหายตัวไม่ทัน ให้เผ่นเท่าน้านนน~~~~ ปวดขี้ปวดเยี่ยวไส้ติ่งแตกอะไรก็ได้ ใส่เกียร์หมาโลด ไม่งั้นถูกอุ้มไปฆ่ากลางป่าให้ได้อายพระอาจารย์ จะเป็นที่ทุเรศแก่สายตา ว่าทำเข้าไปได้ยังง้ายยย

ที่น่ากลัวไม่ใช่โทสะปัจจุบัน แต่เป็นปฏิฆานุสัย

สรุปผลประกอบการปี 59 ปีนี้มาตายที่ทิฏฐุปาทาน 2 รอบ 
รอบแรกโคตรอนาถ
รอบสองแม้ระยะเวลาจะสั้นกว่า เปลี่ยนเหตุได้ดีกว่า ก็ยังเรียกว่า "น่าทุเรศ" อยู่ดี

ผลของรอบแรก ผ่อนแรงยึดในตัวบุคคลสำคัญคนแรกลงประมาณครึ่ง
ผลของรอบสอง เนื่องจากจบไม่สวย ทั้งๆ ที่จัดเหตุสุดๆ ยังเสือกโดนเสียบ ผลคือถูกอุ้มไปฆ่ากลางป่าชัฏได้แผลถูกแทงไปร้อยกว่าที แลกมากับญาณแห่งความ "เข็ดหลาบ" ในระดับที่ยังผันกลับได้ หยั่งว่าเหลืออีกประมาณ 30% พร้อมกับรู้ชัดว่า สติยังไม่พอจะแก้ไข มันลืมมุมมองอันเป็นปัญญาไปจนได้

ระดับความเร็วและแรงของโทสะที่เกิด 

  • สติใจช่วยตัดแต่แทบไม่ผ่อนกำลัง การเกิดซ้ำเกิดขึ้นแบบแทบจะทันทีจนรู้สึกไม่ได้พัก
  • สติกาย ไม่ใช่ทุกที่จะขยับตัวได้ และด้วยความแรงของเวทนาที่เกิดจึงมีตัณหาที่จะข่มผนวกเข้าไปด้วย ผลของสติจึงได้ไม่เต็มที่
  • การข่ม กดกำลังพอไปได้ โงหัวได้ครู่นึง พร้อมกันกับฝังอนุสัยลงเต็มๆ
  • ปัญญา ในครึ่งแรกของการถูกเชือด ทิฏฐิก็ยังพอป้องกันอยู่ได้ ด้วยใจวางไว้ว่า "มีเหตุก็เกิด" แต่พอผ่านไปสักพัก ด้วยความแรงและความถี่ที่แทบไม่ลดลง และเลือกจะไม่ข่มเต็มกำลัง เจอผัสสะสะกิดอีกนี๊ดดดดแบบได้จังหวะ ปัญญาก็ดับทันที ตายสยองอีกรอบ 5555
โอ๊ย อายยยย~~~~

ชัดเจนแล้วว่าต้องฝึกมุมไหน ไม่ดับสังขาร ไม่รอดจริงๆ
แม้จะเคยได้ยินได้ฟัง แต่ถึงเวลางัดออกมาใช้ไม่ได้ 
นึกไม่ออกบ้าง (สติไม่มา)
แกะไม่ออกบ้าง (ปัญญาไม่แทง)
เจอผัสสะบังหน้า (หลงเรื่อง)
เจออวิชชาบังตา (หลงเป็นตัวเป็นตน เป็นฝ่ายนี้ฝ่ายโน้นจริงจัง)

ปรุงเข้าไปได้ ~~~ น่าอายแต๊ๆ

วันพุธที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ก่อนไปวัด...อีกแระ

ผลของการโดนแทรกวันนี้...สอบตก T_T
อย่างน้อยก็เห็นผลของการเปลี่ยนผัสสะในภายนอก
พลังโทสะเปลี่ยนอย่างเห็นชัด

สำหรับภายในคราวหน้าให้นิ้วเท้าทำงาน
คราวหน้าหาทางเคลื่อนไหว

มันเสียบตอนอิริยาบถย่อยแล้วผัสสะกระทบเสียง

วันศุกร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2559

นิโรธ กับมรรคต่างกันอย่างไร (ตอบวัดความเข้าใจ 9 ธ.ค.59)

ถ้าเอาคำตอบสั้นๆ
นิโรธ คือ ภาวะที่ไม่มีราคะ โทสะ โมหะ
ส่วนมรรค คือ วิธีที่จะฝึกสังเกตให้แจ้งภาวะอย่างนั้น

อริยสัจสี่ไม่ใช่สิ่งที่จะกล่าวแยกขาดออกจากกัน เพราะเป็นองค์รวมเดียวกัน ถ้ากล่าวแยกจากกัน โอกาสความเลื่อนลอย ออกทะเล ออกปากอ่าวมีสูง และพูดไปจะไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพระศาสดาที่ท่านแสดงเรื่องนี้ “เพื่อความพ้นทุกข์” แต่การรู้อย่างครึ่งๆ กลางๆ อาจจะกลับเป็น “การสร้างทุกข์” ไป

คำถามว่า นิโรธ กับมรรคต่างกันอย่างไร

ถ้าไม่รู้จักหน้าตาของทุกข์ ยากจะบอกได้ว่าแล้วสภาวะไม่มีทุกข์ (นิโรธ) เป็นอย่างไร (การจะรู้ได้ชัดๆ ต้องอาศัยภาวะการสังเกตเปรียบเทียบ จนเห็นความแตกต่างชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ)

ถ้าไม่ชัดเจนว่าทุกข์เกิดยังไง (สมุทัย) ยากจะแก้ทางว่า แล้วถ้าจะไม่ให้เกิด ต้อง reverse เหตุอย่างไร

ในสี่ข้อ สิ่งที่ยากจริงๆ คือการรู้จักทุกข์ให้ชัดแจ้ง จริงๆ ถ้ารู้ทุกข์ได้ อริยสัจทั้งสี่จะดำเนินคล้อยไปพร้อมกันหมด

คำว่ารู้ชัดแจ้ง ตรงนี้ต้องไปอ่านดูด้วยว่าพระพุทธเจ้าตรัสนัยยะของทุกข์ไว้แค่ไหนแล้วลองน้อมพิจารณาตาม โดยลองวาง ไม่เอาความเป็นตนเองเข้าไปเกี่ยวข้อง

ท่านว่า ทุกข์ คือ “ความปรุงแต่ง” ลองกูเกิลความหมายคำๆ นี้ดู

สิ่งที่เรียกว่า “ความสุข” ยังเป็นความทุกข์ ตามนัยยะของการศึกษาอริยสัจสี่
สิ่งที่เรียกว่า “เฉยๆ” ยังอาจจะเป็น factor แห่งทุกข์ได้ ถ้าขาดสติสัมปชัญญะ
สิ่งที่เรียกว่า “ความเดือดเนื้อร้อนใจ” ที่ส่วนมากเรียกกันว่าทุกข์นั้น เป็นเพียง perception หนึ่ง

และการหาทางใดๆ ที่ “ดิ้นหนีจากอาการเดือดเนื้อร้อนใจ” ก็เป็นความปรุงแต่งอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งโดยนัยของอริยสัจแล้ว การทำเช่นนี้ เท่ากับการเอาความปรุงแต่ง แก้ไขความปรุงแต่ง จะไม่พ้นจากความปรุงแต่ง

พอรู้ไม่แจ้ง เลยศึกษาต่อได้ยาก เพราะไปแทรกแซงมันซะแล้ว (ภาษาหนังสือใช้คำว่า “ปรุงแต่ง”)

พอไปทำอะไรบางอย่าง แล้ว “ความเดือดเนื้อร้อนใจ” นั้น หายไป (ชั่วคราว) ผลคือความเชื่อเกิดโดยปริยายว่า ทำแบบนี้จะได้ผลแบบนี้เสมอ เกิดเป็นความฝังหัวอย่างไม่ตรงไปตรงมานักว่า “ทุกข์ต้องแก้” และ “วิธีแก้ต้องเหมือนกันทุกครั้งในเรื่องนั้นๆ”  



กามเป็นมายา - อริยสัจจากพระโอษฐ์ - สมุทัย

ภิกษุทั้งหลาย กามทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง เป็นของเปล่าๆ ปลี้ๆ เป็นของเท็จ เป็นสิ่งที่มีการหลอกให้หลงเป็นธรรมดา

ภิกษุทั้งหลาย กามนั้น เป็นเหมือนสิ่งที่ทำแล้วด้วยมายา เป็นที่พร่ำบ่นหาของคนพาล ได้แก่ กาม และสัญญาในกาม ทั้งสองอย่างนุั้น

เป็นอาณาจักรของมาร
เป็นวิสัยของมาร
เป็นเยื่อของมาร
และเป็นที่เที่ยวหาอาหารของมาร

จิตอันเป็นบาปอกุศล เป็นอภิชฌาก็ดี พยาบาทก็ดี และสารัมภะ (การแข่งดี) ก็ดี
เหล่านี้ย่อมเป็นไปในอาณาจักรของมารนั้น

อนึ่ง อกุศลธรรมเหล่านั้น ย่อมมีขึ้น เพื่อเป็นอันตรายแก่พระอริยสาวก ผู้ตามศึกษาอยู่ในธรรมวินัยนี้ได้ โดยแท้ แล


ที่เกิดแห่งอาหาร - อริยสัจจากพระโอษฐ์ - สมุทัย

ภิกษุทั้งหลาย อาหารสี่อย่างเหล่านี้มีอยู่เพื่อความตั้งอยู่ได้ของสัตว์ผู้เกิดแล้วบ้าง เพื่ออนุเคราะห์สัตว์ผู้กำลังแสวงหาที่เกิด (สัมภเวสี) บ้าง อาหารสี่อย่างอะไรเล่า?

สี่อย่างคือ

อาหารที่หนึ่งคือ อาหารคำข้าว หยาบก็ตาม ละเอียดก็ตาม
อาหารที่สองคือ ผัสสะ
อาหารที่สามคือ มโนสัญเจตนา (มโนกรรม)
อาหารที่สี่คือวิญญาณ

อาหารสี่อย่างเหล่านี้แลมีอยู่ เพื่อความตั้งอยู่ได้ของสัตว์ผู้เกิดแล้วบ้าง เพื่ออนุเคราะห์สัตว์ผู้กำลังแสวงหาที่เกิดบ้าง

ภิกษุทั้งหลาย ก็อาหารสี่อย่างเหล่านี้มีอะไรเป็นเหตุให้เกิด เป็นเครื่องก่อให้เกิด เป็นเครื่องกำเนิด เป็นแดนเกิด

ภิกษุทั้งหลาย อาหารสี่อย่างเหล่านี้ มีตัณหาเป็นเหตุให้เกิด เป็นเครื่องก่อให้เกิด เป็นเครื่องกำเนิด เป็นแดนเกิด แล