คือ เครื่องชำระสันดาน
คือชำระพื้นจิตใจให้สะอาด
สิ่งที่ทำให้เกิดผลคือภพที่น่าชื่นชม
บางแห่งยังแสดงความหมายอื่นไว้อีกว่า
สิ่งที่นำมาซึ่งความน่าบูชา
สิ่งที่ยังอัธยาศัย (ความประสงค์) ของผู้กระทำให้บริบูรณ์
ส่วน “บาป” มักแปลตามรูปศัพท์ว่า
สิ่งที่ทำให้ถึงวัฏฏทุกข์
หรือสิ่งที่ทำให้ถึงทุคติ (=สิ่งที่ทำให้ตกไปในที่ชั่ว)
คำแปลสามัญของบาป คือ ลามก (ต่ำทราม หรือเลว)
บางครั้งใช้เป็นคำวิเศษณ์ของวิบาก แปลว่า ทุกข์
หรือ อนิฏฐ์ (ไม่น่าปรารถนา)
ที่กล่าวมานั้น เป็นความหมายที่นักศัพทศาสตร์คือนักภาษาแสดงไว้
ซึ่งเป็นเพียงด้านหนึ่งเท่านั้น
ควรทราบความหมายในแง่ของหลักธรรม
เมื่อว่าโดยความหมายอย่างกว้างที่สุด
บุญมีความหมายเท่ากับกุศล
บาปก็มีความหมายเท่ากับอกุศล
แต่ในการใช้จริง
บุญและบาป มักปรากฏในความหมายที่จำกัดแคบ
และจำเพาะแง่มากกว่ากุศลและอกุศล
กล่าวได้ว่า บาป ใช้ในความหมายเท่ากับอกุศล
มากกว่าที่บุญใช้ในความหมายเท่ากับกุศล
แต่ที่ปรากฏบ่อยก็คือ กุศลใช้ในความหมายเท่ากับบุญ
ความที่ว่านี้เป็นอย่างไร พึงพิจารณาต่อไป
บาปที่ท่านใช้ในความหมายเท่ากับอกุศล แห่งสำคัญคือ
ในสัมมัปปธาน ๔ ข้อ ๑ และข้อ ๒
ซึ่งบาปมากับอกุศลธรรม ดังที่ว่า
- เพียรป้องกันบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด
- เพียรละบาปอกุศลธรรมที่เกิดแล้ว
- เพียรเจริญกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น
- เพียรรักษากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อมหาย
ถ้าแบ่งกุศลเป็น ๒ ระดับ คือ โลกิยกุศล และโลกุตรกุศล
โดยทั่วไป บุญใช้กับโลกิยกุศล
ถ้าจะหมายถึงระดับโลกุตระ ก็ใส่คำขยายกำกับไว้ด้วย เช่น “โลกุตรบุญ”
ซึ่งมิได้เป็นคำที่นิยมใช้แต่ประการใด (พบในอรรถกถาแห่งหนึ่ง และในฏีกาที่อธิบาย
ต่อจากอรรถกถานั้น เท่านั้น)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น