วันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

การท่องจำ ท่องได้ จำได้

การท่องได้ จำได้

มันอยู่ที่อุปนิสัย อะไรที่ประทับใจมันจะจำได้

ถ้าท่องได้จำได้ ก็จะสงเคราะห์ลงในชีวิตได้ง่าย เพราะศาสนานี้เริ่มต้นที่การฟัง

ถ้าท่องไม่ได้ จำไม่ได้ ก็เอามาใช้กับตัวเองไม่ได้ เล่าให้คนอื่นฟังก็ไม่ได้

แค่ความคิดว่า "รู้น่า รู้น่า"

ถ้าจำไม่ได้ ข้อมูลในการพิจารณาธรรมเราก็น้อย 

ถ้าจำไม่ได้ แน่ใจหรือว่าสิ่งที่เราปฏิบัติเป็นของพระผู้มีพระภาค

ถ้าพิจารณาตามความรู้ความนึกคิดของเราเอง แล้วเข้าใจว่า "นี่นะพระธรรมว่าไว้อย่างนี้" สวมรอยพรั่บเข้าไปเลย อันนี้น่ากลัว

ไอ้ตรงที่เราจะพิจารณาอย่างไรนี่ ยังไม่มีใครตำหนิอะไรหรอก

แต่ถ้าดันเอาความนึกคิดที่ปรุงขึ้นมาเองแล้วตู่ว่านี่เป็นพระธรรม อันนี้มีโทษมากมายมหาศาล

พระธรรมนี่ถ้าเข้าใจถูก มีคุณค่ามากมายมหาศาล แต่ถ้าเข้าใจผิดก็มีโทษมากมายมหาศาลเช่นกัน

เหมือนกันหมอที่เขาปรุงยาไว้ดีแล้ว แต่ก็มีคนเผลอไปกินแล้วตาย ถามว่าโทษหมอได้ไหม? ก็โทษไม่ได้ เพราะคนเอาไปกินไม่รู้จักขนาด ไม่รู้จักขนานอะไรๆ เอง

พระธรรมนี่มีค่ามาก ใช้กะๆ เอาไม่ได้ ทีวิชาอื่นมีค่าน้อยยังท่องซะเป๊ะๆ

ฉะนั้นถ้ามีศรัทธาท่องได้แน่นอน 

ถ้าคิดว่าพระธรรมดีมากๆ ยังไงก็จำได้ 

แต่ถ้าคิดว่าพระธรรมก็งั้นๆ ยังไงก็จำไม่ได้

จะจำได้หรือไม่มีปัจจัยอยู่ 2 ตัว

1.เป็นอารัมณาธิปติมั้ย หรือ
2.เป็นสหชาตาธิปติไหม

ก็คือตระกูลอธิปติปัจจัย

เช่น บางเหตุการณ์เราตกใจแต่จำเอามาเล่าได้ อันนี้คือสหชาตาธิปติ

ในขณะนั้นมี ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา อย่างใดอย่างหนึ่งในขณะนั้นก็จะจำได้

หรือสอง

อารมณ์นั้นเป็นอารัมณาธิปติ 

คือเป็นอารมณ์หนัก อารมณ์ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ก็จะเป็นเหตุให้จำได้

ดังนั้นถ้าเราปลูกฝังสองอย่าง

หนึ่ง ปลูกฝังให้จิตเรามี ฉันทาธิปติ หรือ...วิมังสาธิปติ นี้นัยหนึ่ง

อีกนัยหนึ่งก็ให้อารมณ์ที่น่าฝักใฝ่ น่าปรารถนา ปลูกฉันทะอย่างแรงกล้าในอารมณ์นั้นๆ

แต่สำคัญที่สุดก็คือทัศนะคติเบื้องต้น "เชื่อมั้ยว่าเราจำได้" ก่อน

กรณีศึกษาตัดหัวเป็นพุทธบูชา

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเนี่ย
มีพวกเราถามหลวงพ่อว่า
กรณีพระองค์หนึ่งไปตัดหัวตัวเองเป็นพุทธบูชา
บอกมันถูกมันผิดอะไร มันจะเป็นยังไง ?
การฆ่าตัวตายยังไงก็บาป 
ไม่มีข้อยกเว้นว่าใครจะเป็นคนฆ่า
ถ้าเจตนาฆ่าสัตว์ให้ตายก็บาปแล้ว
เพราะงั้นตรงนี้ถ้าเป็นพระไปฆ่าตัวตาย 
เนี่ยปาราชิกเลย
แต่ถ้าเป็นฆราวาสอย่างเคสที่เป็นข่าววันนั้น
เขาสึกก่อน เพราะงั้นเป็นฆราวาสฆ่าตัวตาย

นี้การฆ่าตัวตายเป็นพุทธบูชาเป็นความเชื่อ 
เป็นความเชื่อของคนกลุ่มหนึ่ง
อ่านประวัติพระเมตไตรย
บอก พระเมตไตรยเนี่ยตอนเจอพระพุทธเจ้าครั้งแรก
ไม่ใช่องค์นี้นะ พระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ
ท่านเลื่อมใสศรัทธารุนแรง
ท่านเป็นพวกศรัทธากล้า เป็นพวกวิริยะกล้า
ท่านไม่ใช่พวกปัญญากล้า หรือสมาธิกล้า

ตำราบอกว่าท่านตัดศรีษะบูชาพระพุทธเจ้า
ตำรานั้นเราก็ต้องดูนะ มันตำราชั้นไหน
ตำราถ้าอยู่ในพระไตรปิฎกก็เป็นของแน่นอน
ถ้าเป็นตำราที่พระรุ่นหลังท่านแต่งขึ้นมานะ
บางทีแต่งเพื่อจะบิ้วออกไปทางดราม่ามาก
เพื่อให้รู้สึกว่าเนี่ยท่านศรัทธาจริง

มีข้อยกเว้นมั้ยว่า
พระโพธิสัตว์ทำบาปแล้วไม่บาป ? ไม่มี
นี้เราไปเห็นว่าเนี่ยเป็นพระเมตไตรย
เรานับถือพระศรีอาริย์
งั้นสิ่งที่ท่านทำต้องดีที่สุดถูกที่สุด
อันนั้นเป็นความงมงาย
เราต้องไม่ลืมอย่างหนึ่งนะพระโพธิสัตว์เป็นปุถุชน
พระโพธิสัตว์ยังเวียนลงนรกได้
งั้นสิ่งที่ทำเนี่ยไม่แน่ว่าจะถูกเสมอไป
มันก็ต้องใช้สติใช้ปัญญานะ
อะไรที่มันผิดศีลนั้นต้องไม่ทำ
ถ้ายังทำอยู่แล้วก็มันไม่ถูกหรอก

งั้นพระโพธิสัตว์นะท่านยังลองผิดลองถูกอยู่
ยุคของเราเนี่ยนับถือพระโพธิสัตว์
มากกว่านับถือพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าสอนอะไรไม่ค่อยเชื่อนะ
ไปดูแบบอย่างพระโพธิสัตว์
งั้นท่านทำถูกบ้างผิดบ้างเป็นเรื่องปกติ
เอาเป็นต้นแบบ เป็นนิยามอันดี ..ไม่ได้

ถ้าดูจริยวัตรของพระพุทธเจ้า
อันนั้นถึงจะใช้ได้
ดูจริวัตรพระพุทธเจ้าแหละ
องค์เดียวนี่แหละสำคัญที่สุด
พระอรหันต์สาวกบางทียังทำอะไรที่ไม่สมควรเลย
อย่างมีองค์หนึ่งนะ
ท่านเหาะขึ้นไปเอาบาตรไม้จันทร์
เพื่อไม่ให้คนต่างศาสนาเนี่ยดูถูกศาสนาพุทธ
ท่านเลยแสดงอิทธิฤทธิ์ขึ้นมา
พระพุทธเจ้าก็ตำหนิ ไม่ใช่ไม่ตำหนิ
งั้นไม่ใช่จะใช้อะไรเป็นแบบอย่างได้ตลอด
คนใดคนหนึ่ง คนที่สมบูรณ์ที่สุด
เป็นแบบอย่างได้แน่นอน
คือพระพุทธเจ้าเท่านั้นแหละ
เราก็ดูตัวอย่างไป

บางคนเขานับถือครูอาจารย์
เอาครูอาจารย์เป็นแบบอย่าง
ครูอาจารย์บางทีท่านก็อัตโนมัติของท่านเหมือนกันนะ
งั้นจะมีข้อวัตรอะไรเฉพาะตัวที่ท่านเคยทำแล้วมันดี
เราไปเห็นตัวอย่างครูบาอาจารย์ท่านทำอย่างนี้แล้วดี
เราก็เอาอย่าง อะไรอย่างนี้
มันอาจจะไม่ดีสำหรับเราก็ได้

งั้นเราก็ทำอะไรก็ต้องมีเหตุมีผลนะ
อย่างการฆ่าตัวตายเนี่ย
บัณฑิตทั้งหลายเขาติเตียนทั้งนั้นแหละ
หลวงพ่อไปเห็นคำสอนครูบาอาจารย์
หลายองค์นะท่านพูดถึงการฆ่าตัวตาย
อย่างสมเด็จพระญาณสังวร เนี่ยท่านไม่ธรรมดา
ท่านสมบูรณ์พร้อมทุกสิ่งทุกอย่างเลยนะ
ท่านยังพูดเลยว่าร่างกายนี้มีประโยชน์
เอาไว้ทำประโยชน์
เอาไปฆ่าทิ้งแล้วมันไม่มีประโยชน์อะไร
เป็นบาปเป็นกรรม ก็เสียประโยชน์ของตัวเอง
เสียประโยชน์ของผู้อื่นด้วย

งั้นเรื่องฆ่าตัวตายเป็นพุทธบูชาอะไร
เนี่ยอย่าไปทำเลย ไม่มีประโยชน์อะไร
เป็นความงมงาย
ถามว่าพระพุทธเจ้าท่านอยากได้หัวของใครมั้ย ?
ท่านไม่ได้อยากได้หัวของใครหรอก
เอาหัวไปใส่บาตร ท่านเอามั้ยล่ะ ?
ท่านก็ไม่ได้ปลื้มด้วยหรอกนะ

แต่ถ้ามองอย่างกรณีพระเมตไตรยนะ
หลวงพ่อมองอีกอย่างหนึ่งนะ
คำว่าตัดศรีษะตัดหัวของท่านนี่นะ
มันคือคำว่าตัดอัสมิมานะ
ท่านเป็นกษัตริย์ในยุคนั้น
กษัตริย์ยังไงก็มีความถือตัว
แต่พอเจอพระพุทธเจ้าเนี่ยตัดหัว
อาจจะเป็นธรรมาธิษฐาน
การตัดหัวก็คือการตัดมานะถือตัว
ตัดอัสมิมานะกูเหนือคนอื่น
อย่างนี้ต้องตัด ถ้าท่านตัดได้ ดีที่สุดเลย
ถ้าตัดหัวจริงๆเนี่ยไม่ได้ประโยชน์อะไร

นี้เรามอง บางทีนิทานตำนานทั้งหลาย
ถ้ามองทะลุนิทานเข้าไปให้เห็นธรรมะให้ได้
การตัดหัวที่ดีที่สุดนั้น คือการตัดอัสมิมานะ
กูเหนือคนอื่น กูแน่กูหนึ่ง กูไม่ก้มหัวให้ใคร
เนี่ยตัวนี้ดูให้ดี ในตำราชั้นไหนเขียนไว้ ดูเอา
ถ้าชั้นพระไตรปิฎกก็เชื่อถือได้
ชั้นรองๆลงมาบางทีก็แฝงธรรมะซ่อนเอาไว้
ก็ต้องมีสติมีปัญญามองให้ออก
มองไม่ออกก็คิดว่าทำอย่างนี้แหละแล้วได้บุญ
ได้บาป ไม่มีได้บุญหรอกการฆ่าสัตว์
งั้นเข้าใจอย่างนี้นะ ชาวพุทธอย่าโง่งมงาย
เดี๋ยวก็เลียนแบบกัน ใช้ไม่ได้

งั้นการภาวนานะต้องฝึกตัวเอง
ให้มันมีศีล ให้มันมีสมาธิ ให้มันมีปัญญา
มีปัญญาอย่างต่ำเลยก็เชื่อในกฎแห่งกรรม
เชื่อเหตุเชื่อผล 

_/|\_ _/|\_ _/|\_

พระธรรมเทศนา #หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช

วัดสวนสันติธรรม บ้านโค้งดารา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

แสดงธรรมเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2564
.....
<<< แนวคิดตัดหัวบูชาพระพุทธเจ้า เคยมีมาก่อนไหม? >>>
ว่ากันว่า พญามารในยุคพระพุทธโคดมนี้
อดีตท่านเคยพบพระพุทธเจ้าพระนามว่า ‘กัสสปะ’
ได้ฟังธรรมจากพระพุทธกัสสปะแล้วเลื่อมใส
ขนาดลั่นวาจา ปรารถนาความสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าบ้าง
แล้วบั่นศีรษะของตนต่อเบื้องพระพักตร์
เพื่อพิสูจน์ความปรารถนาอันแรงกล้านั้นด้วยชีวิต
ซึ่งฟังแล้วไม่ค่อยน่าเชื่อ
เพราะคอคนไม่ได้ตัดกันง่ายๆ
ขนาดเพชฌฆาตผู้ล่ำสัน
บางทีสับคอนักโทษประหารแรงๆ
ยังต้องออกกำลังสองหนสามหน
นี่ให้เอาดาบตัดคอตัวเองในท่านั่ง
จะให้มีแรงบั่นไปจนขาดได้อย่างไร
อีกทั้งไม่น่าจะเป็นพุทธวิสัย
ที่ทอดพระเนตรดูใครตัดหัวถวายพระองค์
(ในตำนานกล่าวเสียอีกว่า 
พระพุทธกัสสปะทรงสนับสนุนให้ทำจนสำเร็จ)

เรื่องอดีตชาติของพญามาร
ไม่ได้มีอยู่ในพระไตรปิฎก
เป็นตำนานนอกคัมภีร์
แต่เมื่อเล่าขานนานเข้า
ก็กลายเป็นแรงบันดาลใจ
ให้คนบางกลุ่มที่ต้องอัธยาศัยเดียวกันนึกครึ้ม
อยากเอาเป็นแบบอย่างบ้าง
โดยจำไว้ง่ายๆว่า
ถ้าอยากเป็นพระพุทธเจ้า
หรือเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า
ให้ตัดคอตัวเองบูชาพระพุทธเจ้า
แล้วตั้งความปรารถนานั้นให้มั่นคง

ตัวตำนานเกี่ยวกับอดีตชาติของพญามาร
ยังมีความสับสน
เพราะอีกกระแสเล่าว่า
ยุคของพระพุทธกัสสปะนั้น
พญามารเกิดเป็นอำมาตย์ของพระราชา
และครั้งหนึ่ง พระพุทธกัสสปะเพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติ
(สมาธิที่เทียบเท่ากับการเข้านิพพานโดยตรง)
อำมาตย์จึงพาภรรยาไปถวายทาน
ทั้งที่พระราชาสั่งประชาชนทั้งเมืองไว้ว่า
ต้องให้พระราชาได้ถวายก่อนใคร
และคาดโทษว่าใครฝ่าฝืนถวายก่อนพระองค์ จะโดนประหาร
แต่อำมาตย์ก็ยอมตาย ขอให้ได้ถวายทานก่อนใครเพื่อน
ซึ่งในความเป็นจริง
อำมาตย์จะเลือกเวลาท่าไหน
จึงได้มีสิทธิ์ไปถึงก่อนขบวนเสด็จที่ยิ่งใหญ่ได้
ทั้งเมื่อพระราชาทราบเรื่องพระพุทธเจ้าออกจากนิโรธสมาบัติ
แล้วอยากถวายเป็นคนแรกขนาดนั้น
เพียงให้ทหารไปเฝ้ารอบๆที่ประทับของพระพุทธกัสสปะ
ก็ไม่มีผู้ใดมีสิทธิ์ถวายทานแด่พระพุทธองค์เป็นแน่แล้ว
ตำนานนี้จึงขัดกับความน่าจะเป็นไปได้จริงเช่นกัน

<<< สิ่งที่อดีตพระธรรมกรทำ เจตนาอันเป็นเครื่องชี้กรรมคืออะไร? >>>
ต้องมองให้ครบว่า
เจตนาที่แท้จริงของท่าน
ไม่ใช่ตัดหัวเพื่อบูชาพระพุทธเจ้า
แต่เป็นการตั้งใจปรารถนาว่า
ขอให้ตนได้อยู่ในเส้นทางเกิดตาย
แบบที่ปลายทางได้เป็น
พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งในอนาคตกาล
ความปรารถนานี้ของท่าน
เขียนไว้บนแผ่นหินอ่อนชัดเจน
แต่ไม่ค่อยมีใครนำมากล่าวถึง
เพราะฟังแล้วไม่เป็นที่เข้าใจแก่คนทั่วไป

ท่านธรรมกรน่าจะเข้าใจว่า
การถวายชีวิตบูชาพระพุทธเจ้า
แล้วปรารถนาความสำเร็จเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า
จะได้สำเร็จผลเหมือนตำนานอดีตพญามาร

<<< พระปัจเจกพุทธเจ้า ต่างจากพระพุทธเจ้าอย่างไร? >>>
พระพุทธเจ้า ค้นพบวิธีทำลายอวิชชา
พ้นทุกข์ เป็นพระอรหันต์ด้วยพระองค์เอง
อีกทั้งชอบช่วยคนมานานนับอนันตชาติ
จึงมีบารมีพอจะสถาปนาพระพุทธศาสนาขึ้นมา
สอนให้คนอื่นพ้นทุกข์ตาม
ขนสัตว์ออกจากวัฏสงสาร
แทนการเอาตัวรอดเฉพาะองค์

ส่วนพระปัจเจกพุทธเจ้า ค้นพบวิธีทำลายอวิชชา
เป็นพระอรหันต์ด้วยพระองค์เองเช่นกัน
แต่ไม่มีอัธยาศัยช่วยผู้คนไพศาล
ขวนขวายน้อย ไม่ก่อตั้งพระพุทธศาสนา
ตามเส้นทางบุญ
ที่ได้ปรารถนาการรอดปลอดภัย 
ไปนิพพานเฉพาะตน

<<< สิ่งที่อดีตพระธรรมกรทำ จะสำเร็จตามความมุ่งหวังไหม? >>>
ต้องดูต้นทุนบุญใหม่ในชาตินี้ของท่านว่า
ท่านอายุ ๖๘ เป็นพระมานาน
บวชมาแล้ว ๒๐ พรรษา
สั่งสอนชาวบ้านให้เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ คิดดีทำดี
ไม่สุงสิงกับใคร ชอบอยู่ตามลำพัง
ไม่ขวนขวายเพื่อเอายศเอาตำแหน่ง
ไม่มีเรื่องด่างพร้อยให้ชาวบ้านระคาย
อีกทั้งท่านใกล้ตายอยู่แล้ว
แทนที่จะตายเปล่า
ก็ใช้ชีวิตที่เหลือเป็นเครื่องตั้งอธิษฐานจิต
ถางทางไปนิพพานตามวิธีที่ท่านปรารถนา
ยิ่งเมื่อคิดว่าท่านเตรียมการตัดหัวตัวเองมา ๕ ปี
สร้างเครื่องประหารเองโดยไม่ให้ใครยุ่งเกี่ยว
ต้องนับว่าไม่ใช่พวกเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ
จิตต้องแน่วแน่พอสมควร
สุดท้ายเอาจริง ไม่ลังเล
ก็นับเป็นกรรมอันแน่วแน่ ไม่ธรรมดานัก

อย่างไรก็ตาม
วิธีการทำบุญเพื่อตั้งอธิษฐานใหญ่ของท่านนั้น
ถ้ามองเผินๆเหมือนยอมตาย ไม่เสียดายชีวิต
แต่เป็นวิถีการอุทิศชีวิตที่วิญญูชนไม่สรรเสริญ
และโดยเส้นทางไปนิพพาน
คนที่มีสิทธิ์ไปถึงจริงนั้น
ศรัทธากับปัญญาต้องได้ดุล
แต่นี่เส้นทางของท่านจะหนักไปทางศรัทธา
ซึ่งแปรปรวนง่าย
พระสารีบุตรเคยบอกว่า
ไม่อาจรับประกันศรัทธาของปุถุชนได้แม้แต่วันเดียว
แม้ปากเขาจะบอกว่าศรัทธาท่านปานใด
และนั่นก็เป็นในทำนองเดียวกันกับศรัทธาชนิดอื่น
มีเรื่องเล่ามากมายทั้งอดีตและปัจจุบันว่า
การปรารถนาพุทธภูมิก็ดี ปัจเจกภูมิก็ดี
ต้องใช้กำลังใจมั่นคงต่อเนื่องหลายล้านชาติ
ที่จะมีความคงเส้นคงวาไปทุกชาตินั้นยาก
ดังเช่นที่หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล 
ฟังธรรมจากท่านพระอาจารย์ม้าวแล้วเกิดความเลื่อมใส
กลับมาบอกพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโตว่า 
“เราได้เลิกการปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว 
และเราก็ได้เห็นธรรมตามความเป็นจริงแล้ว”

หากชาติต่อๆไปท่านธรรมกรพบพุทธศาสนา
พบอาจารย์ดี เปลี่ยนใจลาเส้นทางปัจเจกภูมิ
ก็เท่ากับชาตินี้ตายฟรีไปชาติหนึ่ง

<<< สิ่งที่อดีตพระธรรมกรทำไป ถูกทางหรือผิดทาง? >>>
ความปรารถนาในระดับข้ามภพข้ามชาตินั้น
เป็นเรื่องรู้เฉพาะตนที่ไม่มีถูกไม่มีผิด
แต่ที่น่าคำนึง คือ วิธีที่ท่านทำ
ไม่ใช่สิ่งที่วิญญูชนไหนๆเห็นเป็นเรื่องน่าสรรเสริญ
ทุกคนย่อมประสานเสียงเดียวกันว่า มันผิด
มันเป็นเรื่องที่ฉุดให้พระศาสนาหม่นหมอง
กระทำพระศาสนาให้เหมือนลัทธิฆ่าตัวตาย 
งมงาย ไร้เหตุผล น่าขบขัน
ควรแก่การเยาะเย้ยถากถางสำหรับผู้ไม่ศรัทธาอยู่เป็นทุน
พูดง่ายๆ ถ้าแอบทำเงียบๆ 
ไม่ทิ้งร่องรอยไว้ น่าจะประเสริฐกว่านี้

<<< สิ่งที่อดีตพระธรรมกรทำไป ต้องรับผลดีร้ายอย่างไร? >>>
สิ่งที่ท่านทำ
เรียกว่า ‘อัตวินิบาตกรรม’
คือ ปลิดชีวิตตัวเอง
ไม่ใช่ ‘ปาณาติบาตกรรม’
ซึ่งหมายถึงเอาชีวิตผู้อื่น

อัตวินิบาตกรรม
ต้องใช้กำลังใจมากกว่าปาณาติบาตกรรม
ให้ผลหนักแน่นกว่าปาณาติบาตกรรมมาก

แต่ต้องดูด้วยว่า
ขณะก่ออัตวินิบาตกรรม
จิตเศร้าหมอง
ด้วยความอยากตัดช่องน้อยแต่พอตัว
หรือมีจิตศรัทธาผ่องใส
ด้วยเป้าหมายที่คิดว่าดี
พระพุทธเจ้าตรัสว่า
ถ้าจิตเศร้าหมอง ก็มีทุคติเป็นที่หวังได้
แต่ถ้าจิตไม่เศร้าหมอง ก็หวังสุคติได้อยู่

ภพชาติไม่ได้มีแค่เรื่องสุคติกับทุคติภูมิ
แต่ยังมีรายละเอียดในภพชาติที่ไปถึงด้วย
เช่น ถ้ากลับมาเป็นมนุษย์อีก
ชะตาของท่านจะเป็นอย่างไร
แน่นอน ท่านจะเป็นคนแบบนี้อีก
คือ ไม่สนว่าใครจะว่าอย่างไร
ถือว่าไม่ได้ทำตัวเป็นที่เดือดร้อนใคร
โดยที่ท่านไม่มองให้ถี่ถ้วนว่า
ผลลัพธ์ของสิ่งที่ท่านทำ
สะเทือนจิตใจชาวพุทธจำนวนมหาศาล
และท่านก็จะติดนิสัยไม่สนความรู้สึกผู้คนอีก

ดูง่ายๆ คนรับรู้เป็นล้าน
แต่น้อยคนมีกำลังใจพอจะอุทิศกุศลให้ท่านไปดี
เหมือนใจคนอยากตำหนิติเตียนท่านกันมากกว่าอย่างอื่น
เมื่อเกิดใหม่ชาติไหน
แม้ลืมกรรมนี้ไปแล้ว
ท่านก็จะเสวยผล
คือ ไม่ได้รับความไยดีจากคนรอบข้างอีก

<<< กรณีตัดหัวบูชาฯนี้ ให้บทเรียนอะไรกับชาวพุทธบ้าง? >>>
เรื่องของศาสนา
เป็นเรื่องที่ใหญ่กว่าชีวิตของผู้ศรัทธา
ศรัทธาที่ประกอบด้วยปัญญา
เป็นสิ่งที่พุทธเราย้ำนักย้ำหนา
อย่าเอาแต่เชื่อ
ให้ดูดีๆด้วยว่า
สิ่งที่เชื่อ ขัดกับสามัญสำนึกมนุษย์ไหม

ตำนาน คือเรื่องเล่าสืบๆกันมา
แตกต่างจากพระไตรปิฎก
ซึ่งเป็นการบันทึกอย่างมีหลักฐาน
และเนื้อหาส่วนใหญ่ในพระไตรปิฎกแนวเถรวาท
ก็มีการเจาะจงชัดเจนว่า
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ที่ไหน กับใคร
หากได้รู้ถึงแก่นที่พระพุทธเจ้าสอนจากพระไตรปิฎก
ผู้ศึกษาย่อมเท่ากับได้สามัญสำนึก
ทราบได้ด้วยตนเองว่า
มหาบุรุษเช่นพระพุทธเจ้า
ปรารถนาให้ทำหรือไม่ทำอะไรบ้าง
เช่น ถ้าคิดบูชาพระพุทธเจ้า
ก็ทราบว่าพระองค์ตรัสไว้ชัดๆ
ท่านพอพระทัยให้ปฏิบัติบูชา
ไม่ใส่ใจแม้ใครเอาอามิสบูชามาถวาย
ท่านพอพระทัยให้ปฏิบัติแบบไม่เสียดายชีวิต
แต่ไม่ใช่เอาชีวิตมาทิ้งไปเฉยๆ!

พรรณนาความตาย (สืบเนื่องจากกรณีศึกษาตัดหัวถวายเป็นพุทธบูชา)

บุคคลใดแลทิ้งกายนี้ ยึดมั่นกายอื่นบุคคลนั้นเราเรียกว่าควรตำหนิ ฉันนะภิกษุก็มีลักษณะเช่นนี้ไม่ 

(ฉันโนวาทสูตร)

อนึ่งที่กล่าวอย่างนี้มิใช่พรรณนาคุณแห่งความตาย

ภิกษุใดพรรณนาถึงความตาย ชักชวนเพื่ออันตาย หรือแสวงหาศัสตรามาเพื่อให้เขาตาย ถ้าเขาฆ่าตัวตายจริง ภิกษุนั้นต้องอาบัติปาราชิก

(อรรถกถา ตติยปาราชิกสิกขาบท
บทภาชนีย์ มาติกา มาติกาวิภังค์)
...
ทั้งนี้การพิจารณาว่าชีวิตมีความตายเป็นธรรมดา จัดเป็นตีรณปริญญา
...

วิรัติ วิรตี

ประเภทของวิรัติ

1. สมาทานวิรัติ
2. สัมปัตตวิรัติ
3. สมุจเฉทวิรัติ

วิรัติที่ไม่ได้สมาทานมาก่อน แต่ด้วยการพิจารณาชาติ วัย และด้วยความเป็นพหูสูตรของตนแล้วไม่ฝ่าฝืนวัตถุที่มีประจวบเข้าด้วยคิดว่า "เรื่องนี้ไม่เหมาะแก่เราที่จะกระทำ" นี้ชื่อว่า สัมปัตตวิรัติ

เช่น เราเกิดมารวยขนาดนี้แล้วจะไปขโมยอีกได้อย่างไร

เราอายุตั้งขนาดนี้แล้วจะไปกินเหล้าเมาอย่างนี้ได้อย่างไร

เราเรียนมาตั้งขนาดนี้ จะไปทำอย่างนั้นได้อย่างไร

...
วิรัติที่สมาทานมาก่อน และแม้สละชีวิตของตน ที่มีคุณค่ายิ่งกว่าสิกขาบทก็ไม่ล่วงละเมิดวัตถุ เพราะสมาทานสิกขาบทไว้ ชื่อว่าสมาทานวิรัติ 

สภาวะของศีล

สภาวะของศีล

มีสองคือ เจตนา และวีรตี

เจตนาต้องเป็นเจตนาที่เกิดร่วมกับมหากุศลจิต 8 ดวง

และวีรตีอีก 3 ดวง วีรตีเจตสิกนั้นเกิดร่วมกับมหากุศลเป็นครั้งคราว

วีรตี เป็นเจตสิกที่เกิดกับมหากุศลเท่านั้น และเกิดไม่แน่นอน

วันอาทิตย์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

เรื่องเศร้าหมองที่ควรคิด

เรื่องเศร้าหมอง

เรื่องแบบเดียวกันนี้บางทีก็แล้วแต่ใครคิด

บางคนคิดแล้วไม่เป็นอันทำอะไร อย่างนี้อย่าไปคิด

แต่บางคนขี้เกียจมาก พอคิดงี้แล้วกลัว ก็กระตุ้นตัวไม่ให้ประมาท รีบทำกุศล อันนี้คิดได้

อันนี้ท่านก็แสดงไว้ว่า อารมณ์ใดเห็นแล้ว ได้ยินแล้วกุศลเจริญ อารมณ์นั้นควรเสพ

มีเจตนา หรือ มีเหตุผล

เจตนาและเหตุผลเป็นคนละส่วนกัน

ที่พูดว่า "มีเจตนา/ไม่มีเจตนา" บางทีคือเอาเหตุผลมาพูด

จริงๆ มันเป็นคนละขณะกัน

อย่างปานาติบาต

โดยสภาพหรือสภาวะคือเจตนา

อารมณ์คือสังขาร (ที่นี้หมายเอาเฉพาะ ชีวิตินทรีย์)

มีเวทนาเป็นโทสะ

---
คำถาม
ตกปลาเป็นโทสะหรือ

คำตอบ
ตกปลามีหลายแบบ บางคนตกเล่น ไม่เจตนาที่ชีวิต ตกแล้วปล่อย อันนั้นเบียดเบียน

บางคนตกแล้วจะเอามันมากิน อันนี้เจตนาที่ชีวิต อันนี้คือปาณาติปาต

---

พระราชาสั่ง "เอามันไปหลับ" (ในความหมายเอามันไปประหาร) อันนี้ก็ปานาติบาต และคำพูดนั้นก็จัดเป็นคำหยาบ ไม่ใช่คำสุภาพ

---
คำถาม
ปลิดชีวิตด้วยสงสารอยากให้พ้นทรมาน เป็นปานาติบาตหรือไม่

คำตอบ
แยกคนละขณะกัน สงสารขณะหนึ่ง เจตนาปลิดชีวิตอีกขณะหนึ่ง

เราดูที่เจตนาเฉพาะหน้า ไม่ได้ดูที่เหตุผล

เอาเจตนาเป็นประมาณ ส่วนเหตุผลเอาเป็นประมาณไม่ได้ในการวินิจฉัยกรรม

บางคนเอาเหตุผลมาสับสนกับเจตนา ซึ่งเป็นคนละอย่างกัน ที่ว่าไม่มีเจตนา ไม่มีเจตนา มันคือสำหรับเขามันไม่มีเหตุผล

คำสอนในพุทธศาสนาจะแยกเป็นขณะๆ ไปไม่เหมา มันคนละอารมณ์คนละขณะกัน

สมมติว่าเจตนาดี แต่วิธีการไม่ดี ก็ว่าเป็นตอนๆ ไป ไม่ได้เอามารวมกัน กุศล-อกุศล ไม่ได้มาประมวลเป็นเรื่องเดียวกัน

เช่น ในการล้มหมูตัวหนึ่ง ที่ประชุมนั้นบาปไม่เท่ากัน

บาปนี้ของบางคนให้ผลตกนรก, ของบางคนให้ผลเป็นเปรต, บางคนให้เป็นเดรัจฉาน, บางคนให้มาเป็นมนุษย์ที่อายุสั้น เพราะเจตนาในการทำนั้นไม่เท่ากัน

บางคนทำด้วยอสังขาริก
บางคนทำด้วยสสังขาริก
บางคนก่อนทำเป็นมิจฉาทิฏฐิ
บางคนหลังทำเป็นมิจฉาทิฏฐิ
บางคนขณะกำลังทำมีฉันทะเป็นใหญ่ ยินดี
บางคนมีวิริยะเป็นใหญ่
บางคนมีการชักชวน
บางคนไม่มีการชักชวน

จะไล่เป็นขณะๆ ไป ไม่ได้กล่าวถึงเหตุผล เช่น เขาใช้ให้มาฆ่า เอาเหตุผลมาอ้างไม่ได้ เจตนานั้นๆ ก็คือเจตนานั้นๆ

ส่วนเรื่องโจรเคราแดงที่พระสารีบุตรถามว่า นี่ใครใช้ให้ฆ่า

อันนั้นเรียกว่าเป็นอุบายให้เปลี่ยนอารมณ์ เปลี่ยนความคิด แต่ไม่ใช่ว่าคนฆ่าไม่บาป เพียงแต่ต้องการให้เขาสบายใจ เขาจะได้ฟังธรรมต่อไปได้ เรียกว่าเบนประเด็น

คือจิตจะเศร้าหมองหรือไม่เศร้าหมองอยู่ที่อารมณ์ด้วย นึกให้ยิ้มก็ยิ้ม นึกให้เครียดก็เครียด แล้วแต่จะนึกถึงอะไร

หรืออีกเรื่องโยมจะถวายข้าวพระ แต่พระบอกเอาน้อยๆ ไม่ต้องเยอะเพราะบิณฑบาตฉันมาแล้ว โยมโกรธมาก ตักใส่ให้เต็มบาตรเลย แล้วมานึกย้อนทีหลังว่าจะบาปมั้ยหนอ จึงไปหาพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านไม่ตอบเลยว่าบาปไม่บาป แต่ท่านตอบไปว่า "เจตนาที่จะถวายอาหารแด่สงฆ์ที่มีผลน้อยนั้นไม่มี"

คือถ้าในชั้นของการศึกษานี่เราก็แยกแยะให้ชัดเจนเป็นประเด็นๆ ไป เพื่อให้เข้าใจ

แต่ถ้าในการสนทนาเป็นบางเรื่องก็เบนประเด็นซะ คือบางคนนี้ยังไม่อยู่ในฐานะที่พร้อมจะรับการชี้แจง โดยไม่พูดถึงเรื่องนั้นเลย

การไม่พูดถึงเพื่อให้อีกฝ่ายเกิดกุศลจิต อย่าลืมว่าในการศึกษาธรรมในพระพุทธศาสนา ฟังเสร็จเห็นแจ้ง อาจหาญ สมาทาน ยิ้มได้ ร่าเริง กลับบ้านได้ แสดงว่าศึกษาถูกต้อง แต่ถ้าหากว่ากลับบ้านแล้วเครียดหนักกว่าเก่านี่แสดงว่าผิดพลาด