เจตนาและเหตุผลเป็นคนละส่วนกัน
ที่พูดว่า "มีเจตนา/ไม่มีเจตนา" บางทีคือเอาเหตุผลมาพูด
จริงๆ มันเป็นคนละขณะกัน
อย่างปานาติบาต
โดยสภาพหรือสภาวะคือเจตนา
อารมณ์คือสังขาร (ที่นี้หมายเอาเฉพาะ ชีวิตินทรีย์)
มีเวทนาเป็นโทสะ
---
คำถาม
ตกปลาเป็นโทสะหรือ
คำตอบ
ตกปลามีหลายแบบ บางคนตกเล่น ไม่เจตนาที่ชีวิต ตกแล้วปล่อย อันนั้นเบียดเบียน
บางคนตกแล้วจะเอามันมากิน อันนี้เจตนาที่ชีวิต อันนี้คือปาณาติปาต
---
พระราชาสั่ง "เอามันไปหลับ" (ในความหมายเอามันไปประหาร) อันนี้ก็ปานาติบาต และคำพูดนั้นก็จัดเป็นคำหยาบ ไม่ใช่คำสุภาพ
---
คำถาม
ปลิดชีวิตด้วยสงสารอยากให้พ้นทรมาน เป็นปานาติบาตหรือไม่
คำตอบ
แยกคนละขณะกัน สงสารขณะหนึ่ง เจตนาปลิดชีวิตอีกขณะหนึ่ง
เราดูที่เจตนาเฉพาะหน้า ไม่ได้ดูที่เหตุผล
เอาเจตนาเป็นประมาณ ส่วนเหตุผลเอาเป็นประมาณไม่ได้ในการวินิจฉัยกรรม
บางคนเอาเหตุผลมาสับสนกับเจตนา ซึ่งเป็นคนละอย่างกัน ที่ว่าไม่มีเจตนา ไม่มีเจตนา มันคือสำหรับเขามันไม่มีเหตุผล
คำสอนในพุทธศาสนาจะแยกเป็นขณะๆ ไปไม่เหมา มันคนละอารมณ์คนละขณะกัน
สมมติว่าเจตนาดี แต่วิธีการไม่ดี ก็ว่าเป็นตอนๆ ไป ไม่ได้เอามารวมกัน กุศล-อกุศล ไม่ได้มาประมวลเป็นเรื่องเดียวกัน
เช่น ในการล้มหมูตัวหนึ่ง ที่ประชุมนั้นบาปไม่เท่ากัน
บาปนี้ของบางคนให้ผลตกนรก, ของบางคนให้ผลเป็นเปรต, บางคนให้เป็นเดรัจฉาน, บางคนให้มาเป็นมนุษย์ที่อายุสั้น เพราะเจตนาในการทำนั้นไม่เท่ากัน
บางคนทำด้วยอสังขาริก
บางคนทำด้วยสสังขาริก
บางคนก่อนทำเป็นมิจฉาทิฏฐิ
บางคนหลังทำเป็นมิจฉาทิฏฐิ
บางคนขณะกำลังทำมีฉันทะเป็นใหญ่ ยินดี
บางคนมีวิริยะเป็นใหญ่
บางคนมีการชักชวน
บางคนไม่มีการชักชวน
จะไล่เป็นขณะๆ ไป ไม่ได้กล่าวถึงเหตุผล เช่น เขาใช้ให้มาฆ่า เอาเหตุผลมาอ้างไม่ได้ เจตนานั้นๆ ก็คือเจตนานั้นๆ
ส่วนเรื่องโจรเคราแดงที่พระสารีบุตรถามว่า นี่ใครใช้ให้ฆ่า
อันนั้นเรียกว่าเป็นอุบายให้เปลี่ยนอารมณ์ เปลี่ยนความคิด แต่ไม่ใช่ว่าคนฆ่าไม่บาป เพียงแต่ต้องการให้เขาสบายใจ เขาจะได้ฟังธรรมต่อไปได้ เรียกว่าเบนประเด็น
คือจิตจะเศร้าหมองหรือไม่เศร้าหมองอยู่ที่อารมณ์ด้วย นึกให้ยิ้มก็ยิ้ม นึกให้เครียดก็เครียด แล้วแต่จะนึกถึงอะไร
หรืออีกเรื่องโยมจะถวายข้าวพระ แต่พระบอกเอาน้อยๆ ไม่ต้องเยอะเพราะบิณฑบาตฉันมาแล้ว โยมโกรธมาก ตักใส่ให้เต็มบาตรเลย แล้วมานึกย้อนทีหลังว่าจะบาปมั้ยหนอ จึงไปหาพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านไม่ตอบเลยว่าบาปไม่บาป แต่ท่านตอบไปว่า "เจตนาที่จะถวายอาหารแด่สงฆ์ที่มีผลน้อยนั้นไม่มี"
คือถ้าในชั้นของการศึกษานี่เราก็แยกแยะให้ชัดเจนเป็นประเด็นๆ ไป เพื่อให้เข้าใจ
แต่ถ้าในการสนทนาเป็นบางเรื่องก็เบนประเด็นซะ คือบางคนนี้ยังไม่อยู่ในฐานะที่พร้อมจะรับการชี้แจง โดยไม่พูดถึงเรื่องนั้นเลย
การไม่พูดถึงเพื่อให้อีกฝ่ายเกิดกุศลจิต อย่าลืมว่าในการศึกษาธรรมในพระพุทธศาสนา ฟังเสร็จเห็นแจ้ง อาจหาญ สมาทาน ยิ้มได้ ร่าเริง กลับบ้านได้ แสดงว่าศึกษาถูกต้อง แต่ถ้าหากว่ากลับบ้านแล้วเครียดหนักกว่าเก่านี่แสดงว่าผิดพลาด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น