หลวงพ่อสอนเรื่องการไม่กลับมาเกิดนะ
รู้มั้ยเพราะอะไรจึงไม่กลับมาเกิดอีก เพราะทั้งหมดนี้มันเป็นเรื่องไม่จริงน่ะสิ
แต่มันก็เห็นเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ทั้งๆ ที่มันเป็นแค่สังขตธรรมทั้งนั้น
อย่างมองไปปั๊บก็บอกเลยนี่ “รถ” มองไปปั๊บก็บอกเลย “นี่ระฆัง”
มองปั๊บมันเห็นรูปเป็นรูปขึ้นมาทันทีเลย มันเป็นความเคยชินของอวิชชาที่มีมานานมาก
อวิชชามันปรุงขึ้นมา นี้เป็นสมุทัยแท้ๆ เลย แถมพอปรุงปั๊บว่า “นี่เป็นอะไร”
ก็ตามมาด้วย “นี่ของใคร” คือถ้ามีชื่อคนปรากฏนี่ มันปรุงมาหลายชั้นมากแล้วนะ
ถ้ายังไม่สามารถละความหลงได้ว่ารูปเป็นรูป
เสียงเป็นเสียง เวทนาเป็นเวทนา ความจำเป็นความจำ มันก็จะกังวลอยู่ในเรื่องเหล่านี้
ซึ่งมันเป็นความปรุงแต่งทั้งหมดเลย เกิดขึ้นจากตัณหา มี A ในความจำ
B มี B ในความจำ A มันมีใครที่ไหนกัน อันนี้มันไปไกลมากแล้วโดยที่ไม่รู้ว่ากำลังปรุงอยู่
ในการละอวิชชานั้น ศีล สมาธิ
และปัญญาจะต้องบริบูรณ์ อันนี้แม้แต่พระอนาคามีก็ยังเห็นว่ารูปเป็นรูป
ก็ยังต้องข่มไว้ ข่มรูป ไปยึดอรูป ก็ยังเรียกว่าการปรุงแต่ง (อเนญชาภิสังขาร)
การเอาสังขตธรรมมาปรุงให้เรียกว่า “รูป” อันนี้เป็นใบไม้
เป็นดอกไม้ เป็นกุ้ง เป็นหอย ทั้งๆ ที่ถ้ากระจายออกก็เป็นธาตุ 4 เอาธาตุ 4
มากองกันแล้วก็ให้ชื่อ แต่ธาตุ 4 ก็ไม่ใช่ธาตุ 4 ถ้ายังหมายว่าธาตุ 4 เป็นธาตุ 4 อย่างน้ำถ้ากระจายออกก็เป็นไฮโดรเจน
เป็นออกซิเจน แต่ถ้ายังหมายว่าเป็นไฮโดรเจน เป็นออกซิเจนก็ยังเสร็จอวิชชาอยู่นะ
การปรุงแต่งนี่มันเกิดขึ้นตลอดเวลา
ไม่ใช่อะไรที่เกิดขึ้นแบบนานๆ ที มันปรุงแต่งเป็น full time อย่าง
“ดอกไม้นี่สวยนะ” หรือ “กุ้งเผานี่อร่อยนะ” มันคือปรุงขึ้นมาจากว่า
ดอกไม้นี่เป็นดอกไม้จริงๆ กุ้งนี้เป็นกุ้งจริงๆ แล้วก็ไปปรุงเช่น ไปดม ไปกิน
ไปทำอย่างนั้นดีกว่า ไปทำอย่างนี้ดีกว่า เห็นมั้ยว่ามีเวทนาเข้ามาเกี่ยวข้อง
ถ้าไม่มีเวทนาจะปรุงแบบนี้ไม่ได้
ถ้าจะละอวิชชาแต่ยังปรุงแต่งสังขาร ยังยินดีอยู่กับสังขาร
มันก็จะละไม่ได้ มันหาความสุขไม่เป็นมันก็ไปปรุง “บุญ” ขึ้นมา แล้วก็ติดกับรสสุข
“เขาจำเราผิด เราไม่ใช่อย่างนั้นสักหน่อย” มันยากจนข้นแค้นความสุข
กระหายความสุข จึงได้เที่ยวปรุงแต่งขึ้นมา อยากให้คนนั้นเป็นอย่างนั้น
อยากให้คนนี้เป็นอย่างนี้ สังขารเกิดจากตัณหานี่อย่างไร
ไปหยิบมาปรุงเพราะมันอ่อนแอนะ กำลังเอกัคตามันไม่พอ มันไม่เป็นหนึ่ง
มันปรุงไปตามช่องทางทั้ง 6 ตามอายตนะ มีเราเห็น มีเราได้ยิน มีเราจำได้ มีเราคิด เจตนาดี
เจตนาร้ายนี่ก็ไม่ใช่ตัวตน มันฟังแล้วมันก็ปรุง พอปรุงแล้วก็ไปยึดมีเราในความจำเขา
มีเขาในความจำเรา คือแค่บ่นนี่ก็เป็นอาหารของอวิชชาแล้วนะ บ่นคืออะไร
บ่นคือโสกะปริเทวะ เป็นอาหารของอวิชชานะ
ไม่ว่าจะอดีต ปัจจุบัน อนาคต
จะดับสังขารก็ต้องดับอวิชชา ถ้าความปรุงแต่งไม่หยุด จะพ้นทุกข์ก็เป็นไปไม่ได้ คือ
ถ้าไม่ไปนึกว่ารูปเป็นรูป มันก็ไม่อิน จะเอาทุกข์มาจากไหน คือ
ระบบความปรุงแต่งมันก็ทำงานเหมือนกันทั้งโลกนะ แล้วทางรอดคืออะไร
ทางรอดอยู่ที่วิหารธรรมนี่ไง คือ เมื่อไรที่ออกจากวิหารธรรม คือ
ถูกอวิชชาลากไปแล้วนะ ทิ้งวิหารธรรมเมื่อไร การปรุงแต่งเกิดขึ้นทันทีนะ แล้วก็มองให้ออกว่า
ถ้าราคะจะเกิดก็เกิดกับรูป/เสียง/กลิ่น/รส/สัมผัส/ธัมมารมณ์นี่แหละ
ถ้าโทสะจะเกิดก็เกิดกับรูป/เสียง/กลิ่น/รส/สัมผัส/ธัมมารมณ์นี่แหละ
ถ้าโมหะจะเกิดก็เกิดกับรูป/เสียง/กลิ่น/รส/สัมผัส/ธัมมารมณ์นี่แหละ
ความฝันใฝ่ต่างๆ ถ้าจะเกิดก็เกิดกับรูป/เสียง/กลิ่น/รส/สัมผัส/ธัมมารมณ์นี่แหละ
ถ้าไม่คิด ไม่พูด ไม่ทำด้วยราคะ โทสะ โมหะ
ผลของมันก็คือ “การไม่มีราคะ โทสะ โมหะ” นี่ไง
นึกว่าเขามีตัวตนในรูป นึกว่ามีเขาเป็นคนพูด ถ้าจะดับโกรธก็ต้องดับเหตุแห่งความโกรธ
“เฮ้ย!! มันไม่มีตัวตนในรูปนะ” “มันไม่ใช่เสียง!!” และ “มันก็ไม่ใช่เขาพูดนะ!!” หยิบสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาทำงานวิจัยสิ
เวลาหลงไปคิดเรื่องเรา-เขา ลองเอะใจขึ้นมา “เฮ้ยนี่มันคิดชื่อใครขึ้นมานี่” คือถ้าปล่อยจนมันไปอินซะเต็มที่แล้วมันจะไม่ยอมทำการวิจัยนะ
ถ้าผิดศีลมันจะกังวลจนวิจัยไม่ได้ มันก็โกรธขึ้นมาน่ะสิ
ที่ว่าผิดศีลผิดยังไง การคิดเรื่องหญิง/ชาย
คิดเรื่อง เรา/เขา ขึ้นมานี่ก็ผิดศีลละเอียดแล้วนะ พอคิดผิด ก็พูดผิด ทำผิด ศีล
สมาธิ ปัญญามันก็ไม่บริบูรณ์ ที่เรียกว่าปุถุชน ทำไมจึงเรียกแบบนี้
เพราะหนาแน่นไปด้วยความเป็นตัวตนในขันธ์ 5 มันยังดื้อ หัวดื้อจะมีตัวตนให้ได้
(สักกายทิฏฐิ)
ความอาลัยอาวรณ์ในเรื่องปรุงแต่ง ความปรุงแต่งหลอกให้ผูกพัน
ที่นี่เป็นบ้านเกิด ที่นี่เป็นครอบครัว เราเป็นคนที่นี่ มีอาลัยอาวรณ์เป็นที่มาของความยินดี
ความยินดีนี้กระตุ้นให้เกิดการปรุงแต่งสังขารต่อไป บางทีอวิชชาก็เสียดายเสียงนก
สายน้ำ ท้องฟ้า แสงแดด พอจะไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน มันเสียดาย
แต่ทั้งหมดนั้นก็ไม่ได้มีอะไรจริง
เมื่อมีผัสสะย่อมรู้สึก ย่อมจำ ย่อมคิด
รู้สึกเป็นเวทนา ธรรมทั้งหมดประชุมลงที่เวทนา
ทำเพื่อเวทนา กังวลเรื่องเวทนา บ่นเรื่องเวทนา
จำด้วยตัณหา มานะ ทิฏฐิ
คิด ก็ฟุ้งไปด้วยเวทนาในอดีต
กังวลไปในเวทนาอนาคต
เสียงเจื้อยแจ้วในภายในนั่นก็ไม่ใช่เรา
เป็นแค่ความจำรูป ความจำเสียง เหมือนหมานั่งเบียดอยู่กับเสา เสาที่ว่าคือรูป (และเสียง
กลิ่นรส สัมผัส ธรรมมารมณ์) เบียดอยู่กับรูป ไปไหนก็คิดเรื่องเดิม คิดเรื่องรูป พอใจในรูป
รูปเรา เวทนาเรา เช่น ไปนึกคิดว่าคนอินเดียบูชาหนูเป็นเทพเจ้าว่าเป็นความงมงาย ขณะที่ไม่เฉลียวว่า
เรากำลังนั่งคิดถึงคนที่บ้านก็งมงายพอกัน คือ มันไม่ได้มีเราอยู่ในที่ไหนๆ
กระบวนการนี้ถ้าถอยมาไม่ถึงอวิชชาก็จะไม่จบเรื่อง จะปรุงแต่งอยู่เรื่อยไป
หยิบรูปมาเล่นเป็นนู่นเป็นนี่ ปรุงไปปรุงมาจนเป็นทุกข์เต็มขั้น
ต่อให้ละได้เป็นครั้งๆ คราวๆ มันก็จะวนๆ อยู่แถวๆ ตัณหา ดับแล้วก็เกิดใหม่
แต่ถ้ายังไม่เห็นว่า “รูปก็ไม่ใช่รูป” ความปรุงแต่งจะดำเนินอยู่เรื่อยไป เพราะ “ความไม่รู้ว่ารูปก็ไม่ใช่รูป”
ทำให้หยิบสังขตธรรมมาเล่นไม่สิ้นสุด คือ มันต้องย่อยให้ถึงที่สุด คือ
เห็นรูปเป็นรูปให้พึงสังวรไว้ว่า นี่คือ “เพชฌฆาตที่กำลังเงื้อดาบ”
ถ้าคิดว่าความคิดคือตัวเรา
อันนี้มิจฉาเต็มที่ไปเรียบร้อย มันคือความปรุงแต่งโดยไปสำคัญว่า ความคิดเป็นตน
หรือตนมีความคิด พระโสดาบันท่านรู้อะไร ท่านเห็นว่าธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ “และ”
เห็นเหตุแห่งธรรมนั้น เสียงเจื้อยแจ้วในหัวนี้มาจากทางไหน เกิดอะไรขึ้นก็หาเหตุเจอ
หาเจอเสมอ (มาจากผัสสะ 1 ใน 6 ทางนี่ไง) พอเห็นที่มา มันก็รู้ว่านี่ไม่ใช่ของจริง ไม่งั้นมันจะไปมองนึกว่าเป็นตัวเป็นตนเสมอ
พอระลึกได้ว่ามาจากผัสสะ เห็นในความเป็นเหตุปัจจัย มันก็ออกมา
ไม่ปล่อยให้ปรุงเสียจนบานปลาย จึงได้พ้นจากอบายภูมิ
เมื่อเห็นเป็นเหตุปัจจัย
ก็จะเห็นได้ว่ามันไม่เที่ยง แปรปรวนตามเหตุอยู่เสมอ จะไปยึดก็ยึดไม่ได้
จะคว้าก็คว้าไม่ได้ ไปยึดก็น่ากลัว สลายอยู่เรื่อยไป หาสาระ หาแก่นไม่มี
หาความมั่นคงไม่มี จึงเริ่มหาทางออก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น