วันอังคารที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

ชรา

ชรา มีสองอย่าง

  • สงฺขตลกฺขณฺจ, 
  • ขณฺฑิจฺจาทิสมฺมโต สนฺตติยํ เอกภวปริยาปนฺนขนฺธปุราณภาโว จ
    (ภาวะความเก่าลงของขันธ์ ที่นับเนื่องในภพหนึ่งๆ ที่ต่อเนื่องกัน) คือจะต้องเป็นขันธ์ชุดเดียวกัน (ไม่ใช่ขันธ์เดียวกัน) ที่ต่อเนื่อง ที่สืบต่อกันไปเรื่อยๆ โดยมีอาการสมมติเรียกกัน
ชราในอริยสัจ หมายเอา อันที่ 2 ยาวๆ นี่แหละ 
ไม่ได้หมายถึง สังขตลักษณะ (เกิดขึ้น แล้วแปรปรวน)
อันนี้เป็นชราของสังขาร ไม่ได้หมายเอาในอริยสัจ

ขณฺฑิจฺจาทิสมฺมโต สนฺตติยํ เอกภวปริยาปนฺนขนฺธปุราณภาโว จ

  • ภาวะความเก่าลงของขันธ์ ที่นับเนื่องในภพหนึ่งๆ ที่ต่อเนื่องกัน คือจะต้องเป็นขันธ์ชุดเดียวกัน (ไม่ใช่ขันธ์เดียวกัน) ที่ต่อเนื่อง ที่สืบต่อกันไปเรื่อยๆ โดยมีอาการสมมติเรียกกันว่า ขณฺฑิจฺจ (ผมหงอก)
  • ขันธ์โบราณ
ลักขณาทิจตุกะ
  • ขนฺธปริปากลกฺขณา  ชรา มีความแก่ของขันธ์เป็นลักษณะ
  • มรณูปนยนรสา มีกิจหน้าที่คือนำไปสู่มรณะ?
  • โยพฺพนวินาสปจฺจุปฏฺานา อาการปรากฏคือความเป็นหนุ่มสาวพินาศไป
ความหมายคือ ถ้ายังหนุ่มสาว ยังไม่ใช่ชราในอริยสัจ
บางคนไปอธิบาย เด็กก็ยังมีชราอยู่ในนั้น (อันนี้มันสังขตลักษณะ)

ทำไมชราจึงเป็นทุกข์
  • ทุกฺขา สงฺขารทุกฺขภาวโต เจว ทุกฺขวตฺถุโต จ
  • เป็นทุกข์โดยตัวมันเองด้วย และเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ด้วย
  • (อันนี้ต่างจากเกิด เพราะเกิดเป็นที่ตั้งเฉยๆ)

ชาติ (ความหมายของชาติ)

ความหมายของชาติ ตาม ชาติปิ ทุกขา

ถ้าพูดแบบปริยาย คือเอากำเนิดมาเกี่ยวข้อง


  • ถ้าเป็นคัพพเสยยกสัตว์ (สัตว์ที่เกิดจากท้องแม่) นับตั้งแต่ปฏิสนธิจนถึงออกจากท้องแม่
  • ถ้าเป็นกำเนิดอื่น เอาตอนปฏิสนธิขันธ์ 


ชาติ ถ้าเอาตามนิปปริยาย โดยตรง ในวิสุทธิมรรคท่านขยายไว้แบบนี้ คือ
ปฐมปาตุภาโว การปรากฏขึ้นครั้งแรกของสัตว์นั้นๆ
การได้อายตนะครบ

อธิบายตามลักขณาทิจตุกะ
- ชาติ มีลักษณะเกิดขึ้นครั้งแรกในภพนั้นๆ เหมือนโผล่ขึ้นมาจากภพอดีต

ทำไมชาติจึงเป็นทุกข์

  • เพราะภาวะที่เป็นที่ตั้ง เป็นแหล่งกำเนิด เป็นที่ก่อเกิด ที่ตั้งของทุกข์เป็นเอนกประการ


ดังนั้น ก็จะคนละแบบกับที่อภิธรรมอธิบาย
เช่นว่า สภาวะมันเกิดมันดับ ก็จะผิดไป

หรือที่ยุคหลังใช้คำ "พอเกิดตัวตนขึ้นมา ก็เรียกว่าเกิดหนึ่งชาติ" อันนี้ก็เท่ากับผิดไป


ทำไมเรียงทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

ทุกข์
มาก่อนเพื่อให้เกิดความสังเวช (ปัญญา + โอตตัปปะ)
แก่สัตว์ท.ผู้ที่ติดรสชาติความสุขในภพ

สมุทัย
ถัดมาเพื่อแสดงว่าทุกข์นั้น ก็ไม่ได้มีพระอิศวรเป็นต้น เป็นผู้กระทำ
ไม่ได้มีผู้สั่งการ ดลบันดาลอะไรต่างๆ
แต่มาจากตัณหา

นิโรธ
เพื่อให้เกิดความเบาใจสบายใจ แก่สัตว์ท.ที่ถูกความทุกข์ทับเอาไว้
และแสวงหาทางที่จะออกจากความทุกข์นั้น
อสฺสาสชนลตฺถํ (ไม่รู้สะกดถูกมั้ย)
อัสสาสะ = เฮ่อ โล่ง ออกจากทุกข์ได้

มรรค
เพื่อประโยชน์ให้รู้ว่านี่เป็นทางให้ถึงนิโรธ

ขันธ์ที่ยังไม่ได้ถูกกำหนดรู้ จึงเป็นอารมณ์ของอุปาทาน

คำอธิบายของอุปาทานขันธ์ 5

ขันธ์ที่ได้มาจากอุปาทานอดีต และเป็นอารมณ์ของอุปาทานปัจจุบัน

พูดอีกอย่างคือขันธ์ที่ยังไม่ได้ถูกกำหนดรู้ จึงเป็นอารมณ์ของอุปาทานได้

เรียกว่า อุปาทานขันธ์ห้า

อุปาทานสี่ไปยึดขันธ์ที่ยังไม่ได้ถูกกำหนดรู้

พระอรหันต์กำหนดรู้ขันธ์หมดแล้ว จึงไม่มีที่ตั้งแห่งอุปาทาน แต่ยังมีขันธ์อยู่

---
NbN impression

ฟังแว่บแรกก็จะเซ็งว่า ทำไมท่านไม่ว่าอุปาทานเป็นทุกข์ให้มันรู้แล้วรู้รอดไปเลย?
ยอกย้อนวกวนทำไม

ทีนี้ถ้าแปลอุปาทานขันธ์ ว่าขันธ์ที่ยังไม่ได้ถูกกำหนดรู้
ก็จะพอได้เค้ามาว่า

อุปาทาน (กิเลส) มันไม่ได้มีตลอดเวลา
ถ้าว่าให้อุปาทานเป็นทุกข์ ก็เหมือนไม่มีหน้าที่ตลอดเวลา
มีหน้าที่เฉพาะตอนมีอุปาทาน แบบนี้พวกเข้าฌานก็จะประมาทไป

แต่ถ้าขันธ์เนี่ยมันตั้งอยู่ทนโท่
เมื่อไรที่ไม่ได้ไม่กำหนดรู้
เมื่อนั้นคือไม่รู้ทุกข์ (มันคือไม่ทำเหตุแห่งการพ้นทุกข์) สมุทัยจึงละไม่ได้
และยังถือว่ามีเหตุแห่งทุกข์ (และทุกข์) อยู่ตราบนั้น เพราะการรู้มันยังไม่ "สมบูรณ์"

วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

ปหานะ

ในทางบาลี แปลว่า ทำให้มันหมดเหตุ

ธรรมควรละ - สมุทัย
เหตุของสมุทัย คือ การไม่รู้ทุกข์
การไม่รู้ทุกข์ ย่อมก่อสมุทัย และก่อทุกข์

ทุกข์เป็นของเกิดดับ จึงยึดไม่ได้
สมุทัยเป็นของเกิดดับ จึงละไม่ได้
ควรละ คือ ควรละความเห็นผิดในสมุทัย 

ให้รู้ว่าเป็นของควรละ แต่ไม่ต้องละมัน

วันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

ตัณหาอยากกินก๋วยเตี๋ยว

อยากกินก๋วยเตี๋ยว ~~~

ความอยากเกิดขึ้นมาละ
กำหนดว่าไม่เที่ยง

จากนั้นก็อดทน ดูว่ามันจะต้องดับไป
จะดับจิงอ่ะ?
จริงสิ
เราแค่อยู่เป็นพยานการดับไปของมัน

มัดมือมัดเท้าไว้อย่าเพิ่งไปกิน
นี่ก็เป็นการประกอบความเพียร
ความเพียรในการรู้ชัดว่านี่คือทุกขสมุทัย
รู้ชัดคือต้องเห็นว่ามันดับ

เบื้องแรกชี้ก่อน นี่เป็นเหตุเกิดทุกข์
ถัดมาก็ต้องชี้ได้ว่า นี่เป็นของที่ต้องดับไป

คือถ้าไปทำตามมันเลยนี่จะไม่เห็นว่ามันดับไป อันนี้จะรู้ไม่ชัด
ถ้างั้นคือเราปฏิบัติไม่ถูกต่อตัณหา

ต้องอยู่เป็นพยานว่ามันดับไป จึงจะชัดเจน

ไปกินก๋วยเตี่ยวไปนิพพานได้มั้ย?
มันไม่เกี่ยวกับก๋วยเตี๋ยว
แต่การไปทำตามตัณหามันไปนิพพานไม่ได้ !

ระหว่างก๋วยเตี๋ยวกับนิพพานเลือกอะไร?
เสียดายก๋วยเตี๋ยว?
ไม่เกี่ยวกะก๋วยเตี๋ยว ไว้หายอยากค่อยไปกินก็ได้ แต่ตอนอยากอยู่เนี่ยถ้าไปกินจะไม่เห็นตัณหาดับไป

ก็ดูว่าตัณหา ขนาดแค่เกิดในใจยังสร้างทุกข์ขนาดนี้
ถ้ามันเกิดไปสร้างรูปใหม่มาจะทุกข์ขนาดไหน

ดูความเร่าร้อนในใจ ให้รู้ว่านี้เป็นเหตุเกิดทุกข์
และให้รู้ว่านี้เป็นของที่ต้องหมดไป
ดูดีๆ ตอนมันหาย "วับ" ไป
ความทุกข์ในใจที่กระวนกระวายหายไปด้วย
ก็จะรู้จักความดับทุกข์ เพราะตัณหาดับ

ไม่ใช่ฟังเพลงไปด้วย สักพัก อ้าว หายแล้ว อันนี้ไม่เห็นดับ จะเห็นไม่ครบสัจจะ

ถ้าชำนาญแป๊บเดียวก็ดับ
ถ้าไม่ชำนาญ 5-10 นาทีถึงจะดับ

แต่มันยากนะ !!
หน้าที่เราไม่เกี่ยวกับยากง่าย หน้าที่เราคือเจริญมรรคให้มั่นคง เยอะๆ เข้าไว้
ชัดเจนในมรรคไว้

#อดทนเป็นพยาน เพื่อรู้ชัดว่ามันไม่เที่ยง

2255 ตอบปัญหา

วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

โคลงทุกข์สี่สุภาพ ๒

Cr. รังสิมันต์
รูป..ปานสมบัติใบ้                 ชอบ-ชัง
รส..ซ่านหวานว่ายัง               เจื่อนได้
กลิ่น..หอมย่อมกำลัง              จางกลิ่น
เสียง..สื่อสรรพสิ่งไร้               สิ่งรั้งยั่งยืน

หลง.. ลักษณ์ ลวง เล่ห์ ลิ้น หลากล้วนหลอกหลอน

Cr. ฉัตรปกรณ์
เกิดมารับทุกข์แล้ว                รู้ยัง                                          
มัวแต่หลงวัฏฏัง                   แต่งต้อง                                    
ทุกข์เกิดแต่กายัง                  แรกเริ่ม                                    
เราอาจลืมทุกข์พ้อง               แรกร้องอุแว

Cr. ธนพร
ใจเจ็บกายย่อมสิ้น                เรี่ยวแรง
มืดบอดก่อกาแพง                 ปิดกั้น
ระทมไม่ชี้แจง                     ว่างเปล่า
ถึงผิดยังดื้อรั้น                     ไม่รู้ตักเตือน

เหมือนจับหินเหล็กร้อน           บีบกำ
เจ็บปวดเพราะตนทำ             เหนี่ยวไว้
สุขทุกข์เราเลือกจำ                ลิขิต
ปล่อยทุกข์ที่ถือไว้                 ย่างข้ามผ่านไป

Cr. คนเขียนค่าว เมากะโลง
ทุกข์คือหนึ่งเพื่อนแท้....เกิดมา
ทุกข์ยิ่งสิ่งธรรมดา........คู่แท้
เรียนรู้ทุกข์ทุกเวลา.......ค่ายิ่ง
ทุกข์ห่างเพียงรู้แก้........เหตุนั้นทุกข์มี
Cr. ทันย่า วิลล่า
๏ ปลายสายของสุขแล้                 แลทุกข์
ปลายหนึ่งสนานสนุก                   เหนี่ยวรั้ง
อีกปลายอาจแปรสุข                    เปลี่ยนสิ่ง สลับนา
กลายโศกกำสรดครั้ง                    ผิดพลั้งไผลเผลอ ๚

๏ เจอทุกข์รู้ทุกข์ไว้                      สังวร
ให้ทุกข์เป็นครูสอน                      สั่งไซร้
หาคำตอบตัดตอน                        เริ่มแต่ จิตเฮย
พรากสุขพบทุกข์ไร้                      มนัสรู้อาตม์มนา ๚

๏ สาวหาสาเหตุต้น                     ปลายสาย
ถือมั่นอยู่มากมาย                        หม่นไหม้
วางลงจึ่งคลี่คลาย                        ขันธ์นี่ เปล่านอ

หมดทุกข์หมดโศกได้                    ละถ้วนอุปาทาน ๚ะ๛

โคลงทุกข์สี่สุภาพ ๑

ผูกหนึ่ง     ความสุข

ชุดโคลงถูกผูกขึ้น                  มาสาม
ความสุข ความทุกข์ ความ-       ว่างไว้
อิงแนวอัตถ์ลงตาม                 สัตถุ-   ศาสน์แฮ
ถูกอรรถผิดพยัญชน์ไท้            อ่านแล้วจงลืม

ยอจิตอภิวาทน้อม                 พุทธองค์
นมัสวรธรรมทรง                  ตรัสรู้
นมามิพระสงฆ์                    พหูสูต
จงนิวรณ์อย่าสู้                    อุดอั้นปัญญา
    
ตถาคตภาษิตชี้                    เวทนา
สุข ทุกข์ อุเบกขา                 หนึ่งนั้น
จักบังเกิดทุกครา                  ผัสสะ
เป็นภพเป็นกรรมกั้น              สัตว์ไว้ในวน

ผัสสะเกิดเมื่อพร้อม               ปัจจัย
อายตนะนอก ใน                  จิตด้วย
ครบสามกระทบไป                เป็นกฏ
ตราบชาติจนชีพม้วย              กลับฟื้นคืนเวียน

ณ คราวลอยน้ำคร่ำ               นานเดือน
สายรกยึดโยงเรือน-               ร่างวุ้น
ลำเลียงธาตุมาเตือน               นามรูป   เกิดนา
หูเปิดเสียงกระตุ้น                 สุขคุ้นมารดา

เปิดตาดูโลกครั้ง                   ยังเยาว์
สุขรูปคือมาตุเรา                  ท่านยิ้ม
โอบสัมผัสหนักเบา                ถนอมเห่ กล่อมแฮ
หอมอร่อยเกษียรลิ้ม              อิ่มพริ้มมโนนอน          

เพลินหลงจนใหญ่เข้า             วัยฉกรรจ์
เบญจกามคุณพันธ์                สุขข้อง
ตาจักฉุดอาตมัน                   หารูป งามแล
รูปไม่งามเนตรต้อง                ติล้วนชวนแขยง

กายหูจมูกลิ้น                     เหมือนตา
เพราะบ่มเพาะกันมา              เยี่ยงนั้น
จักฉุดวิจิตรอา-                    รมณ์สู่ กันแฮ
อึดอัดอยากหลีกครั้น              เมื่อพ้องอจิตรา

กลางคนจนเสพรู้                  สัจธรรม
สุขจากเครื่องล่องำ                สัตว์ไว้
วินิบาตนรกจำ                    ทุคติ อบายเอย
สุขปราศเครื่องล่อไซร้             อาจเปลื้องภพลง

สติปัฏฐานสี่นี้                     กุศลกอง
กำจัดอกุศลผอง                   ทิศแล้ว
รู้กายเท่ากับครอง                 อุเบก-ขาแล
เป็นอยู่อนามิสแพร้ว              บทแผ้วสุญญตา.
                         

ผูกสอง ความทุกข์
ทุกข์คือทนได้ยาก                 จำปลง
สรรพเกิดย่อมตายลง              สุดแก้
ทั้งจิต รูป นามผจง               คงนิ-  โรธแฮ
เพราะเกิดจึงดับแล้                แน่แท้ธรรมดา

ทุกข์เพราะรูปแก่เข้า              วัยชรา
ความเสื่อมของหูตา               จมูกลิ้น
ผิวกายย่นยวบปรา-               กฏอยู่
อาพาธก็รุมดิ้น                    ไม่พ้นกลไก

ทุกข์เพราะตายบีบคั้น            เกินทน
จะยากดีมีจน                      สุดลี้
ทุกภพที่มีตน                      ยึดอยู่
สุคติทุคตินี้                        ต่างล้วนกลัวตาย

ยามสุขไม่เที่ยงแล้ว               ดับลง
ความดับคือทุกข์ตรง              สภาพนั้น
ทุกข์อีกอื่นธำรง                   โสกะ   โศกแล
สุดปริเทวะกลั้น                   ร่ำไห้โพยพาย

เพราะโทมนัสขัดแค้น             เสียดาย
ความอิ่มเอิบใจกาย               เปลี่ยนขั้ว
ปรวนแปรเสื่อมคลอนคลาย     โดยสม่ำ   เสมอนา
เป็นอุปายาสกลั้ว                  เหี่ยวแห้งขัดเคือง

การพลัดพรากสิ่งต้อง-            ใจรัก
ปิยวิปโยคชัก                      ทุกข์กล้า
สัมปโยคอัปรีย์ดัก                    จิตตก  นรกแฮ
เพราะสบของเกลียดอ้า             โกรธขึ้นในทรวง

ปรารถนาใดไม่ได้                 ครองมา
คืออิจฉาวิฆา-                     ตะช้ำ
เป็นทุกข์ที่นานา                  ภพประ-   สบแฮ
รวมทุกข์ทุกแบบกล้ำ             ตอกย้ำอัตตา

สรุปสังเขปแล้ว                    ทุกข์คือ
ความอุปาทานถือ                 มั่นไว้
ในปัญจขันธ์ฤๅ                    รูป เวท-   นาแล
สัญญะ สังขารไหม้                จิตด้วยยางตัณห์

เวทนาทุกอย่างล้วน               รวมลง
ในทุกขสัจจ์ยง                     ยั่งพื้น
สุข ทุกข์ อุเบกข์ปลง              ลงทุกข์   ยืนแล
เพราะเกิดจึงดับฟื้น               ดับฟื้นโดยกรรม    

สุข ทุกข์ กรรมไม่ได้               ลอยลอย เกิดเอย
มิใช่ตนเองคอย                    เกิดให้
หรือคนอื่นมาพลอย               ทำยิ่ง   เท็จนา
เกิดเพราะผัสสะไสร้               เพ่งเฝ้าตามดู.

ผูกสาม ความว่าง

นิยามความว่างด้วย               วรธรรม
ธ กล่าวสุญญตากำ-               หนดต้อง
สัมมาสมาธินำ                     ในจิต
ฌานหนึ่งสองสามคล้อง           สี่พ้องวิญญาณ
    
วิญญาณคือจิตนั้น                 คือมโน
สุดแต่เรียกในโอ-                  กาสอ้าง
วิชานาติก็โบ-                     ราณเรียก
แปลว่าความรู้กว้าง               แจ่มแจ้งอารมณ์

อารมณ์คือรูปทั้ง                  เวทนา
สัญญะ สังขารา                   สี่ข้อง
รวมจิตเรียก"ปัญจา-              ขันธ์"ที่   ยึดแล
"สิ่งหนึ่ง"หลงขันธ์ต้อง             เรียกเจ้า"สัตตา"

สัตตาปางอยากพ้น                สงสาร
ฟังสุตตะในวาร                    ชอบแล้ว
ทำมนสิการ                       จิตมุ่ง   มรรคแฮ
วิมุตติสุญญัตแก้ว                  เริ่มต้นโดยฌาน

ฌานคือการเพ่งด้วย               สติชอบ
จนเกิดสมาธิรอบ                  สี่ขั้น
วิตก วิจารกอปร                  ปีติ   สุขนา
เอกัคคตาดั้น                      สลับรู้เบญจางค์

ฌานหนึ่งว่างชั่วกลั้ว              ในใจ
ความคิดอกุศลไป                  หมดห้วน
กาม พยาบาทละใน               การเพ่ง
ความคิดเบียดเบียนด้วน          ตริล้วนมวลธรรม

ฌานสองว่างตรึกทั้ง               วิตก
และวิจารก็ยก                     ออกได้
เหลือปีติ สุขปรก                  ในจิต
เอกัคคตาให้                       สลับรู้ไตรยางค์

ฌานสามว่างจิตพ้น               ปีติ
เหลือสุขในสมาธิ                  แวดล้อม
เป็นสุขเสพมากมิ                  ควรหวั่น-   เกรงนา  
เอกัคคตาน้อม                     สลับรู้ทวิยางค์

ฌานสี่ว่างสุขรู้                    วิเวก
ทรงอุเบกขาเอก-                  อัคคต์เบ้า
ไม่สุขไม่ทุกข์เฉก                   อุเปก-   ขาแล
จิตเกาะรูปปราณเข้า              ออกนี้อารมณ์
     
ในฌานทั้งสี่นั้น                    ตามดู
ขันธ์สี่และจิตตู                    เกิดม้วย
เกิดดับเกิดดับพรู                  จนเบื่อ   คลายแฮ
ความว่างจักโพลงด้วย             สัจจ์ข้ออนัตตา.
     
                                    ศราพก