วันอาทิตย์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2567

สมาธิในทางพุทธศาสนา

สมาธิในทางพุทธศาสนา ยิ่งสูง ยิ่งต้องประกอบองค์เข้ามาให้มากขึ้น

เมื่อละวิตกวิจาร ต้องประกอบความผ่องใสแห่งใจในภายในขึ้น 
เพื่อให้จิตมีทิศทาง ไม่งั้นจะจมปีติ สุข 
ความผ่องใสแห่งใจในภายใน นั่นคือศรัทธาในปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

เมื่อปีติสิ้นไป เหลือสุข จะแช่นิ่งเฉย
สติและสัมปชัญญะในขั้นตอนนี้จึงสำคัญ (เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข)


วันพฤหัสบดีที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567

นานามานะ

  • มานะ ความสำคัญตน ยกตน เชิดชูตน ให้เป็นที่รู้จัก มีลักษณะเชิงเปรียบเทียบเราเขา มีลักษณะว่ามีเราอยู่ในรูป มีเราอยู่ในเวทนา มีเราอยู่ในสัญญา มีเราอยู่ในสังขาร มีเราอยู่ในวิญญาณ แต่เป็นการมีเราในลักษณะที่มีความสำคัญแบบมานะ ก็คือมีเราสำคัญกว่าคนอื่น คำว่ามีเราสำคัญกว่าคนอื่นนี้อาจจะอาศัยรูปก็ได้ เช่น เราแข็งแรงกว่าผู้อื่น (แต่ถ้าทิฏฐินี่จะไม่มีการไปเปรียบเทียบอะไรกับใคร มีเราเป็นก้อน เป็นแท่ง เป็นศูนย์กลางของทุกอย่าง ของทุกเรื่อง) หรือสำคัญเอาสังขาร เช่น เรามีสติปัญญาดีกว่าคนอื่น สำคัญตน อยากให้ตนเป็นคนสำคัญ อยากให้ตนเป็นที่รู้จัก มีตนเทียบกับคนอื่นโดยอาศัย รูปร่างหน้าตา ชาติกำเนิด วิทยฐานะ ภูมิความรู้ ฯลฯ เราหน้าตาดีกว่าเขา เราเป็นคนไทยเสมอกัน ลูกเธอจบนอกเหมือนลูกฉันเลย
  • มานะ 3
    • เราสูงกว่าเขา
    • เราเสมอเขา
    • เราด้อยกว่าเขา
  • มานะ 9 : เอามานะ 3 ไปสำคัญอีกต่อนึง (เป็นสำคัญแบบ ถูก 1 ผิด 2)
    • เราสูงกว่าเขา →สำคัญตนว่าสูงกว่า เท่ากัน ด้อยกว่า
    • เราเสมอเขา → สำคัญตนว่าสูงกว่า เท่ากัน ด้อยกว่า
    • เราด้อยกว่าเขา → สำคัญตนว่าสูงกว่า เท่ากัน ด้อยกว่า
    • สำหรับอันที่สำคัญแบบผิดนี้ โสดาปัตติมรรคจะละได้
    • ส่วนอันที่สำคัญแบบถูก อรหัตมรรคจึงจะละได้
  • มานะ สำคัญตนด้วยอะไร ละได้ด้วยมรรคนั้นๆ
    • สำคัญแบบไม่ตรงกับความเป็นจริง
      → ละได้ด้วยโสดาปัตติมรรค
      จะแยกทิฏฐิกับมานะออกชัดก็ต่อเมื่อเป็นโสดาบัน ก่อนหน้านั้นมันจะเหมือนปนๆ กัน แต่จริงๆ ทิฏฐิกับมานะไม่ได้เกิดด้วยกัน แยกกันเกิดตลอด
    • สำคัญตนด้วยกาม เช่น รูปร่างกาย ทรวดทรง ฉันตาดีกว่าเธอ ฉันมีเงินมากกว่า
      → เบาบางด้วยสกทาคามิมรรค และละได้ด้วยอนาคามิมรรค
    • สำคัญตนด้วยคุณธรรม
      → ละได้ด้วยอรหัตมรรค
  • มานะอื่นๆ
    • อติมานะ - ความดูหมิ่นชาวบ้าน (สำคัญตัวเกินไปจนดูหมิ่นชาวบ้าน) 
      ฉันอายุมากกว่าแกยังแข็งแรงกว่าแก
    • มานาติมานะ - มานะที่สำคัญว่าเราเสมอเขาในตอนต้นและดูหมิ่นเขาในตอนปลาย
      • ตอนที่ไม่ค่อยรู้จักกันก็จะเหมือนคนทั่วไป คือเรากะเขาเสมอกัน พอรู้จักกันนานๆ มักจะคิดว่าเราดีกว่าชาวบ้าน
    • โอมานะ - ดูหมิ่นตัวเอง แบบนางเอ๊กนางเอก ฉันมันด้อยเธอดีนะเรียนแป๊บเดียวก็เข้าใจ, เธอยังโชคดีนะทำนิดเดียวได้ตั้งเยอะ ฉันทำแทบตายได้ 350 
    • อธิมานะ - สำคัญตนว่าได้บรรลุชั้นใดชั้นหนึ่ง การสำคัญตนว่าได้บรรลุนี้จะมีกับคนที่ศีลดี ปฏิบัติขยันหมั่นเพียร
      • ถ้าได้สมาธิ หรือวิปัสสนา อย่างใดอย่างเดียว อาจจะสำคัญตนว่าได้บรรลุเป็นโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี ชั้นใดชั้นหนึ่ง (ไม่สำคัญว่าบรรลุอรหันต)
        • ถ้ามีแค่สมาธิ ก็จะสงสัยเรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่ แต่ไม่มีราคะไม่มีโทสะ ก็อาจจะสงสัยว่าตนเป็นอนาคามี
        • ถ้ามีแต่วิปัสสนา ก็จะยังมีกิเลสนั่นนี่แทรกมาเรื่อย จะไม่นึกว่าตนเป็นอรหันต์
      • ถ้าได้ทั้งสมาธิและวิปัสสนา เก่งทั้งสองทาง เมื่อเกิดมานะมักจะสำคัญว่าได้บรรลุอรหันต์ กิเลสไม่มี แถมไม่สงสัย เข้าใจทุกสิ่ง
    • อัสมิมานะ - สำคัญว่ามีเรา (อัสมิ = มีเรา)
    • มิจฉามานะ - สำคัญตัวจากสิ่งที่ผิด ตัวเองน่ะผิดเลวกว่าเขา แต่เอาสิ่งเลวๆ นี้มายกตนข่มคนอื่น เป็นมานะที่อาศัยสิ่งไม่ดีมาเป็นมานะ ฉันด่าคนได้เจ็บมาก เธอสู้ฉันไม่ได้ เช่น คนมีมิจฉาทิฏฐิชอบมีพิธีรีตอง ฉันผ่านพิธีมาแล้ว. อาศัยการงานในเรื่องฆ่าสัตว์ ฉันฆ่าสัตว์เก่งกว่าเธอหลายเท่า เธอไม่เห็นจะได้เรื่อง ฉันโกหกเก่งจนคนอื่นจับไม่ได้ ฉันด่าคนได้แสบมากจนไม่มีใครกล้าต่อกรกะฉัน
  • ตัวอย่าง เอาวิญญาณมาเป็นมานะ เช่น ฉันไปเมืองจีนแล้วฉันได้ดูแพนด้าแกไม่ได้ดู เรามีวิญญาณแล้วเอาวิญญามาเทียบแล้วดีกว่าชาวบ้าน


    เราสามารถมองเห็นสัตว์โลกเกิดดับนับพัน เราก็มีความเพียรเต็มที่ เหตุไรเราจึงยังไม่บรรลุ
    เราก็เห็นสัตว์โลกเกิดดับนับพัน อันนี้คือมานะของท่าน
    เราก็มีความเพียร อันนี้คือความฟุ้งซ่านของท่าน
    ทำไมเราจึงยังไม่บรรลุ อันนี้คือกุกกุจจะของท่าน

    วันจันทร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2567

    ว่าด้วยหลักสูตร

    หลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกบาลีควรเป็นไปในทิศทางใด ควรปรับปรุงจริงหรือไม่?
    ...
    ขอนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้า พระธัมมเจ้า พระสังฆเจ้า คณาจารย์ผู้สืบทอดพระพุทธพจน์มาจนถึงยุคสมัยปัจจุบัน และครูบาลีทุกแผนกในสยามประเทศ ทั้งบาลีใหญ่ บาลีสนามหลวง และบาลีสากล โดยไม่แบ่งแยก เนื่องจากการศึกษาบาลีในแง่มุมดังกล่าวมานี้ล้วนแต่เกื้อกูลแก่การเรียนพระพุทธพจน์ทั้งสิ้น ฯ ข้าพเจ้าจะกล่าวถึงหลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกบาลีแบบปัจจุบันในสยามประเทศ เพื่อความเข้าใจอันดีของบุคคลทั่วไป ฯ
    .
     ก่อนจะแสดงทัสสนะว่าหลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกบาลีควรเป็นไปในทิศทางใด ควรปรับปรุงจริงหรือไม่ สิ่งที่จำเป็นต้องเข้าใจคือหลักสูตรนี้สอนอะไร สิ่งใดคือจุดเด่นและสิ่งใดไม่ใช่จุดเด่นในหลักสูตรนี้ ข้อความเรื่องหลักสูตรฯ ดังต่อไปนี้ มาจากประสบการณ์ของคนที่ใช้ชีวิตอยู่กับหลักสูตรนี้มากว่าครึ่งชีวิต เป็นนักเรียนบาลีศึกษาในหลักสูตรนี้นาน ๑๐ ปี เมื่อเรียนจบแล้วก็เป็นครูสอนบาลี วิทยากรอบรมบาลี และกรรมการสอบบาลีศึกษา นอกจากนี้ ยังได้ผ่านการเรียนบาลีในแง่มุมอื่น คือ หลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิต (ภาษาบาลีและสันสกฤต) อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต (ภาษาบาลี-สันสกฤต และพุทธศาสนศึกษา) และทำงานด้วยภาษาพระปริยัติธรรมอื่นที่มิใช่ภาษาบาลีอีกด้วย
    .
     โดยสรุป หลักสูตรบาลีสนามหลวงคือหลักสูตรที่สร้างพื้นฐานอันดีในการศึกษาพระพุทธพจน์อย่างเป็นขั้นเป็นตอน 
    .
    - เริ่มต้นตั้งแต่สอนบาลีไวยากรณ์ฉบับ simplified ที่ปรับให้มีระบบคล้ายกับตะวันตก ไม่ใช่ไวยากรณ์ตามจารีตบาลีใหญ่ และไม่ใช่ไวยากรณ์ที่อิงภาษาศาสตร์แบบบาลีสากล แต่เป็นทางลัดที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้เรียนรู้และฝึกแปลได้โดยใช้เวลาไม่นานนัก (เมื่อเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ได้แล้ว จะไปเรียนบาลีในมุมอื่นๆ เพิ่มเติมก็จะเป็นประโยชน์ยิ่งขึ้น) 
    .
    - สอนเรื่องความสัมพันธ์ (syntax) เพื่อใช้ในการแปล
    .
    - สอน “วิธีการเข้าถึงพระไตรปิฎก” อันประกอบไปด้วยพระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม แม้ว่าจะมิได้เรียนเนื้อหาในพระไตรปิฎกทั้งหมด แต่ก็เป็นการเรียนอรรถกถา (อธิบายความในตัวบทพระไตรปิฎก) และคัมภีร์อธิบายชั้นรองลงมา (ฎีกา อนุฎีกา ปกรณ์วิเสส) ที่จำเป็นต้องทราบเนื้อหาจากพระไตรปิฎกบาลีในฐานะที่เป็นตัวบท 
    .
    ๐ ชั้น ป.ธ.๔ / บ.ศ.๔ เริ่มเรียนคัมภีร์มังคลัตถทีปนี (พระสิริมังคลาจารย์ ชาวล้านนา รจนา) ภาค ๑ เป็นวิชาแปลมคธเป็นไทย นี้คือก้าวแรกที่เป็นการประมวลความรู้ไวยากรณ์ วากยสัมพันธ์ และการแปลเข้าด้วยกันเพื่อจะศึกษาพระไตรปิฎก เนื่องจากคัมภีร์นี้รวมทั้งข้อความจากพระไตรปิฎก รวมทั้งอรรถกถาที่แก้ข้อความนั้นๆ และคัมภีร์อธิบายชั้นรองลงมา อย่างเป็นระบบ พร้อมทั้งอ้างอิงที่มา (อาคตสถาน) 
    นี้คือขั้นตอนที่ฝึกฝนให้นักเรียนในหลักสูตรนี้สามารถศึกษาพระไตรปิฎกเถรวาท โดยเฉพาะพระสุตตันตปิฎก ในเชิงลึกที่ประกอบด้วยการค้นคว้าคัมภีร์อธิบายในเรื่องนั้นๆ ได้ “ด้วยภาษาบาลีที่บันทึกพระไตรปิฎกเถรวาท” แตกต่างจากการอ่านพระไตรปิฎกฉบับแปลภาษาไทยที่ต้องอาศัยผู้รู้บาลีแปลมาให้อ่าน และผู้อ่านอาจติดขัดในการค้นคว้าด้วยข้อจำกัดทางภาษา 
    .
    ๐ ชั้น ป.ธ.๖ / บ.ศ.๖ เริ่มเรียนคัมภีร์สมันตปาสาทิกา อรรถกถาอธิบายพระวินัยปิฎก (พระพุทธโฆสะ ชาวอินเดีย รจนา) ทำให้นักเรียนได้ศึกษาพระวินัยปิฎกในประเด็นต่างๆ พร้อมทั้งคัมภีร์อธิบายในเรื่องนั้นๆ เพื่อนำไปศึกษาค้นคว้าต่อยอดทางพระวินัย
    .
    ๐ ชั้น ป.ธ.๙ / บ.ศ.๙ เริ่มเรียนคัมภีร์อภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา (พระสุมังคลเถระ ชาวลังกา รจนา) หนังสืออธิบายพระอภิธัมมัตถสังคหะ สามารถนำไปศึกษาค้นคว้าต่อยอดเรื่องพระอภิธรรม
    .
    - สอนการแต่งฉันท์ (ป.ธ.๘ / บ.ศ.๘) และการสอนการแต่งภาษาบาลีให้สละสลวย (ป.ธ.๙ / บ.ศ.๙)
    .
     จุดเด่นของหลักสูตรนี้คือการเน้นเรื่องภาษาและการแปล (เช่น แปลมคธเป็นไทย แล้วนำกลับมาแปลไทยเป็นมคธ) ทำให้นักเรียนผู้ผ่านหลักสูตรนี้มีพื้นฐานทางภาษาแข็งแกร่งเป็นกุญแจนำไปสู่การค้นคว้าพระไตรปิฎกได้ และเป็นหลักสูตรที่ผลิตนักแปลให้คนไทยอื่นๆ สามารถศึกษาพระไตรปิฎกได้ในภาษาไทย 
    .
     นอกจากหลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ข้าพเจ้าได้มีโอกาสเห็นหลักสูตรพระปริยัติธรรมภาษาทิเบตในวัดที่ตนเองอยู่ และเห็นจุดเด่นที่แตกต่างอย่างชัดเจน 
    - นักเรียนพระปริยัติธรรมในวัดทิเบต (นิกายณิงม่า) เรียนพระปริยัติธรรมด้วยภาษาทิเบต เรียนพุทธปรัชญาต่างๆ ตรรกะ และหัวข้อธรรมะที่แตกต่างจากนักเรียนบาลีในไทย สามารถโต้วาทะธรรม (debate) ได้ พวกท่านไม่ได้เรียนพระพุทธพจน์ปิฎกทิเบตทั้งหมด ๑๐๐ กว่าเล่ม แต่เรียนเนื้อหาสำคัญตามหัวข้อที่กำหนดไว้ การที่ท่านเรียนเนื้อหาได้เช่นนี้ เพราะพวกท่านไม่ต้องใช้เวลามาเรียนภาษาดังที่นักเรียนพระปริยัติธรรมในไทยต้องทำ นี้คือหลักสูตรที่มีจุดเด่นด้านเนื้อหา แต่ไม่ใช่หลักสูตรผลิตนักแปลคัมภีร์
    - นักเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีในไทย ต้องลงทุนเวลาสร้างพื้นฐาน เรียนภาษาและฝึกฝนทักษะการแปล นี้คือหลักสูตรที่มีจุดเด่นด้านภาษาและการแปล ผลิตนักแปลคัมภีร์ไปพร้อมกับการเรียนเนื้อหา ส่วนด้านเนื้อหานั้น เมื่อจบ ป.ธ.๙ / บ.ศ.๙ สามารถค้นคว้าได้ตามที่ตนเองสนใจ
    .
    จากที่กล่าวมานี้ การจะสร้างหลักสูตรที่มีจุดเด่นทั้งด้านการแปลและด้านเนื้อหาพร้อมกันจึงเป็นไปได้ยาก นักเรียนไม่สามารถเรียนทุกสิ่งทุกอย่าง “ในเชิงลึก” พร้อมกันได้ในขณะเดียวกัน หากท่านต้องการให้หลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกบาลีเน้นด้านเนื้อหาทั้งหมดในพระไตรปิฎก ก็ควรคำนึงถึงว่าจะเพิ่มเติมสิ่งนี้เข้ามาโดยที่สามารถรักษาจุดเด่นด้านภาษาและการแปลไว้ได้อย่างไร แต่การสร้างทักษะด้านการแปลเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ไม่ใช่ว่าเรียนแล้วจะทำได้ในทันทีทันใด 
    .
    อนึ่ง เนื่องจากภาษาไทยเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา คำแปลเดิมเข้าใจยากสำหรับคนยุคต่อไป จึงจำเป็นต้องผลิตนักแปลเพื่อสื่อสารส่งต่อพระพุทธพจน์ถึงคนรุ่นต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ การเรียนเนื้อหาในพระไตรปิฎกเป็นเรื่องดี แต่เราจำเป็นต้องผลิตนักแปลให้คนอ่านคำแปลเนื้อหาในพระไตรปิฎกรู้เรื่องด้วย และจำเป็นต้องมีหลักสูตรการศึกษาเช่นนี้ไว้รองรับผู้ที่ต้องการจะศึกษาเนื้อหาในพระไตรปิฎกเป็นภาษาบาลีได้โดยใช้เวลาไม่นานและอยู่กึ่งกลาง ไม่ใช่การศึกษาแบบจารีตทั้งหมด และไม่ใช่สากลทั้งหมด แต่สามารถจะเชื่อมโยงกับการศึกษาแบบจารีต และศาสตร์อื่นที่เป็นสากล เช่น ภาษาศาสตร์ที่มีผลต่อการตีความคำศัพท์บาลี ประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ภูมิศาสตร์ที่มีผลต่อการเผยแผ่พระศาสนาและพระวินัย ฯลฯ
    .
    ข้าพเจ้ามิได้คาดหวังว่าหลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกบาลีจะต้องมีทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่อเราเข้าใจวัตถุประสงค์เฉพาะของหลักสูตรนี้ ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะนำความต้องการส่วนตนไปเรียกร้อง เมื่อข้าพเจ้าต้องการศึกษาสิ่งที่ไม่มีในหลักสูตรนี้ ข้าพเจ้าก็ไปศึกษาตามหลักสูตรนั้นๆ ต่างหาก พวกเรามีเสรีภาพทางการศึกษา ไม่มีใครสามารถห้ามพวกเรามิให้เรียนวิชาใดๆ ได้มิใช่หรือ? 
    .
    เมื่อเห็นว่ามีสิ่งอื่นที่นักเรียนควรทราบเพิ่มเติมจากหลักสูตร ครูผู้สอนก็สามารถสอนเพิ่มเติมได้ทันทีแม้ว่าจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงหลักสูตรก็ตาม เมื่อข้าพเจ้าสอนนักเรียนในแผนกบาลี บางครั้งข้าพเจ้าก็บอกนักเรียนว่าการสร้างคำนี้ ตำราในหลักสูตรเรามองว่าอย่างนี้ แต่หากวิเคราะห์ด้วยบาลีแบบสากล จะมีมุมมองอีกอย่างหนึ่ง คนสอนเพียงแต่นำเสนอให้ทราบไว้ว่าผลลัพธ์เดียวกันนี้ ทฤษฎีต่างกันทำให้มีมุมมองและวิธีการหาคำตอบต่างกัน แต่นักเรียนจะเชื่อตามทฤษฎีใดนั้นเป็นการตัดสินใจของนักเรียนเอง
    .
    การวัดคะเนว่าหลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกบาลีมีเนื้อหาพระไตรปิฎกกี่เปอร์เซ็นต์เป็นเรื่องที่ทำยาก มิใช่เพียงแต่ดูหัวข้อแล้วเทียบเปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่ยังต้องดูเนื้อหาทุกเล่ม “แต่ละเรื่อง แต่ละคำ” ซึ่งอยู่ตามที่ต่างๆ ในพระไตรปิฎกด้วย และจะวัดค่ากันเป็นอักษรใด อักษรไทย อักษรโรมัน อักษรเทวนาครี หรืออักษรอื่น? จะวัดค่ากันเป็นหน้าตามหน้าฉบับใด เมื่อพระไตรปิฎกบาลีมีฉบับพิมพ์เผยแผ่หลากหลายที่มิใช่แต่พระไตรปิฎกบาลีในไทยอย่างเดียว
    .
    การศึกษาพระไตรปิฎกเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง แต่หนทางธรรมไม่อาจวัดค่าได้ด้วยตัวเลข จริงอยู่ว่าเราต้องรักษาเนื้อหาพระพุทธพจน์ที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบันให้ครบถ้วนเท่าที่ได้รับมาและส่งต่อสู่คนรุ่นต่อไป แต่มิได้หมายความว่าทุกผู้คนบนหนทางธรรมจะต้องเรียนทุกศาสตร์ทุกสิ่งในพระศาสนานี้ แต่ละคนสามารถเรียนและปฏิบัติตามความถนัด ความสนใจ และจริตของตน แม้มิได้เจนจบทุกคำสอนในบรรดา ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แม้จะศึกษาเพียงคำสอนเดียว แต่หากปฏิบัติให้ความโลภ โกรธ หลง ลดน้อยลงจนกระทั่งสิ้นสุดได้ ผู้นั้นก็ชื่อว่าสืบทอดคำสอนของพระพุทธเจ้าโดยแท้จริง มิพักต้องสงสัยและวัดค่าด้วยตัวเลขใดๆ
    .
    .
    ถึงผู้ที่เสนอให้ปรับปรุงหลักสูตร ขอขอบพระคุณสำหรับความคิดเห็นและน้ำใจปรารถนาดี แต่จะเป็นการดีกว่านี้หากการข้อเสนอในการปรับปรุงหลักสูตรจะมาจากบุคลากรและนักเรียนผู้ใช้ชีวิตอยู่กับหลักสูตรนี้เอง หากท่านผู้เสนอให้ปรับปรุงหลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกบาลีได้เข้ามาศึกษาหลักสูตรนี้ มองเห็นแจ่มแจ้งประจักษ์ถึงจุดเด่น จุดที่ควรแก้ไข วิธีที่ควรปรับปรุง และสามารถเสนอหลักสูตรที่ผลิตบุคลากรได้ทั้งด้านเนื้อหาและภาษาพร้อมกันในเวลาอันจำกัด เพิ่มเติมสิ่งสำคัญอื่นๆ โดยที่ยังคงจุดเด่นของการศึกษาหลักสูตรนี้ไว้ได้ ก็จะเป็นคุณูปการนัก แต่หากยังหาทางแก้ไขปัญหาด้วยวิธีนี้ไม่ได้ ก็มีวิธีอื่น คือนำเสนอหลักสูตรการศึกษาแบบอื่นที่เพิ่มเติมสิ่งสำคัญนอกจากหลักสูตรนี้ เพื่อผลิตบุคลากรตามวัตถุประสงค์เฉพาะ เป็นทางเลือกให้นักเรียนบาลีสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ตามความสมัครใจของตนเอง
    .
    ขออนุโมทนาในกุสลเจตนาของทุกท่านที่พากเพียรศึกษาคำสอนในพระพุทธศาสนาในแผนกต่างๆ และทุกท่านที่ปฏิบัติธรรมในสายการปฏิบัติต่างๆ พวกเราล้วนแต่ดำเนินตามคำสอนของพระพุทธองค์ “ตามจริตและหนทางที่เหมาะสมกับเรา” มิใช่จะมีทางใดดีกว่าทางใด และไม่จำเป็นต้องเปรียบเทียบกัน ในฐานะเพื่อนมนุษย์ เราเคารพเสรีภาพทางศาสนาของกันและกัน และในฐานะศาสนิกร่วมพระศาสนา เราเคารพคำสอนเรื่องความเมตตากรุณา มุ่งเน้นการเรียนการปฏิบัติของตนเอง และเคารพการเลือกหนทางธรรมของบุคคลอื่น
    .
    ด้วยบุญกุศลอันเกิดจากการชี้แจงนี้ ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จถึงที่สุดในด้านปริยัติและปฏิบัติตามหนทางที่ตนได้เลือกแล้วเถิด ฯ
    .
    ป.ล. วิทยานิพนธ์ ป.เอก ของข้าพเจ้า เรื่อง “พระสูตร 9 เรื่องใน BKA' 'GYUR และพระปริตรบาลี : การศึกษาเปรียบเทียบ (9 SUTRAS IN BKA' 'GYUR AND PALI PARITTAS: A COMPARATIVE STUDY)” ที่เป็นการศึกษาเปรียบเทียบพระสูตร 9 เรื่องในพระพุทธพจนปิฎกทิเบต กับพระปริตรบาลีที่คาดว่าเป็นต้นฉบับ สำเร็จได้เพราะความรู้ที่ได้เรียนมาจากทั้งหลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกบาลี, หลักสูตรภาษาบาลี-สันสกฤต และพุทธศาสน์ศึกษา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และศูนย์พุทธศาสน์ศึกษารังจุง เยเช ม.กาฐมาณฑุ ฯลฯ ข้าพเจ้ามิได้เรียกร้องให้หลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกบาลีต้องสอนทุกสิ่งแทนทุกหลักสูตรที่กล่าวมา ข้าพเจ้าเรียนหลักสูตรอื่นเพิ่มเติมจากพระปริยัติธรรมแผนกบาลีตามฉันทะของตนเอง และยังได้ใช้ความรู้จากหลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกบาลีเป็นพื้นฐานตั้งต้นสำหรับการศึกษาหลักสูตรอื่นๆ ด้วย
    ...
    ดร.สุกัญญา สุขธรรมิกา เจริญวีรกุล บ.ศ.๙, สำนักเรียนวัดสามพระยา
    ครูสอนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี สำนักเรียนวัดสามพระยา
    ๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๖๗ ณ กาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล