29-31 ส.ค.57
มีโอกาสได้สนทนากับพี่คนนึง
1. ได้ให้ข้อคิดของความแตกต่างระหว่าง "ผัสสะแล้วโกรธ แล้วพยายามที่จะไม่โกรธ" กับ "ผัสสะแล้วไม่รู้จะโกรธไปทำไม" อย่างแรก มันปฏิเสธการคงอยู่ของสภาวะ ปฏิเสธความจริง และสร้างความเสแสร้งขึ้นมา
2. ตั้งคำถามทำไมเราจึงห้ามตัวเองไม่ให้ทำนู่นทำนี่ไม่ดี เป็นเพราะลึกๆ รู้ดีว่า "มีสิทธิ์/มีโอกาสที่จะทำสิ่งไม่ดีอยู่นั่นเองใช่มั้ย" --- ใช่ค่ะ
3. ชี้ให้สังเกตุถึงเบื้องหลังของพฤติกรรมที่ไม่รู้ตัวหลายๆ อย่าง ให้เห็นว่าคนเราจริงๆ ถูกหลอกตลอดเวลาอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าใครมาตั้งใจหลอก แต่ด้วยกลไกตอบสนองต่างๆ ปมในใจที่ไม่รู้ถูกสร้างถูกสะสมมาตั้งแต่เมื่อไร พวกปฏิกิริยาที่ไม่รู้ตัวทั้งหลาย ให้ลองดูว่าบางครั้งเราตอบรับอะไรด้วยต้องการอะไรลึกๆ กันแน่ หรือการที่เรารีบปฏิเสธอะไรต้องการอะไรกันแน่ ของพวกนี้ต้องค่อยๆ แกะ
4. ตั้งคำถามว่า "เอาง่ายๆ เลย มีรูปพระหล่นอยู่ถามว่ากล้าเหยียบมั้ย" --- ไม่กล้าค่ะ, ที่ไม่กล้าเพราะให้ค่ามันใช่มั้ย การให้ค่าคือการยึดหรือเปล่า ทั้งๆ ที่เป้าหมายคือการวาง แต่กลับไม่ปล่อย อันนี้กำลังยึดอะไรอยู่ ทั้งนี้ที่ถามคำถามนี้ไม่ใช่ว่าให้ไปเหยียบจริงๆ อยู่ดีไม่ว่าดีย่อมไม่มีเหตุให้ไปทำอย่างนั้น แต่นี่เป็นคำถามวัดใจได้เลย
ขณะที่สนทนากับพี่เขา พบว่าเกิดการประเมินค่าในเนื้อหาโดยอัตโนมัติ แล้วกลายเป็นไม่ได้ฟังเท่าไร เนื้อหาเหล่านี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เคยได้ยิน เคยได้ยินและเห็นด้วยกับเนื้อความ แต่ขณะฟังกลับมีความสงสัยว่า ถ้าเห็นดีคล้อยด้วยขนาดนั้น ถามว่า "แล้วทำไมถึงเกิดแรงต้านที่จะปฏิบัติตาม เรากำลังป้องกันตัวจากอะไร"
กลับบ้านระหว่างนั่งสมาธิ ลองเอากลับมาทบทวนดู พบว่าเราเกิดปฏิกิริยากับคนพูด คือพี่คนนี้เป็นคนที่ให้เซนส์ของความไม่ปลอดภัย คือในการรับรู้ของเราแม้พี่เขาจะใจดี แต่ทุกครั้งที่รู้สึกว่าเขาใจดี จะมีอะไรบางอย่างสะกิดว่ามีศักยภาพ/โอกาสที่จะพลิกมุมโหดได้ตลอดเวลา อันนี้เขาวางคาแรคเตอร์ของเขาไว้แบบนั้น แล้วมันทำให้เราเกิดความรู้สึกไม่วางใจ เกิดเป็น image ของบุคคลขึ้นมา ทิ้งมุมมองเหตุปัจจัยซะฉิบ เอาจริงๆ คือ ถ้าคิดต่อให้ถึงที่สุด อย่างเราแทบไม่มีโอกาสสร้างเหตุให้เจอมุมโหดนั้นได้เลย คือ กลัวไปก็ไลท์บอยมันไม่มีทางเจอ รู้สึกเหมือนจับผีได้ 1 ตัว แรงต้านน้อยลง แต่ยังตอบโจทย์ได้ไม่ทั้งหมดว่า "ทำไมถึงเกิดแรงต้านที่จะปฏิบัติตาม"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น