วันอาทิตย์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2557

ตอบการบ้านวิปัสสนึก


  • ธัมม ทีโป ปรุงแต่งซ้อนปรุงแต่งเลยนะคะ
  • Ning Cholatit ก็ว่าอยู่ค่ะ ขอบพระคุณค่ะ
  • ป๊อป ปี้ สาธุค่ะ อ่านหลายรอบแล้ว ขออ่านใหม่อีกรอบค่ะ. อิอิ
  • ธัมม ทีโป หนูยังเพลิดเพลินกับการพิจารณาธรรมทางความคิดน่ะค่ะ ถ้าเป็นการศึกษาก็เรียกว่า เป็นการศึกษาโดยตำแหน่งผู้มีส่วนร่วม แต่ยังไม่ใช่การวิปัสสนาที่แท้ การวิปัสสนาที่แท้นั้น เราศึกษาในตำแหน่งผู้รู้ผู้ดู ไม่ใช่ผู้ร่วม
  • ธัมม ทีโป มุมมองจะต่างกันหนึ่งระดับ คือมุมมองของผู้มีส่วนร่วม จะเป็นมุมมองเสมอตา คือในระดับสายตา แต่มุมมองผู้รู้น้ัน เป็นมุมเหนือตา (อาจจะเหนือตัวด้วย) เป็น bird eye view
  • ธัมม ทีโป ไม่ได้บอกว่าการศึกษาแบบที่ทำอยู่ผิดนะ ในช่วงที่เรายังสนุกกับการเป็นผู้เล่น เราก็เล่นไปดูไปรู้ไปก่อน แต่ก็ยังไม่ใช่สภาวะที่เรียกว่า เป็นผู้ดูโดยแท้จริงค่ะ ความรู้ที่ได้จากการศึกษาแบบที่เราเป็นผู้เล่นด้วย จะได้อารมณ์ แต่ไม่พ้นจากอารมณ์โดยง่ายค่ะ
  • ธัมม ทีโป ที่พี่บอกว่า ปรุงแต่งซ้อนปรุงแต่ง คือเรากำลังศึกษาพฤติกรรมการปรุงแต่ง หรือสภาวะการปรุงแต่ง แต่เราเองก็ยังปรุงแต่งไปด้วยในขณะที่ศึกษา คืออาศัยธรรมคือการปรุงแต่งเป็นเครื่องมือในการศึกษาธรรมคือการปรุงแต่ง หรือ ศึกษาโทษของความคิด โดยอาศัยเครื่องมือ คือความคิด
  • ธัมม ทีโป อย่างนี้เป็นการศึกษาให้ทำให้เกิดผล คือความคิดที่ชัดเจนขึ้น หรือมีการปรุงแต่งที่มีระบบระเบียบชัดเจนขึ้น เปรียบเทียบกับระดับการวิเคราะห์ แยกแยะเพื่อให้เกิดความเข้าใจ
  • ธัมม ทีโป แต่ยังไม่ใช่การพิจารณา ที่ต้องการให้เกิดผลคือ "หยุดการปรุงแต่ง"
  • ธัมม ทีโป มีคำเรียกว่า "วิปัสสนึก" ซึ่งตัวพี่เองถือว่า เป็นวิธีนึงในการวิปัสสนานะ แต่เราจะต้องรู้ข้อจำกัดของการวิปัสสนึก ว่ามันไม่ทำให้เราหลุดพ้น ในลักษณะของการหยุดการปรุงแต่ง
  • ธัมม ทีโป ถ้าเราต้องการจะหยุดการปรุงแต่ง เราก็ต้องเริ่มต้นด้วยการหยุดคิดเสียก่อน เราจะต้องอยู่ในภาวะของการเป็นผู้รู้ผู้ดูที่ตั้งมั่น 

    มีคำกล่าวว่า เราต้องเอาสิ่งที่นิ่ง ไปดูสิ่งที่เคลื่อนไหว เราก็จะเห็นการเคลื่อนไหวได้อย่างชัดเจนที่สุด แต่ถ้าเราเคลื่อนไหวไปด้วย ดูการเคลื่อนไหวไปด้วย แม้เราจะเห็นการเคลื่อนไหวได้ แต่จะไม่เห็นได้ชัดเจน เท่ากับการหยุดนิ่ง แล้วจึงดูการเคลือนไหว
  • ธัมม ทีโป การวิปัสสนา เป็นภาวะของการ "รู้" ไม่ใช่การคิด 

    ดังนั้นหากเราไม่ "หยุดคิด" เราก็จะไม่สามารถ "รู้" ได้อย่างแท้จริง
  • ธัมม ทีโป "วิ" แปลว่าเห็น ถ้าเราเพลินกับการคิด เราก็จะสูญเสียความสามารถใน การมองเห็น "ธรรมตามความเป็นจริง" หรือภาพรวมของธรรมทั้งหมดไป
  • ธัมม ทีโป จึงเป็นคำตอบว่า ทำไมรู้สึกเหมือนจับผีได้ 1 ตัว แต่ยังตอบโจทย์ไม่ได้ทั้งหมดว่า "ทำไมจึงเกิดแรงต้านที่จะปฏิบัติตาม"
  • ธัมม ทีโป เราชอบตัวอย่างนี้มาก เพราะว่าเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ซึ่งเป็นสภาวะที่หลายคนจะต้องเคยเจอมาก่อน ถ้าเป็นพวกทีเดินวิปัสสนานำ หรือวิปัสสนาล้วน จะต้องเจอกับดักนี้ แต่น้อยคนที่จะเห็นกับดัก 

    ถึงได้บอกว่า วิปัสสนาหรือพิจารณาธรรมแบบนี้ เป็นการวิเคราะห์ ก็ได้ความรู้เหมือนกัน (แต่จะไม่ได้ผลเท่านั้น)
  • ธัมม ทีโป ถ้าเราต้องการจะวิปัสสนาอย่างแท้จริง เราจะต้องหยุดคิดก่อน เพื่อจะได้เห็น กลไกของความคิด และการปรุงแต่ง เวลาที่มันทำงาน และเราจะไม่ได้เห็นแค่นั้น ถ้าเราหยุดมากพอ เราจะได้เห็นผลของการหยุดคิดด้วย
  • ธัมม ทีโป การวิเคราะห์ต้องอาศัยความคิด เป็นเพียงปัญญาแยกแยะ แต่ธรรมะของพระพุทธองค์ คือภาวนามยปัญญา เน้นการ crystallize คือตกผลึก เมื่อเราหยุดจนกระทั่งความคิดมันแห้งหายไป จะเหลือแต่ผลึกก็คือธรรม มันยากตรงที่ต้อง อดทน หยุด และ รอ จนมันตกผลึกนี่แล
  • ธัมม ทีโป พี่ขอเอาการบ้านนี้เป็นกรณีศึกษาวิเคราะห์บ้างนะ
  • ธัมม ทีโป ขณะที่สนทนากับพี่เขา พบว่าเกิดการประเมินค่าในเนื้อหาโดยอัตโนมัติ พี่ก็จะแปลว่า "ฟังแล้วเกิดการปรุงแต่ง อย่างรวดเร็ว" 

    ปกติ ถ้ารู้ว่า เอ้านี่..เรากำลังปรุงแต่งอยู่ ถ้าความรู้หรือสติมีกำลังมากพอ มันจะหยุดได้ทันที คือรู้ว่าปรุงก็หยุดปรุงทันที แต่อันนี้ไม่หยุดเพราะว่าไหลไปปรุงเรียบร้อย
  • ธัมม ทีโป "แล้วกลายเป็นไม่ได้ฟังเท่าไร" นี่คือผลของการที่ผู้รู้ผู้ฟัง หายไปเพราะเปลี่ยนเป็นผู้คิดซะแล้ว
  • ธัมม ทีโป เนื้อหาเหล่านี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เคยได้ยิน เคยได้ยินและเห็นด้วยกับเนื้อความ 

    แต่ขณะฟังกลับมีความสงสัยว่า ถ้าเห็นดีคล้อยด้วยขนาดนั้น ถามว่า "แล้วทำไมถึงเกิดแรงต้านที่จะปฏิบัติตาม เรากำลังป้องกันตัวจากอะไร"

    อันนี้เป็นวงจรที่สอง คือวงจรแรก ประเมินค่า 
    วงจรที่สอง คือ ความลังเลสงสัย ก็เป็นนิวรณ์ตัวนึง
    พอนิวรณ์เกิดขึ้น ก็กั้นเราจากธรรม ที่แม้เราเคยได้ยินและได้ฟัง และเคยเห็นด้วยมาแล้ว แต่เมื่อนิวรณ์เกิดขึ้น ก็พาเราไปสงสัยอีกทางนึง

    มันทำงานร่วมกับตัวแรก แล้วพาเราออกไปจากกายจากใจของเราเอง 

    ตัวแรกพาให้เราไปประเมินค่าเนื้อความ ซึ่งจริงๆ ก็คือประเมินค่าคนพูดด้วย

    ตัวสอง พาเราไปสงสัยว่าเรากำลังป้องกันตัวจากอะไร ก็คือก็ยังพาเราไปสงสัยสิ่งนอกตัว อยู่ดี
  • ธัมม ทีโป พอกลับมาบ้าน มานั่งสมาธิ ถือว่าเป็นการหยุดล่ะ หยุดพิจารณาทบทวนสภาวะแระ แต่... ไอ้ตัวสงสัยมันพาให้เราไปทวนสภาวะคนอื่น อยู่ดี (อีกแล้วครับท่าน) 

    "กลับบ้านระหว่างนั่งสมาธิ ลองเอากลับมาทบทวนดู พบว่าเราเกิดปฏิกิริยากับคนพูด คือพี่คนนี้เป็นคนที่ให้เซนส์ของความไม่ปลอดภัย คือในการรับรู้ของเราแม้พี่เขาจะใจดี แต่ทุกครั้งที่รู้สึกว่าเขาใจดี จะมีอะไรบางอย่างสะกิดว่ามีศักยภาพ/โอกาสที่จะพลิกมุมโหดได้ตลอดเวลา อันนี้เขาวางคาแรคเตอร์ของเขาไว้แบบนั้น แล้วมันทำให้เราเกิดความรู้สึกไม่วางใจ เกิดเป็น image ของบุคคลขึ้นมา ทิ้งมุมมองเหตุปัจจัยซะฉิบ"
  • ธัมม ทีโป เมื่อวิเคราะห์จากข้อความ

    "เอาจริงๆ คือ ถ้าคิดต่อให้ถึงที่สุด อย่างเราแทบไม่มีโอกาสสร้างเหตุให้เจอมุมโหดนั้นได้เลย คือ กลัวไปก็ไลท์บอยมันไม่มีทางเจอ รู้สึกเหมือนจับผีได้ 1 ตัว แรงต้านน้อยลง แต่ยังตอบโจทย์ได้ไม่ทั้งหมดว่า "ทำไมถึงเกิดแรงต้านที่จะปฏิบัติตาม"

    ก็จะได้บทสรุปว่า การพิจารณานี้ ไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องแรงต้าน เพราะว่ามัน เป็นการพิจารณาที่ไม่เกี่ยวอะไรกับกายกับใจเราเลย คือมันไม่ได้หันกลับมาวิตกวิจารณ์ตัวมันเอง มันก็ไม่ได้เห็นตัวมันเองเลย มันก็เห็นแต่ผู้อื่น

    การพิจารณานี้ ดูเผินๆ เป็นการพิจารณาธรรม แต่ว่าผู้บงการคืออัตตา อัตตานั้นจะมีความสามารถคือสามารถมองเห็นและวิเคราะห์ผู้อื่นได้หมดเลย ยกเว้นตัวเอง เพราะมันเป็นมุมที่มองออกไปจากตน แต่จะไม่สามารถมองย้อนกลับมาที่ตนเองได้ 

    ก็มีคำพูดตลกๆ ที่เราชอบใช้ว่า วิธีจะย้อนกลับมามองตน คือย้อนศรอัตตา ก็หลับตาซะ พอเราหลับตา เราจึงจะสามารถเอาตากลับมามองตนได้ 555 (ลองทำดูดิ่ ตลกดี)
  • ธัมม ทีโป มีภาพปรากรอบ ซึ่งโดนมาก คนเขียนแตกฉานจริงๆ
  • ธัมม ทีโป วิจิกิจฉา เป็นลูกของกิเลส คือเป็นนิวรณ์เครื่องกั้น ถ้าตัวลังเลสงสัยเป็นตัวนำการพิจารณา โอกาสที่จะพิจารณาได้พ้นจากความสงสัยเป็นเรื่องยาก
  • ธัมม ทีโป จะต่างจากอิทธิบาทสี่ ตัวแรกฉันทะ เราเริ่มด้วยความชอบใจ พึงใจ แล้วจึงทำ เริ่มทำแล้วก็เพียรให้ต่อเนื่อง เมื่อเพียรแล้วก็เอาจิตไปจดจ่อไม่ให้ขาดสาย จากนั้นจึงวิมังสา คือทบทวนใคร่ครวญผลของมันอีกที ให้เปลี่ยนคำว่าทำ เป็น "ฟัง" ฟังด้วยความชอบใจ ตั้งใจ (กุศลจิต) จากนั้นเพียรฟังให้ต่อเนื่อง ติดตามไม่ให้ตกหล่น แล้วจึงมาพิจารณาในสิ่งที่ฟังว่าเป็นอย่างไร จะเมนท์อะไรก็จัดไปได้ เพราะเราฟังจริงๆ มาตั้งแต่ต้น
  • ธัมม ทีโป หรือ ธรรมสูงกว่านั้น คือ โพชฌงค์ คือธรรมวิจัย เป็นวิปัสสนาแท้ๆ ตัวตั้งคือ "สติ" ต้องมีสติตั้งมั่น ไพบูลย์แล้ว จึงวิจัยธรรมได้
  • ธัมม ทีโป ไม่มีธรรมะของพระพุทธองค์ พระสูตรใดเลย กล่าวว่า ให้ความลังเลสงสัยเป็นหนทางพาเราไปสู่การวิจัยธรรม แล้วจะสามารถพิจารณาจนกระทั่งได้ธรรมเป็นเครื่องตื่นรู้ หรือตัดกระแสกิเลสจ้ะ
  • ธัมม ทีโป เราสงสัยสภาวะธรรมตัวเอง ไม่ได้สงสัยคนอื่นนะ แล้วก็ศึกษาต่อเนื่องเป็นเวลาหกเดือน จนยอมรับว่า สงสัยไปก็ไม่ได้คำตอบ ไม่ว่าจะหาข้อมูลด้วยวิธีใดก็ตาม ก็ไม่ได้คำตอบที่ทำให้หายสงสัยได้อย่างสิ้นเชิง คือหายบางส่วน แต่ก็จะมีสงสัยเหลืออยู่ หรือเพิ่มใหม่เสมอ 

    อาจารย์บอกไม่ต้องสงสัยหรอก ทำไปรู้เอง เราไม่เชื่อ เพราะ(กิเลส)บอกว่า เราเป็นคนที่ต้องรู้ชัด จึงจะทำได้ ถ้าไม่รู้ไม่เข้าใจทำไม่ได้หรอก 55 เลยอุทิศเวลาส่วนใหญ่ให้กับการตอบความสงสัยในสภาวะของตน 

    แต่กิเลสพูดไม่หมด หรือรู้ไม่หมด กิเลสมันรู้ได้แค่ตัวเอง ไม่สามารถรู้พ้นตัวเอง มันเลยไม่รู้ว่า ไอ้สภาวะนั้นน่ะ มันต้องทำก่อน แล้วถึงจะเข้าใจ ไม่ใช่เข้าใจแล้วจะทำได้ 555

    กูก็ไม่ค่อยได้ทำ เพราะทำแล้วสงสัย สงสัยก็ไปหาคำตอบ แล้วก็มาทำต่อก็สงสัยต่อไปอีก หมดไปหกเดือน 

    ได้ความรู้ว่า "จริงของอาจารย์" ที่ท่านบอกว่า "ทำไปเหอะ เดี๋ยวรู้เอง"
  • ธัมม ทีโป และเข้าใจแจ้งว่า ภาวนามยปัญญาเป็นอย่างนี้เอง ไม่สามารถหาคำตอบได้จากวิธีการอื่นใดเลย นอกจากการภาวนา และเริ่มด้วยความรู้คือสติ ไม่ใช่เริ่มด้วยความสงสัยคือนิวรณ์ 

    อันนี้ฟังดูยิ่งใหญ่ แน่นอนเป็นความรู้จริง เพราะเวลาศึกษาก็ศึกษาอย่างนักวิทยาศาสตร์ ไม่ได้ศึกษาด้วยอคติ ดังนั้นพอหกเดือนผ่านไป กรูแตกฉานเรยยย
  • ธัมม ทีโป แต่ผลเสีย ที่กิเลสไม่ได้บอกเรา(ผ่านความคิด) เพราะมันไม่รู้ ก็คือว่า เราเสียวสีในการลำดับฌาน เพราะเวลาที่เราควรเอาไปฝึกให้มันเป็นวสี เราเอาไปหาคำตอบ ให้กับความสงสัยว่าเราได้ฌานจริงหรือเปล่า ซึ่งวสีตัวนี้ หากว่าเวลาผ่านไปแล้ว เราจะทำไม่ได้อีก เพราะสภาวะจิตมันก็เดินเลยไปแล้ว เคยเล่าบ่อยๆ ว่าได้อรูปฌานสองแล้ว จึงแจ้งว่า เราได้รูปฌานจริงๆ แต่เพราะสงสัยไง 

    ถ้าเราละความสงสัยเสีย แล้วเชือครูอาจารย์ (ศรัทธา) เราก็ทำตามท่านบอก คิดว่าเดือนเดียวก็แม่นและรู้แจ้งไปแล้ว ไม่ต้องรอหกเดือน ถ้าเอาเวลาหกเดือนไปทำความเพียร นอกจากหายสงสัยแล้ว คงได้เป็นวสีแจ่มๆ เลย 555
  • ธัมม ทีโป อันนี้เป็นบทเรียนราคาแพงจริงๆ ทีมักเล่าบ่อยๆ เพราะเราเป็นเจ้าแม่แห่งการวิปัสสนึก หากมีน้องๆ แนวเดียวกันก็มักเล่าให้ฟังเสมอๆ
  • ธัมม ทีโป เมื่อใดก็ตามที่ความลังเลสงสัยเกิดขึ้น ก็ให้กำหนดรู้เท่าทันความสงสัยนั้น ว่ามันเป็นนิวรณ์ ให้ทำสติ แล้วสลัดความสงสัยนั้น เพื่อจะได้มีสติตั้งมั่นอยู่กับสภาวะธรรมตรงหน้า คือปัจจุบันธรรม แล้วรับรู้ธรรมตรงหน้าให้ตลอดสาย ก็คือไล่วิจิกิจฉาเสียก่อน แล้วเริ่มต้นด้วย "รู้" แล้วจึงค่อยมาพิจารณาทีหลัง อย่างนี้รับรองว่าผลที่ได้จะต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง เพราะเป็นการศึกษาเรียนรู้ ที่มี "ผู้รู้" เป็นตัวนำ มิใช่มีนิวรณ์หรือกิเลสเป็นตัวนำ
  • ธัมม ทีโป สมมติว่าอ่านธรรมที่เราแสดง แล้วเกิดธรรมารมณ์ขึ้นมา เช่นสงสัย ก็ให้รู้ว่าสงสัย จนกระทั่งสงสัยดับไปแล้ว จึงอ่านต่อ พอมันเกิดขึ้นมาอีก สมมติตัวเดิม ก็หยุดพิจารณาอีก ให้สงสัยมันดับ แล้วอ่านต่อ โดยไม่ต้องไปสนเรื่องที่มันชวนสงสัย คือแค่ให้กำหนดรู้ว่า นี่กูสงสัยอีกแล้วนา ดูอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เดี๋ยวมันจะเห็นว่า "กูสงสัยอะไรกันนักกันหนา" ตกลง "จะให้อ่านหรือจะให้สงสัย" 555 ถ้าเห็นอาการสงสัยชัดๆ อย่างต่อเนื่อง จนรู้ทันมัน ตัวสงสัยมันจะอายม้วนต้วนหายไปเลย ผลคือเราก็จะหายสงสัยในทันที
  • ธัมม ทีโป หรือกรณีอื่นเช่น อ่านแล้ว เกิดไม่เชื่อ หรือธรรมารมณ์ทำนองต่อต้าน ไม่รับธรรม ก็กำหนดรู้ อืมม..ต่อต้าน ดูจนดับ แล้วอ่านต่อ มันขึ้นมาอีก ก็กำหนดรู้อีก เอิ่ม..ตกลงคือจะต่อต้านว่างั้น เอ้าถ้าต่อต้านหรือไม่เชื่อ ก็ไม่ต้องอ่านล่ะ เพราะอ่านไปก็ไม่มีประโยชน์ ไม่มีใครใช้หรือบังคับให้เชื่อ ไม่เชื่อก็ไม่ต้องเชื่อ จบข่าว (ไม่ต้องไปพิจารณาว่าทำไมไม่เชื่อ เพราะเนื้อหาหรือว่าเพราะคนเขียน -ก็เพราะเรานั่นแหละไม่เชื่อ จบข่าว)
  • ธัมม ทีโป แบบนี้คือ รับรู้สภาวะตามความเป็นจริง มันก็จะไม่เกิดความขัดแย้ง คือไม่ใช่ไม่เชื่อก็ละไป ก็ไปหาอันที่ใช่ อันที่เชื่อ หรืออันที่ชอบ
  • ธัมม ทีโป แต่มารมันจะไม่ยอม มันก็จะลากให้เราวิเคราะห์ วิจารณ์ แยกแยะหาเหตุผล ว่าอะไรทำให้เราไม่เชื่อ หรือต่อต้าน แลดูคล้ายๆ เป็นความฉลาดในการพิจารณา แต่ก็ขัดแย้งในตัวเอง ใจนึงก็ว่าอย่างนั้น อีกใจนึงก็ว่าอย่างนี้

    มันจะกลายเป็นอยากจะเชื่อแต่ไม่สามารถเชื่อได้ เพราะ.. หรือก็อยากจะยอมรับ แต่ว่ามันก็ยังมีความรู้สึกต่อต้าน ทำไมวะ..

    (ถ้ายอมรับว่าไม่เชื่อ แล้วไม่มีความอยากจะเชื่อมาปรุงแต่งซ้อน ก็จบตั้งแต่ลูปแรกล่ะ) 

    แต่ถ้าไม่เชื่อแล้วไม่ละ ก็จะเกิดความพยายามที่จะฝืนใจให้เชื่อ ก็จะต่อลูปสอง หาเหตุผลแทบตาย ก็ยังไม่เชื่ออยู่ดี ต่อลูปสาม ไปเรื่อยๆ จนเราเบลอ ทีนี้มันก็จะเสียบความคิดที่เป็นกรรมให้เราล่ะ 

    แต่เบ็ดเสร็จเรามักจบลงด้วยกรรมปรามาสหรือประมาทในธรรม ซ้ำแล้วซ้ำอีก คืออยู่ดีๆ แท้ๆ ถ้าไม่ใช่ไม่ชอบ ไม่เชื่อ แล้วละไป ก็จบล่ะ ไม่เป็นกรรม แต่ถ้าไม่ใช่ ไม่ชอบ ไม่เชื่อแล้วปรุงแต่งต่อ เผลอแผล่บเดียว จะเข้าเขตประมาท และปรามาสในธรรม โดยเรารู้ไม่ทันทันที เพราะมัวแต่เถียงกันในใจ หรือมัวแต่ไหลไปตามกระแสความคิด จนกระทั่งสุดสายมันก็จะดับ(อยู่ดี)

    เป็นอันว่าเมื่อมันได้ชักชวนให้เราพลาดพลั้งอย่างน้อยเป็นมโนกรรมไปแล้ว มันก็จะดับไป คือสมอารมณ์หมาย มันก็จากเราไป

    ทิ้งเราไว้กับ "ปัญหาเดิมๆ" 

    นี่คือกับดักของมาร ที่ออกแบบมาอย่างแนบเนียนสำหรับคนช่างคิดช่างพิจารณา ช่างวิพากษ์ วิจารณ์
  • ธัมม ทีโป เขียนยาวเพราะสภาวะมีหลายคน เพียงแต่การบ้านหนูมันเป็นตัวอย่างแสดงธรรมได้ชัดเจนมากๆ จ้ะ
  • ธัมม ทีโป ค่อยๆ อ่าน ค่อยๆ ย่อยก็ได้นะ
  • ธัมม ทีโป แถมอีกนิด สำหรับน้องใหม่ๆ ปกตินิวรณ์มีพี่น้อง 5 คน ชอบเล่นเป็นทีม บางทีส่งคุณลังเลมาสอดแนม ถ้าเรายอมไปกับคุณลังเล จะพาไปเจอพวกอีก บางสภาวะพอเรามาพิจารณาดีๆ จะเห็นว่า เจ้ย...มากันทั้งทีมเลย ตอนแรกคิดว่าโดนตัวเดียว

    นิวรณ์๕ ได้แก่ ๑. กามฉันทนิวรณ์ ความยินดีพอใจในกามคุณ ๕
    ๒. พยาปาทนิวรณ์ ความผูกโกรธ ปองร้าย
    ๓. ถีนมิทธนิวรณ์ ความหดหู่(ถีน) ความง่วงหาว(มิทธ)
    ๔. อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ ความฟุ้งซ่าน(อุทธัจจ) และความหงุดหงิดรำคาญหรือกลัดกลุ้มใจ(กุกกุจจ)
    ๕. วิจิกิจฉานิวรณ์ ความลังเลสงสัยไม่แน่ใจ
  • ธัมม ทีโป คนขี้เกียจ เขาจะส่ง ถีนมิทธะมา

    คนราคะจริต เขาส่งกามฉันทะมา

    คนโทสะจริต เขาส่งพยาบาทมา

    คนช่างคิด เขามักส่งวิจิกิจฉามา 

    แล้วจึงส่งต่อให้อุทธัจจะฯ อีกที

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น