วันอังคารที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2557

แสนปม

ป.เอ๋ยป.ปม
แม่ไม่นิยมสมรัก
ผู้บุตรขลาดเขลาเศร้าหนัก
กระหายความรักทะเลทราย

ใฝ่ฝันหารักหนักแน่น
พลิกผันดินแผ่นตะวันฉาย
ที่ใดมีรักมากมาย
ฉันนั่งเอียงอายแอบมอง

ใจเอยใจไม่กล้าเอ่ย
ใจเคยผิดหวังซ้ำสอง
จนใจเรานี้ช่ำชอง
สุมกองดองซึ่งโศกา

ปฏิเสธเพียงครั้งคลั่งบ้า
ผินพักตร์ยิ้มทักไหววูบ
ใจเอยแอบอ้อนกอดจูบ

เพียงบุตรอยากได้ซึ่งมาตา

ไร้กมลที่จะเหลือเผื่อผู้ใด

ตาปั้นปึ่งแต่ใจไหวสะเทิ้น
ตายอมเมินแต่ใจไม่ยอมกลับ
ตาบอกปัดแต่ใจไปบอกรับ
ตาบอกขับแต่ใจเรียกให้คืน

รู้ก็รู้ว่าเขามีเจ้าของ
ถึงเขามองเขาก็เห็นเป็นคนอื่น
ใจยังไม่ห้ามใจให้กล้ำกลืน
ตาจะฝืนอย่างนี้กี่เวลา

อย่านะอย่าหวั่นไหวใจห้ามขาด
ใจตวาดแล้วไยใจผวา
ตาร้องไห้ใจก็ตามไปห้ามตา
สมน้ำหน้าดวงใจร้องไห้เอง


นภาลัย สุวรรณธาดา

29/12/2557 เหงานักมักฟุ้งซ่าน

เหงานักมักฟุ้งซ่าน

แส่สั่นหมั่นปรุงฟุ้งซ่าน               พ่นลมระงมผ่าน
เปิดด่านปากช่องนองวจี

คึกคักลำพองผ่องศรี                 หักหาญปารมี
เสริมศักดิ์เสริมศรีมวลมาร

ให้เติบกล้าใหญ่ไพศาล               เป็นไฟสังหาร
คุณธรรมอันร่ำเรียนมา


-----
เหงาหนักมักฟุ้งซ่าน
ให้รำคาญอาการจินต์
หิวนักยักเคี้ยวกิน
ซึ่งอารมณ์ผสมโมห์

คิดมากลากเตลิด
ก่อกรรมเกิดเชิดโทโส
ตัณหาหาทางโต
ได้ออกโอ่โอ้สมใจ

ลอดหลุดเป็นอาวุธ
สะดุดแท้สะดุดใน
ล้อลามละทรามวัย
แม้นผู้ใหญ่ก็ล่วงเกิน

พี่มาอิจฉาน้อง
ด้วยติดต้องคลองดำเนิน
นึกไปให้ขวยเขิน
มิอาจเดินมัชฌิมา

ไฟรักสลักจิต
ปรุงจริตคิดมิจฉา
เพียงครั้งหวังเมตตา
จากธาดาผู้หมางเมิน
-----


วันพฤหัสบดีที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2557

พูดนิ่มนวล

Diplomatic Language


"ใช่ แต่..."

"เห็นด้วยถึงตรงนี้นะ แต่..."

"เข้าใจนะ แต่..."


เปรียบเทียบ

"นี่มัน...นะ" VS "นี่มัน....ไม่ใช่เหรอ"

"คุณไม่เข้าใจ" VS "ฉันอาจจะพูดไม่กระจ่าง"

"คุณพูดไม่ตรงประเด็น" VS "ฉันยังไม่เข้าใจในประเด็น"

"คุณควรทำอย่างนั้น" VS "เราอยากได้อย่างนี้"


พูดไม่โดยไม่ไม่

แบบญี่ปุ่น

  1. รับคำ ครับ/ค่ะ จากนั้นอธิบายเนื้อหาสาระที่จะสื่อว่าไม่อีกครึ่งชั่วโมง หรือละคำว่าไม่ พูดเฉพาะส่วนเหตุผล
  2. พูดให้คลุมเครือเข้าใจยาก เลี่ยงจุดสำคัญ ให้อีกฝ่ายหลงประเด็นไม่ก็ลืม
  3. ไม่ตอบ/ไม่พูดเรื่องนั้นอีกเลย เช่น 
    1. เปลี่ยนเรื่องพูดกระทันหัน 
    2. วิพากษ์วิจารณ์บุคคลที่ 3 
    3. เปลี่ยนโทนเป็นขอโทษขอโพยเป็นการใหญ่
    4. แกล้งโมโห หาเรื่องจับผิด
    5. หัวร่องอหายเหมือนตลกซะเต็มประดา
    6. แสดงความลังเล
    7. เห็นด้วยในมุมอื่น


"ครับ เป็นคำถามที่ดีมาก แล้วคุณคิดว่ายังไง"

"เอาเถอะ ผมจะรับไว้พิจารณาไว้ก่อนนะ"

"อือมมม...มัน...คง...ไม่...ได้...ง่าย...นัก...หรอก...นะ..."

"งั้นหรอกเหรอ..."

"โดยหลักการ/โดยส่วนตัวเห็นด้วยค่ะ แต่ขอสอบถามเพิ่มเติมอีกนิด คือ..."

ให้

ก่อนให้ใคร่ให้คิด
ตริสักนิดก่อนให้ตังค์
กุศลมิภินท์พัง
ทั้งจะยังให้สบาย

หากมิตรจิตคิดให้
ดำรงใจตั้งความหวัง
จักให้เต็มกำลัง
ดั่งพระจันทร์ในวันเพ็ญ

ให้ใครอย่าให้ชุ่ย
แบใบ้บุ้ยแบบเบียดเบียน
ให้ไปใจต้องเนียน
ใช่กระเบียดกระเสียรตัว

ฝึกใจให้มันคิด
แผ่เมตต์จิตพี่น้องทั่ว
ให้แล้วต้องไม่กลัว
แม้ผลชั่วจะกลับมา

รำลึกตรึกว่าให้
เพื่อรักษ์ใจไม่หมองมัว
ถอนถอดโลภโกรธกลัว
หมักดองใจในธุลี
....
ตริตรองถ้วนถี่แล้ว............... ตั้งจิต
อธิษฐานทานอุทิศ ..............พิสุทธิ์แน่ว
ปวงดำริจงเต็มอิฏ- ..............ฐะผลเอย
ทรงธรรมนำผ่องแผ้ว ...........จิตต้อง นฤพาน

วันพุธที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2557

กลอนคำพูด

จะพูดจาปราศัยกับใครนั้น
อย่าตะคั้นตะคอกให้เคืองหู
ไม่ควรพูดอื้ออึงขึ้นมึงกู
คนจะหลู่ล่วงลามไม่ขามใจ
(สุภาษิตสอนหญิง - สุนทรภู่)
----

ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์
มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต
แม้นพูดชั่วตัวตายทำลายมิตร
จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจา
(นิราศภูเขาทอง - สุนทรภู่)
----

อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นซาก
แต่ลมปากหวานหูมิรู้หาย
แม้นเจ็บอื่นหมื่นแสนจะแคลนคลาย
เจ็บจนตายนั้นเพราะเหน็บให้เจ็บใจ
(เพลงยาวถวายโอวาท - สุนทรภู่)
----


วันอังคารที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2557

24/12/57

24/12/57

สัปดาห์ก่อนร่างกายอ่อนแอตามวงรอบของมัน ประกอบกับออกกำลังกายใช้แรงเยอะไปหน่อยในวันนั้น พอนั่งๆ ไปก็จะหลับ แล้วก็เป็นต่อเนื่องมาเกือบอาทิตย์ ตอนแรกนึกว่าเกิดจากร่างกาย ตอนหลังถึงรู้ว่า ขี้เกียจชัดๆ 5555

วันก่อนฟังธรรมได้ยินมาประโยคนึง "อะไรจะสอนความรักได้ดีเท่าความรัก" ใจก็คิดต่อเสร็จสรรพ "อะไรจะสอนความตายได้ดีเท่าความตาย" แล้วมันก็เบิกบาน วางไว้ในใจว่า หากต่อไปนี้ได้ยินข่าวใครจะเป็น ใครจะตายที่ไหน การวางใจแบบนี้น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี

ระหว่างเดินทางกลับบ้าน ยังคงเคล้าคลึงประโยค "อะไรจะสอนความรักได้ดีเท่าความรัก" ลองบิ้วตัวเองให้อยู่ในสภาวะ being in love ดึงใจให้อยู่ในอารมณ์สุข สังเกตไปที่การรับรู้ ผัสสะหน่อยรู้แล้วก็สุข รู้แล้วก็สุข ซึ่งจริงๆ ก็ทำได้ไม่ยาก ไม่ต้องมีเป้าเป็นตัวเป็นตนก็ได้ ความสุขนี้ละลายความแข็งกระด้างที่บางทีเหมือนจะอยู่ในภาวะเฉยๆ แต่ใจจะกระด้างๆ และไม่รู้จะทำไงให้มันอ่อน (แถมบางทีไม่รู้ด้วยว่ามันกระด้าง) แต่เอาเข้าจริงๆ บางทีพี่จิตเขาจะอยู่โหมดนั้นจริงๆ กู่ไงก็ไม่กลับเหมือนกัน คิดว่าจะลองดูว่าอารมณ์นี้สามารถฝึกให้เป็นความเคยชินได้ไหม ใจจะได้ไม่แห้งแล้ง

กลับบ้านเปิดไฟล์หลวงพ่อเทศน์ไปด้วยเดินจงกรมไปด้วย แล้วก็มานั่งต่อ มีประโยคนึงท่านว่า "ดูกายที่หายใจเข้าหายใจออกไป" ดูตาม เห็นอารมณ์เพียบเลย นึกนับถือคนที่สามารถจิตนิ่งอยู่กับอารมณ์อันเดียวได้จริงๆ ดูสภาพพี่จิตแล้วเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย สักพักรวมวูบเสียงเทศน์ฟังดูชัดกว่าปกติหลายเท่า นั่งเฉยอยู่สักพัก แล้วก็ไปคิดถึงลมหายใจ คราวนี้วุ่นวาย ใจนึงก็บอกมันไม่หายหรอกมีอยู่นั่นแหละ อีกใจนึงก็หาๆๆ ลมอยู่ไหน ตลกดีค่ะ

อาตมัน - ปรมาตมัน

จิตเป็นอัตตาเรียกอาตมัน เวลาตายถ้าฝึกสมาธิดี อาตมันหรือจิตนี้เองก็รวมเข้ากับพระเจ้า (ปรมาตมัน) บรมอัตตา ถึงวันนึงก็หลุดออกมาอีก มาหมุนเวียนอยู่อย่างนี้อีก จิตขึ้นสู่พรหมโลกวันนึงก็หลุดออกมาใหม่ หมุนเวียน ตกนรกก็ได้อีก

วันจันทร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2557

สติ - หลบอารมณ์ หัดเปลี่ยนอารมณ์

ตอบคำถามสองภาษา
โดยพุทธยานันทะ
ปุจฉา: ๑. บางแนวทางเขาว่า เวลาเกิดผัสสะ หากเรามัวแต่กลับมารู้สึกตัว จะเป็นเหมือนการละนันทิ โดยไม่ได้พิจารณาไตรลักษณ์เลย จะเกิดปัญญาได้อย่างไร เขาบอกว่าเป็นการหลบผัสสะมากกว่า หลวงพ่อมีความเห็นว่าอย่างไรครับ?
Question: 1. Some methods mention that whenever we have contact and we call back to awareness immediately, it is like we deflect from contact and lose the chance to see triluksana (the three characteristics of impermanence, suffering, and non-self). Then wisdom cannot arise. How do you think?
วิสัชชนา: ๑. แสดงว่าคนเข้าใจเช่นนั้น ยังไม่ได้ปฏิบัติวิปัสสนา ทำสมถะ แต่เข้าใจว่า ตัวเองทำวิปัสสนา นักปฏิบัติที่เข้าใจอย่างนี้เยอะมากๆ แต่ถ้าจิตเป็นวิปัสสนา จะไม่ถามแบบนี้ คำตอบก็คือว่าความรู้สึกตัวที่ถูกต้องนั้นเอง มันเป็นการเห็นไตรลักษณ์ และละนันทิไปในตัวเสร็จ วิปัสสนาปัญญานั้น ไม่ได้พิจารณาไตรลักษณ์แบบสมถะ(พราหมณ์) เมื่อเห็นชัดเจนแจ่มแจ้งต่อหน้าแล้ว การพิจารณาแบบวิปัสสนาก็สำเร็จเสร็จสิ้นไปในตัว แต่ถ้าแบบสมถะ ต้องพิจารณาทีละอารมณ์ว่า แบบนี่คืออนิจจัง แบบนี้คือทุกขัง แบบนี้คืออนัตตา นี้เป็นอารมณ์บัญญัติ เป็นสมถสัญญา ขืนพิจารณาแบบนั้น ไม่ทันกิเลสหรอกคุณเอ้ย มันเอาไปกินเสร็จ
Answer: 1. A lot of practitioners do not understand vipassana (insight development) correctly. They are practicing samadha (tranquilty) but misunderstand that they are practicing vipassana. If the mind is in vipassana meditation, this question does not arise. Right mindfulness is to see triluksana (the three characteristics of impermanence, suffering, and non-self) totally by vipassana-panya (insight development wisdom). It is different to samadha (concentration in Brahminism) that we have to consider each object singly. For example, to consider the object that this one is impermanence, this one is suffering, this one is non-self, this one is regulations, or this one is samadha perception, etc. It is too slow to catch up defilement. Conversely, defilement will swallow us.

วันอาทิตย์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2557

จิตคน จิตควาย

21/12/57

ไปฟังหลวงพ่อปราโมทย์ ท่านว่า มีสัตว์อยู่ 2 อย่าง ที่แผ่เมตตาแล้วรับไม่ค่อยได้ คือ คน กะควาย ไม่รู้มันเป็นสปีชีย์เดียวกันรึยังไง พระโดนควายขวิดประจำ

จุติจิตมันเคลื่อนจริงๆ หมุนออกอย่างแรง ถ่ายทอดไปหมุนต่ออีกภพ ข้อมูลก็ถูกสืบทอดไป เหมือนเป็นลูกของจิตเดิม

จิตอยู่ๆ ก็หมุนเอาอะไรขึ้นมานะ

วันพฤหัสบดีที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2557

18/12/57

18/12/57

เจอพี่นวลโดยไม่ตั้งใจ คุยไปคุยมาพอกลับบ้านรู้สึกเพี้ยนๆ ไปถามคุณนายว่า

วันเมาๆ

ลูก - จะรู้ได้ไงว่าคนเราเกิดมาทำไม
แม่ - เงียบ....ก็เกิดมาแล้วไม่ต้องไปคิดหรอก ก็อยู่ไปเพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย
ลูก - เป้าหมายคืออะไร
แม่ - ตายไง
ลูก - เงิบ...(รู้สึกเจอค้อนหนักสิบตัน...ตื่นดีแท้ 5555)
แม่ - ตายอย่างสง่างาม ระหว่างทางไปถึงเป้าหมายก็มีความสุขกะปัจจุบันไป

-----
แม่ว่าแม่อยากตายอย่างมีสติ ถึงเวลาที่ต้องไปอย่างนั้นจริงคงไม่อยากให้มีใครมาเยี่ยม อยากใคร่ครวญด้วยสติมากกว่า

เวอร์ชันนั่งคุยกะพระพุทธเจ้า

เห็นมั้ยว่าหนูมีตัณหาในการหาเป้าหมายของชีวิต เชื่อลึกๆ ว่ามันเป้าหมายชีวิตสัมบูรณ์เป็นสิ่งล้ำค่าที่มนุษย์พึงมี เห็นมั้ยว่ามันคล้ายๆ กับค่านิยมอย่างนึงนั่นล่ะ คนอื่นอาจจะอยากได้ทรัพย์สินเงินทอง แต่หนูอยากได้ "เป้าหมายชีวิต"

จริงๆ หนูอยากได้รูปธรรมสักอย่าง ที่จะกระตุ้นให้เกิดความสุขเวลาระลึกถึงนั่นเอง

ทำไมหนูเห็นอย่างนั้น

เพราะความฝันในตอนเด็กมันให้ภาพว่ามันให้ความสุขทุกเวลาที่หนูระลึกถึง หนูจึงเกิดความเชื่ออย่างช่วยไม่ได้ขึ้นมาว่ามันคือความสุข การได้อยู่กับมันเป็นความสุข ผ่านมาถึงตรงนี้หนูว่าของอย่างนั้นมีที่ไหนกัน มันเกิดความเชื่อว่ามันเที่ยงสังเกตมั้ย

ข้อสังเกตเอาเอง

ถ้าเห็นเป็นทุกข์ไม่ได้ ก็ผันออกอนัตตา เร็วกว่า เป็นอีกเส้นทางเรียกว่าไม่เดินผ่าน แต่เดินหลบแล้วเหลียวมอง

วันพุธที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ศรัทธา (ยังไม่เลิก)

ศรัทธา ไม่ได้แปลว่าความเชื่อ แต่เป็นสภาวะเปิด หรือโน้มน้อมที่จะรับ ที่จะฟัง ดังนั้นหากหาที่อุดหู ที่อุดใจเจอ คืออะไรที่ขวางการฟังเอาออกซะ ศรัทธาก็อยู่แถวๆ นั้นแหละ ไม่ต้องเสียเวลางมหาให้วุ่นวาย

ศรัทธา อีกสภาวะเป็นแบบ "จิตน้อมนิยมชม"

วันจันทร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2557

15/12/57

15/12/57

สัปปายะแต่ละวันก็ไม่เหมือนกัน วันก่อนนั่งท่าเอนแล้วสบายมีสมาธิดี วันนี้นั่งท่าเอน สบายแต่หลับ ระหว่างวันเหมือนมีสติเหมือนไม่มีสติ พาลให้สงสัยเป็นระยะว่าตกลงนี่รู้รึไม่รู้

วันอาทิตย์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2557

14/12/57

14/12/57

เพื่อนก้อยพาไปฟังธรรมพระอาจารย์กฤช แบบฟังชิดติดขอบจอ ได้แกะส้มจัดจานถวาย ได้ไปซื้อกาแฟถวาย ถ้าไปเองไม่กล้าทำ 5555 ตอนท่านให้พรก็น้ำตาไหลไม่หยุด ตอนไปนั่งรอฟังพี่จิตอธิษฐานของมันเอง ช่วงแรกๆ ของการฟังก็มีหลายจังหวะที่น้ำตาจะไหลๆ โดยเฉพาะตอนที่ท่านพูดถึงในหลวง ช่วงเล่นเกมส์ทำให้เข้าใจบางอย่างมากขึ้นอีกหน่อย

ขอบพระคุณเพื่อนก้อยที่นึกถึงและพาไป กัลยาณมิตรเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์ ^_^

วันศุกร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2557

12/12/57

12/12/57

ระหว่างวันคึกคักหายไป แต่กำลังยังอยู่ มีโทสะเป็นคลื่นใต้น้ำอยู่ มีความเฉยๆ อยู่ มีฟุ้งอยู่แต่ซ่านไม่แสดงผล

ตอนเย็นไปสวดมนต์นั่งสมาธิที่วัด กลับบ้านนั่งสมาธิจนหลับไป

วันพฤหัสบดีที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2557

เก็บตกเพิ่มเติม

การดำเนินจากตัณหาไปอุปาทาน
เพราะอยากได้จึงแสวงหา
เพราะแสวงหาจึงได้มาซึ่งของรัก
เพราะได้มาซึ่งของรักจึง...
เพราะ...หวงแหน
เพราะหวงแหนจึงปิดกั้น

11/12/57 เย็น

หลังจากกลับจากวัด จิตใจสภาพเป็นม.ม้าคึกคัก ฟุ้งลอยเป็นพื้น และเพลิดเพลินมากในความสุขที่มันได้ คอยปรุงเรื่องแหย่มันโกรธ ก็เหมือนมีปราการมาหักล้างผลของมันโกรธไม่ขึ้น ขณะที่คิดแหย่สภาวะไปเรื่อยๆ แต่สติมีไม่เท่ากัน ผลคือปล่อยไก่แบบได้โล่ห์ เอาถุงอาหารกะถุงขยะทิ้งไปพร้อมกันแถมไม่รู้ตัวทันที มารู้อีกทีตอนถึงที่หมายแล้วแบบทำไมมือตรูไม่ถือของเลยคะ แต่เดินเข้าไปหาแม่แล้ว (เป็นของที่แม่ฝากซื้อ) ก็เลยบอกแม่ว่าเดี๋ยวเดินออกไปซื้อก่อน ไม่บอกให้นางรู้เดี๋ยวนางปรุงอกุศล

หลังจากรู้ตัว จริงๆ มันน่าจะเครียดได้แล้วนะ ยังไม่เครียดค่ะ ม.ม้าคึกคัก หักล้างผลความเครียดสิ้น แต่รู้แล้วว่าชีวิตไม่พอดี เกิดทางเลือกสองทาง คือลากม้าลง กะดึงสติขึ้น ลองทำแบบหลังเพราะไม่เคยมีม้าอยากลองเลี้ยงม้าดู เลยต้องเรียกมาอยู่กับกายเยอะๆ กำแบๆ เดินรู้เท้า ในปากก็กระดกลิ้นไปด้วย เอามันทุกอย่าง

ตกเย็นนั่งสมาธิ เจอสัปปายะโดยไม่ตั้งใจ เป็นท่าเอนๆ สบายๆ มีหมอนรับหลัง ขาเหยียด แขนวางบนหมอน ผัสสะเต็มตัวไม่สัปปะหงก ปรากฏตื่นเชียว แค่ว่าจะนั่งตามธรรมเนียมเฉยๆ ผลคือนอนไม่ได้ไปจนถึงเกือบตีสี่ สุดท้ายพอคิดว่าเออถ้าไม่นอนก็นั่งอีกรอบละกัน เปิดเสียงครูบาอาจารย์คลอไปด้วยสักพักหลับ 5555

----------
อันนี้ตกผลึกเองตอนอยู่วัด

ในความรู้สึก

ฉันทะ เกิดจากความชัดเจน เพราะมันต้องเห็นผลจึงได้เอ็นจอยกะมันตรงนั้นได้เลย ถ้าไม่ชัดเจนจะเกิดฉันทะได้ยากมาก โดนเจ้ามือตัณหากินรวบ

ศรัทธา ไม่ได้แปลว่าความเชื่อ แต่เป็นสภาวะเปิด หรือโน้มน้อมที่จะรับ ที่จะฟัง ดังนั้นหากหาที่อุดหู ที่อุดใจเจอ คืออะไรที่ขวางการฟังเอาออกซะ ศรัทธาก็อยู่แถวๆ นั้นแหละ ไม่ต้องเสียเวลางมหาให้วุ่นวาย

อวิชชา, อนุสัย, โมหะ (ไม่รู้ใช้คำไหน) แต่มีอารมณ์นึงให้ความรู้สึก พอทุกข์อยู่ก็เหมือนตาแก่หลงลืม ลืมภาวะปกติสุข ระลึกไม่ออก ระลึกไม่ขึ้น การที่จำภาวะปกติสุขได้ จะทำให้เกิดสติ (สัมมาสติ)

การปิดหูปิดใจกับธรรมของศรีศากยอโศก ไม่แน่ใจว่าเป็นสัมมาหรือมิจฉา
หากพิจารณาแยกแยะแล้ว หนึ่งในเหตุที่ให้รู้สึกอย่างนั้น คือการที่ฟังครูแสดงธรรม โดยจั่วหัวว่า
" เป็นการแสดงด้วยสภาวะ" แต่การใช้คำกลับใช้ลักษณะของถ้อยวจีซ้ำ จึงทำให้รู้สึกขัดขืนกันอยู่
การเน้นน้ำเสียงหนัก ทำให้รู้สึกถึงการเน้นย้ำ ชักจูงให้โน้มไปในทางตัณหา

คิดพักไว้

สัมมาในแง่หนึ่งอาจหมายถึง เกิดขึ้นเอง

เริ่มจากศีลสังวรณ์
ไปอินทรีย์สังวรณ์
ไปสันโดษ พิจารณาปัจจัยที่เข้ามาซ่องเสพ
ไปสมาธิภาวนา
ไปจิตภาวนา

ครูว่าถ้าในชีวิตประจำวันไม่เคลียร์กิเลสหยาบ แล้วอยู่ๆ มาเข้าคอร์สแบบนั่งกันเกือบทั้งวี่วัน มันกลับกัน เลยผลไม่ได้อย่างเต็มที่ แต่อย่าท้อถอย

ภาวนาให้เหมือนเล่นหมากรุก ล้มก็ตั้งใหม่

ครูว่าหากตัดสินใจเดินเส้นทางนี้ ให้ทำห้องพระเลย รัตนบัลลังก์สำคัญ นั่งตรงไหนนั่งตรงนั้น ไม่ใช่เปลี่ยนที่ไปมาแบบนั้นพลังงานกระจายหมดยิ่งไม่น้อยๆ (เห็นว่าพลังบารมีพุทธคุณที่มากที่สุดอยู่ที่พุทธคยา) พลังงานจากการภาวนาจะคงทิ้งไว้ แล้วจะเป็นตัวดึงดูดเกื้อหนุน ประเภทที่ถ้าทำไปสักพักแล้วจะไม่ทำไม่ได้ ก่อนนั่งอธิษฐานสู้ตายกับมาร คือ ไม่ใช่ว่ามุ่งเอาแพ้ชนะ แต่ขีดเส้นให้ชัดเจนเพื่อเป็นสัญญาคุมจิตไม่ให้หลงทาง

มีพี่คนนึงคล้ายๆ ว่าจิตจะแหย่ๆ เข้าอรูป (หรือรูปฌาน 4 สักอย่าง) แต่ประเด็นคือ ชักเข้าชักออกกลัวๆ กล้าๆ ครูว่ามันเหมือนเข้าไปในที่มืดที่เราไม่เคยไป แล้วสัญญาที่เคยได้ยินมาว่าถ้าไปอิโหน่อิเหน่เดี๋ยวมันบ้าได้ อันนี้มันเป็นวิจิกิจฉาขวางไว้ จึงไม่ข้ามไป ครูว่าจึงให้วิปัสสนาตามประกบติดหลังไปด้วยเสมอ สติต้องมี ทุกสิ่งทุกอย่างที่เจอให้ปักป้ายไว้เลยว่าเป็นสังขารทั้งสิ้น จะสวยงาม น่ากลัว น่าพึงใจ น่าหลงไหล แต่ให้กำหนดรู้ว่ามันเป็นเวทนาปักป้ายเอาไว้เลยว่าไม่พึงกำหนัดยินดี ใช้คาถานี้ตามเป็นหางเข้าไป แต่ถ้าเกิดมัวคิดว่า "กูโดนหลอกแน่ กูโดนหลอกแน่" เช่นนี้จิตจะไม่สามารถก้าวข้ามและพัฒนาต่อไปได้


สัมมากับมิจฉา (ไม่ใช่สัมมา) ตัดกันตรงที่ เป็นที่เกาะเกี่ยวของตัณหา อุปาทานหรือไม่

คำติดใจ

  • วิปัสสนา ไม่ใช่อนุปัสสนา
  • สติสัปปชัญญะ เป็นเหตุแห่งสัมมาสติ
  • คิดฟุ้งซ่าน ต่างกับพิจารณาธรรม หากการคิดนั้นไม่เป็นไปเพื่อการเกิดอุปาทาน ภพ ชาติ อันนี้จัดเป็นโยนิโสมนสิการ 
  • พระพุทธเจ้า รู้จักปฏิจจตั้งแต่เป็นราชกุมารจึงออกบวช?


ไปวัดบางปลากด


5/12/57

เดินเข้าไปในศาลารู้สึกกายใจเงียบสงบดี แต่พอนั่งสมาธิฟุ้งกระจาย รู้สึกเฉยๆ ไม่เดือดร้อนกับความฟุ้ง ลองพยายามทำแบบนู้นแบบนี้บ้างให้หายฟุ้ง ผลก็ฟุ้งอยู่

6/12/57

เช้ามาหิวมากจนคลื่นไส้ เดินจงกรมด้วยความกระอักกระอ่วน ใจไหลไปเดือดร้อนกับกายบ้าง แยกออกมาบ้าง นั่งสมาธิไม่รู้สึกถึงความคิด แต่รู้สึกถึงชาๆ ที่หัว ตอนแรกก็คิดว่าดูความรู้สึกอย่างงี้ไปถูกแล้ว แต่ดูนานๆ แล้วเหมือนโมหะครอบ ออกมามึนๆ เลยเปลี่ยนไปเดินจงกรม ก็เคยชินที่จะดูความรู้สึกชาๆ นี้ ไหลไปทางนี้บ่อย คอยดึงออกมาเรื่อยๆ

ตกกลางคืนฝันร้ายทั้งๆ ที่ปกติไม่ฝัน เด้งขึ้นมานั่งนึกอะไรไม่ออก สวดยันทุนๆๆๆ สักพักจิตรวมหลับ 555

7/12/57

สังเกตุว่าเวลานั่งสมาธิไปได้สักพักจะสัปหงก มันไม่ได้ง่วง แต่ไม่รู้จะเกาะอะไรจิตเลยเหมือนไหลลงรู พอรู้ตัวก็ขึ้นจากรู สลับกันเป็นวงจรง่อกแง่กไปมา เข้าใจว่าคงจะเพราะเคยชินที่จะนั่งสมาธิก่อนนอน คือถ้ามันจะหลับก็ให้มันหลับไปเลย เลยออกมารูปนี้

8/12/57

นั่งสมาธิแบบสัปหงกตามเคย ไม่รู้จะทำไง จิตไม่มีอะไรเกาะ (ลมหายใจมันไม่เย้ายวน 5555 เอาไม่อยู่) สักพักนึงถึงคนคนนึงขึ้นมา จิตก็ไปเกาะคนๆ นั้น พอรูปดับก็ง่อกแง่กใหม่ สักพักไประลึกถึงอสุภะ จิตก็เกาะภาพอสุภะ พอภาพดับก็ไหลลงรูใหม่ จนครูเดินเข้ามาตบมือเข้าที่ข้างหู ฉับพลันเหมือนมีพลังงานซ่านไปทั้งตัว แล้วกายก็ค่อยๆ ตั้งตรงขึ้น ดำรงสติอยู่ สักพักหมดเวลานั่ง แผ่เมตตา จิตยิ่งนิ่งน่านั่งต่อ เกิดความเสียดาย

นั่งรอบสองหลังจากเดินจงกรม เริ่มต้นที่ง่อกแง่กตามสไตล์ สักพักพระเดินผ่าน เสียงจีวร ให้ผลคล้ายๆ กับที่ครูตบมือข้างหูเมื่อกี้ เหมือนตะกอนอะไรถูกตีขึ้นมาทำให้มันตั้งได้ แต่ผัสสะไม่แรงพอ ก็พอดีมีแมลงที่ไหนไม่รู้บินเฉี่ยวหัว เอาเป็นว่าผัสสะสองอย่างนี้รวมกันทำให้กระเด้งตื่นมีกำลังได้ รับรู้ว่าหัวเอียง แต่มันเอียงไปตอนไหนไม่รู้ ความสุขแผ่ซ่านทั้งร่างกาย คอเอียงอยู่ก็ไม่รู้สึกว่าเมื่อย กลับรู้สึกเหมือนหนุนหมอนนอนกลางวันอยู่ แต่หูก็ได้ยินทุกอย่าง จิตไม่แส่ส่าย ดื่มด่ำกับความสุขนั้น ธรรมใดไม่เกี่ยวข้องก็เพิกเลย การใช้ความคิดก็ได้ปกติ แต่ไม่ใส่ใจเอาเป็นจริงจัง เป็นสภาวะ half concious แต่รู้ตัวมากกว่าฝัน นานๆ จะเจอสภาวะอย่างนี้เลยนั่งเอนจอยมันไป สักพักรู้สึกน้ำหนักกดแขนข้างนึงมากกว่าอีกข้างถึงรู้ว่าตัวเริ่มเอียง (ที่แท้ให้เอามือวางหน้าตักเพื่อการนี้เอง 555) ก็สั่งให้ยกกายขึ้น กายก็ค่อยๆ ยกขึ้นเหมือนหุ่นยนต์ นิ่มนวลมากๆ พอบอกให้ตั้งหัวตรง ก็ทำตามทุกอย่าง เชื่อฟังดี นั่งนานเท่าไรก็ไม่เมื่อย กายเบาจิตเบา แต่สักพักยุงกัดง่ามเท้า จิตเลยค่อยๆ ถอยออกจากความสุขอันนั้น โดนกัดอีกก็ค่อยๆ ถอยออกมา นั่งไปจนหมดเวลารู้สึกโดนกัดมากขึ้นเรื่อยๆ เจ็บมาก นึกในใจ เดี๋ยวแบ่งบุญให้ปล่อยก๊อนน~~ ลืมตาขึ้นมา นึกว่าพญายุงกัด ที่ไหนได้ มดเป็นสิบตัวรุมกัดง่ามเท้าอยู่จุดเดียวจนได้เลือด ไม่ให้เรียกเจ้ากรรมนายเวรจะให้เรียกอะไร

9/12/57

ช่วงบ่ายเดินจงกรม เดินมาเดินไป ใจอึดอัด มันตอบตัวเองได้ไม่ชัดว่าเดินทำไม เดินไปใจกังขา แม้จะบอกว่าก็ฝึกรู้สึกตัวไง แต่มันยังไม่ชัด มันก็ใช่ที่ว่ารู้สึกตัวที่หัวทางจงกรมก้อนอึดอัดก็หลุดแป๊บ พอหันมาก็มาแบกเดินต่อมันข้องใจ ใจลึกๆ มันบอกว่าบ้าป่าว ทำไรอยู่ บอกว่าเดินสบายๆ สิ กล่อมไงก็ไม่ได้ผล เลยมานั่งพักเก้าอี้ ถือพัดโบกๆ ไปด้วย นั่งดูรูปพระปฏิมา ใจอิ่มเอม ชื่นชมว่าท่านงามจัง ถามท่านว่า

นิ้ง  "พระพุทธเจ้า เดินจงกรมไปทำไมคะ"
พระพุทธเจ้า (ในมโน) "แล้วหนูเดินทำไมล่ะ"
นิ้ง (อึ้งไปพักนึง แล้วตอบว่า)   "...เหมือนเดินหาอะไรสักอย่าง แต่ไม่รู้อะไร นั่นสิหาอะไร มันจะเอาอะไรก็ไม่รู้ค่ะ อ๋อ หนูอยากนี่นา"
พระพุทธเจ้า (ในมโน) ยิ้มหวาน "ตอนนี้ใจหนูเป็นยังไง"
นิ้ง "สบายแล้วค่ะ"

พบว่าตัวเองเวลาเดินจงกรมนี่เผลอทำงานสองอย่าง คือเคยได้ยินคำว่า "รูปเคลื่อนไหวใจเป็นคนดู" ผลคือ ทำจริงๆ จิตงง ว่าจะดูกายหรือดูใจเป็นอีกส่วนที่ทำให้อึดอัด

หลังจากนั้น ก็มโนพระพุทธเจ้า ยิ่งคุยกับท่านยิ่งเบิกบาน เหมือนปลดล็อคอะไรบางอย่างที่สงสัยแต่เก็บไว้จนลืมว่าสงสัยอะไร แต่กลับผูกเป็นปมทางจิตไว้

ค้นพบว่าพอเมื่อยแล้วมานั่งพัก ความสุขที่แผ่ซ่านกายตอนนั่งพักนี้พาเข้าสมาธิง่ายดี

10/12/57

ก่อนเข้าสมาธิครูให้อธิษฐาน ขอบารมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์  ตัวอย่างเช่น ขออาราธนาคุณพระพุทธให้เป็นอิสระจากฐานะทั้งปวง ความเป็นลูก ความเป็นพี่น้อง ความเป็นเพื่อน เป็นอิสระจากนิวรณ์ และทำไปเพื่อการพ้นทุกข์ เป็นการย้ำเป้าหมายเราให้ชัดไม่หลงทาง

ก่อนนั่งสมาธิครูให้ท่องคาถา
เอาสัมมาสติเป็นอารมณ์
ไม่ปล่อยให้อกุศลครอบงำจิต
ระวังความกำหนัดยินดีเพลินในเวทนา
ไม่ว่าเห็นอะไร รู้สึกอะไรล้วนเป็นสังขารทั้งสิ้น
ให้ระลึกให้สลักลงในจิตไปเลยว่าสังขารทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล

วันนี้พี่จิตมาแปลกอาราธนาพระพุทธเจ้ามานั่งเป็นเพื่อน

จับได้ว่านั่งกายนิ่งสักพักจิตจะหมุนตัว ถ้าจ๊ะเอ๋ทันจะหยุดสักพักหมุนใหม่เหมือนเป็นวงรอบทำงาน หมุนเล็กๆ หมุนใหม่ใหญ่กว่าเดิม คราวนี้เหวี่ยงเอากายผงกหัวหงึกๆ ไปด้วย หงึกเล็กๆ เป็นหงึกใหญ่ๆ จนเลิกหงึก ก็เหมือนจะหลับไปเลย แต่ถ้าในช่วงคำนับพระธรรมนี้ได้ผัสสะอะไรสักอย่าง คราวนี้กายจะเหยียดตรงขึ้น แล้วจะทรงอยู่ในสมาธิได้พักใหญ่เลย ครั้งก่อนๆ รอผัสสะภายนอก คราวนี้ ขยับมือกำแบๆ เอาเอง ใช้ได้เหมือนกัน ทรงได้สักพักกำลังตกอีก กำแบๆ ใหม่

ทรงตัวได้สักพักอยู่ดีมีโผล่วูบมาว่าเป็นภาพงานศพแม่ จิตเศร้าหมองไปวูบใหญ่ สักพักรวมกำลังใจว่าหากจริงงั้นการนั่งครั้งนี้ขออุทิศให้แม่ เลยเชิญภาพแม่ขึ้นเหนือศีรษะทำใจให้ผ่องใสนั่งต่อไป อกุศลโผล่มาเป็นระยะๆ รวมทั้งที่จิตไปปรามาสครูไว้ก็โผล่ขึ้นมาเป็นความแน่น ก็เอาความแน่นนั้นควบแน่นออกมายกถวายพระพุทธเจ้าไป (นึกได้ยังไงนะ 555 ทำไมไม่เอาของดีๆ ถวาย) เป็นการนั่งสมาธิที่ดีมาก ไม่ฟินไปเลยเหมือนวันก่อน แต่แจ่มใสและเบิกบาน สักพักใช้หนี้เก่า โดนมดกัดให้หลุดสมาธิอีกตามเคย แผ่บุญให้เจ้าหนี้เขาไป

เดินออกมาจากศาลาภาวนา จิตแช่มชื่น ยินดี ซะจนพูดมาก เหมือนประสบความสำเร็จในการค้นพบเคล็ดลับอะไรสักอย่าง ประมาณว่ารู้แล้วโว้ยต่อไปนี้พอมันจะวูบนะ ก็หาผัสสะเจ๋งๆ ให้มันกระโดดงับเลย

ฟังเทศน์จากพระอาจารย์
ท่านให้ถามตัวเองว่า ตอนนี้จิตยังอยู่ในกายรึป่าว ถ้าอยู่มันทำอะไรอยู่

11/12/57

จากที่เมื่อวานกระหยิ่มยิ้มย่องในการค้นพบ เช้านี้ความไม่เที่ยงแสดงให้เห็นเลย กำแบไม่ได้ผล 5555 นั่งดูโงกหงึกๆ ไป จนปัญญา ทำไรไม่ได้ สักพักพี่จิตก็เมตตา มโนการทำความดีขึ้นมาสักอย่าง น้อมจิตให้เป็นกุศล จึงกอบกู้จิตตนครขึ้นมาได้

ขณะนั่งเห็นแต่คลื่นสั่นสะเทือน นั่งปวดขาก็เห็นความสั่นสะเทือนที่ขาอันนึง สั่นสะเทือนที่ใจอันนึง คลื่นความเจ็บปวดที่ขาอยู่ๆ ก็โผล่มา อยู่ๆ ก็หายไป พลังงานชอบมาโฟกัสอยู่แถวๆ หัว เหวี่ยงซ้ายทีขวาทีอยู่อย่างงั้น

ช่วงที่ทรงตัวได้ดีก็รู้สึกสว่าง สักพักรู้สึกถึงอะไรไม่รู้ดำๆ อยู่เบื้องล่าง หน้าตาคล้ายรังสิ่งมีชีวิตที่ฉีดไปตอนล้างห้องน้ำเมื่อวาน (ซึ่งก็ดูเหมือนไม่มีอะไรอยู่แล้วนา) ไม่รู้ทำไง (จริงๆ คือไม่รู้คืออะไรด้วย) เลยแผ่กุศลให้ไปก็กลายเป็นสีทองแล้วยกถวายพระพุทธเจ้าไป

สิ่งที่สังเกตได้ชัดเจนคราวนี้ที่อยู่วัดคือ ตัณหาในการปฏิบัติที่อยากจะทำให้ได้อะไรขึ้นมาสักอย่างเกิดน้อยมาก ไม่รู้เพราะขี้เกียจรึป่าว 555 แต่ที่ชัดเจนคือ ใจไม่เดือดร้อนกับมรรคผลนิพพาน พ้นไม่พ้นทุกข์อะไรตามที่มันเคยเป็น

ใจที่เปิดเผยได้มันดีมาก

มาวัดคราวนี้เลยทำให้เข้าใจคำว่าราวเกาะของสติ และระลึกขึ้นมาว่าทำไมอนุสติมี 10 อย่าง (นี่อยู่มายังใช้ไม่ครบเลย แล้วถ้าครบแล้วใช้ซ้ำได้รึป่าว)

การดำเนินจากตัณหาไปอุปาทาน
เพราะอยากได้จึงแสวงหา
เพราะแสวงหาจึงได้มาซึ่งของรัก
เพราะได้มาซึ่งของรักจึง...
เพราะ...หวงแหน
เพราะหวงแหนจึงปิดกั้น