วันอังคารที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2566

NbN สังขารตอนอ่านความ

 ไม่ประมาทปัญญา ตามรักษาสัจจะ พึงเพิ่มพูนจาคะ พึงศึกษาแต่ทางสงบเท่านั้น

*** สันตรส (รอบที่ 1) ***
ไม่ประมาทปัญญา
รู้ว่าเมื่อไม่มีเหตุ ก็ไม่มีผล ตัณหาที่จะเป็นเหตุให้เวทนาไปเกิดต่อไปก็สิ้นไปในขณะนั้นๆ

ตามรักษาสัจจะ
รู้ว่านิพพานเป็นสิ่งที่ควรแจ้ง เมื่อใดที่ยังมีความเกิดดับ สิ่งนั้นหาใช่นิพพาน ระลึกไว้อย่างนี้

พึงเพิ่มพูนจาคะ
รู้ว่าความถือมั่นในสังขารท.ย่อมละไป ความสละนี้จักบริบูรณ์ได้ เมื่อการสมาทาน (ศีล สมาธิ ปัญญา) บริบูรณ์

พึงศึกษาแต่ทางสงบเท่านั้น
รู้ว่าความสงบเท่านั้นคือเป้าหมาย ความเกิดขึ้นไม่ได้อีกของอภิชฌา อาฆาต และอวิชชานั่นแหละคือความสงบอย่างยิ่ง

*** รอบที่สอง (ก็ยังได้สันตรสอยู่ดี ยังหาทางไม่เจอ) ***

ไม่ประมาทปัญญา

รู้ว่าเวทนาเป็นของแตกดับ เสื่อมสลาย ตัณหาต่อเวทนานั้นจึงไม่อาจตั้งอยู่ได้
รู้ว่าความเพลินนี้เองเป็นเหตุ ให้ได้มาต่อซึ่งเวทนา
เมื่อรู้ว่าเวทนามีลักษณะเสื่อมสลายไปอย่างนี้ เมื่อปัจจัยแห่งผัสสะ คืออายตนะดับลงเมื่อชีวิตสิ้นสุด เวทนาย่อมดับไปตลอดกาล
นี้คือความรู้
เมื่อรู้อยู่เช่นนี้ ความเพลินไม่อาจตั้งอยู๋ เป็นอันละไปอย่างนั้น
นี้คือปัญญาที่รู้ว่าความสิ้นทุกข์เป็นอย่างนี้

ตามรักษาสัจจะ

เมื่อชัดเจนว่าทุกข์ดับลงอย่างนั้น
เมื่อพ้นแล้วก็รู้ชัดว่าพ้นแล้ว
ความพ้นนั้น ก็รักษาตัวมันเองอยู่อย่างนั้น
ไม่ลงไปเกลือกกลั้วกับความเข้าใจผิดอย่างเก่าก่อนได้อีก
ชัดเจนในสิ่งที่เลอะเลือนได้ ชัดเจนในสิ่งที่เลอะเลือนไม่ได้
ไม่ปะปนกันอีกต่อไป สัจจะนั้นแหละตามรักษาสัจจะ

พึงเพิ่มพูนจาคะ

ในความแจ้งชัดแห่งความไม่เลอะเลือนนั้นเอง
ความมั่นหมายในอุปธิทั้งหลาย เป็นอันปลงลง
เธอสละความผูกพันในสิ่งอันเคยยึดถือได้
และความยึดถือเพลิดเพลินนั้นไม่กลับมีขึ้นอีกต่อไป

พึงศึกษาแต่ทางสงบเท่านั้น

นี้คือความสงบ
นี้คือความไม่เกิดของราคะ
นี้คือความไม่เกิดของโทสะ
นี้คือความไม่เกิดของโมหะ
ก็ความไม่เกิดขึ้นอีกต่อไปอย่างนี้ นี่แหละความสงบอันยอดเยี่ยม

เราเรียกบุคคลผู้นั้นว่า มุนีผู้สงบ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น