ผู้ที่พิจารณาเด่นในความไม่เที่ยง
จะเห็นสังขารปรากฏเป็นของสิ้นไป เสื่อมไป
ในใจจะรู้สึกว่ามีแต่ของหมดไปๆ แม้ของยังไม่หมด ก็ปรากฏในใจว่าหมด
แม้กำลังมีอยู่ ก็ปรากฏว่าหมด
เมื่อพิจารณาความไม่เที่ยงบ่อยๆ
จิตจะมากด้วยความน้อมใจเชื่อ เชื่อพระพุทธเจ้า
จิตก็จะดิ่งลงในลักษณะเป็นอธิโมกข์ คือมีสัทธินทรีย์เป็นตัวนำ
คนที่เดินตามสัทธินทรีย์ที่นำหน้าไป นี้เรียกว่า สัทธานุสารี
เดินตามมรรคมีองค์ 8 เรื่อยไปจนบรรลุธรรม ก็เรียกว่า สัทธาวิมุตติ
ได้อนิมิตตวิโมกข์ คือความหลุดพ้นโดยเห็นว่า
โลกนั้นไม่มีเครื่องหมายใดๆ ที่พอจะไปจับ ไปถือ ไปต้องเอาไว้ได้
เพราะมีแต่ของสิ้นไป หมดไปๆ
ท่านก็เห็นมุมอนัตตาเช่นกัน เพียงแต่จุดเน้น เน้นมาทางไม่เที่ยง
ผู้ที่พิจารณาเด่นในความเป็นทุกข์ เป็นของบีบคั้น
จะเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว
จิตก็จะหงอย เหงา
ปฏิบัติก็มักต้องฝ่าฟันความลำบากนานาประการ
จิตท่านจึงเน้นไปทางสมาธิ คือมีจิตมั่นคง ไม่หวั่นไหว
เพราะโลกมันมีแต่ทุกข์ เป็นของน่ากลัวอยู่เสมอ จึงระมัดระวังจิตใจมาก
มักจะไม่เข้าไปยุ่งกับคนนั้นคนนี้ เพราะสิ่งต่างๆ ปรากฏแก่ใจแล้วว่าน่ากลัวทุกอย่าง
อินทรีย์ที่เป็นตัวนำคือ สมาธินทรีย์ มีความไม่หวั่นไหวไปกับโลกเป็นตัวนำ
เรียกท่านเหล่านี้ว่า กายสักขี
เห็นโลกเป็นทุกข์ พึ่งพาอาศัยไม่ได้ ต้องพึ่งจิตตนเท่านั้น
เมื่อบรรลุธรรม ก็เรียกว่า กายสักขี เช่นเดิม
เมื่อบรรลุธรรมเรียก อัปปนิหิตวิโมกข์ คือบรรลุโดยเห็นว่า
โลกสังขารมีแต่ทุกข์ ไม่อาจจะหยั่งลงตรงไหนได้
ผู้ที่พิจารณาเด่นในควาเป็นอนัตตา
สังขารจะปรากฏเป็นความไม่ใช่ตัวตน ว่างจากตน
ไม่มีใครทำเหตุ ไม่มีใครรับผล
อินทรีย์ที่มากคือ ปัญญินทรีย์
ท่านที่หยั่งลงสู่ปฏิปทาเช่นนี้ เรียก ธัมมานุสารี
เมื่อบรรลุธรรม เรียก ทิฏฐิปปัตตะ บรรลุเพราะความเห็นตรงถูกต้อง
เมื่อได้บรรลุ ก็เรียกว่าเป็นแบบสุญตวิโมกข์
สตินทรีย์และวิริยินทรีย์ ทุกคนมีเหมือนกัน
แต่ความโดดเด่นจะแตกต่างกัน 3 อินทรีย์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น