วันพุธที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

ทิฏฐิ 18 อาการ

 มิจฉาทิฏฐิ  มีในสมัยนั้น เป็นไฉน

ทิฏฐิ  ความเห็นไปข้างทิฏฐิ  ป่าชัฏคือทิฏฐิ  กันดารคือทิฏฐิ ความเห็นเป็นข้าศึกต่อสัมมาทิฏฐิ ความผันแปรแห่งทิฏฐิ สัญโญชน์คือทิฏฐิ  ความยึดถือ ความยึดมั่น ความตั้งมั่น  ความถือผิด  ทางชั่ว  ทางผิด  ภาวะที่ผิด  ลัทธิ เป็นบ่อเกิดแห่งความพินาศ การถือโดยวิปลาสในสมัยนั้น  อันใด  ชื่อว่ามิจฉาทิฏฐิ  มีในสมัยนั้น

อาการของทิฏฐิ

ทิฏฐิคตํ - อาการตกร่อง ไปตามร่องของมัน ตกร่องไปตามเห็นผิด

ทิฏฐิคหณํ - ความรกคือทิฏฐิ รกคือมันแก้ยาก จะทำอะไรสักอย่างย้ากยากลำบากลำบน ปัญหาเยอะไปหมด ทำอย่างนั้นไม่ได้ ทำอย่างนี้ก็ไม่ได้ นั่นแหละอาการรก อาการทิฏฐิ

ทิฏฐิกนฺตารํ - กันดารคือทิฏฐิ กันดารคือมีภัยอันตรายอยู่ข้างหน้า เวลาทิฏฐิกลุ้มรุมจิต อันตรายรออยู่ข้างหน้าเพียบเลย

ทิฏฐิวิสูกํ - เสี้ยนหนามคือทิฏฐิ รู้สึกว่าสัมมาทิฏฐิเป็นเสี้ยนหนาม คือรู้สึกว่าไอ้ฝ่ายถูกเนี่ยมันผิด 

ทิฏฐิวิปฺปนฺนตํ - วิบัติคือทิฏฐิ เสียหาย ผิดพลาด เพี้ยนไป ของดีๆ หายหมดเวลาทิฏฐิเกิด

ทิฏฐิสญฺโญชนํ - เครื่องประกอบคือทิฏฐิ ประกอบไว้กับทุกข์ในอบาย ประกอบไว้กับเรื่องไม่เป็นเรื่อง หาแต่เรื่องคิดให้เหมือนกับทิฏฐิ ทำให้เหมือนกับทิฏฐิ

ทิฏฐิสลฺลํ - ลูกศรคือทิฏฐิ ถ้าเจาะเข้าไปข้างในแล้วถอนยาก ไปคุยด้วยแม้จะให้เหตุผลขนาดไหนก็ยังดื้ออยู่

ทิฏฐิสมฺภโว - สมภพคือทิฏฐิ ความคับแค้น ความบีบคั้น อาการคับแค้น คับแคบในจิต แคบหนักๆ เข้าก็รู้สึกเหมือนเราอยู่คนเดียวในจักรวาล คือว่าเราถูกที่สุดในจักรวาล

ทิฏฐิปลิโพโธ - ความกังวลคือทิฏฐิ ทำนี่รึยัง ทำนั่นหรือยัง

ทิฏฐิพนฺธนํ - เครื่องผูกคือทิฏฐิ ผูก คือแก้ได้ยาก

ทิฏฐิปปาโต - เหวคือทิฏฐิ คือตกแล้วขึ้นยาก

ทิฏฐานุสโย - อนุสัยคือทิฏฐิ อนุสัยหมายถึงกิเลสที่มีกำลังแรง กำลังแรงคือ กุศลธรรมดา (ศีล สมาธิ) เอาไม่อยู่ ต้องมรรคผล

ทิฏฐิสันตาโป - ความเดือดร้อนคือทิฏฐิ

ทิฏฐิปริฬาโห - ความเร่าร้อนคือทิฏฐิ เริ่มจากจิตและเผาผลาญจิต 

ทิฏฐินี่มันโหด ถ้ามีทิฏฐิบางประการเกิดขึ้นกับจิต เป็นทุจริตเลย อย่างเช่นมิจฉาทิฏฐิ ๑๐ ยังไม่ต้องทำอะไรเลย แค่คิดตามนั้นปุ๊บเป็นมโนทุจริตทันที และถ้ากรรมให้ผลเมื่อไร มีผลให้ตกอบายได้เลย นี้คือเร่าร้อนมาก

ไม่เหมือนกรรมอื่น กรรมอื่นนี่ต้องดูเจตนา ดูเจตนาแล้ว บางทีต้องดูองค์ด้วยว่าครบมั้ย ถึงจะเป็นทุจริต  

ทิฏฐิคณฺโฐ - เครื่องรัดคือทิฏฐิ รัดใครไว้? รัดเพื่อนไว้ คือรัดพวกเจตสิกอื่นๆ ทำให้ไปไหนไม่รอด พอมีทิฏฐิปั๊บจับมือกันลงอบาย ไปเกิดรูปเกิดนามกันในอบาย

ทิฏฐุปาทานํ - ความยึดมั่นคือทิฏฐิ

ทิฏฐาภินิเวโส - ความยึดอย่างเหนียวแน่นว่าอันนี้เท่านั้นจริง (อภินิเวส เป็นอาการหนักๆ ของทิฏฐิ) เราจริงๆ เขาจริงๆ เขาว่าเราจริงๆ !! 

ทิฏฐิปรามาโส - ถือเป็นอย่างอื่นคือทิฏฐิ หมายถึงความจริงเป็นอย่างนึง ไปถือเป็นอีกอย่างนึง ความจริงเป็นของไม่เที่ยงไปถือว่าเป็นของเที่ยง ต้นไม้ให้ร่มเงาไปถือว่าเป็นมงคล

 

ฟหกด


วันเสาร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2564

อุเปกขา (สังขารุเปกขา)

 มาจาก อุป + อิกฺข

อุป ในที่นี้ไม่ได้มาจาก เข้าไป ใกล้ มั่น แต่มาจาก อุปกฺขปติตา คือ การไม่ตกไปข้างใดข้างหนึ่ง

ส่วน อิกฺข แปลว่าเห็น

อุเปกขา มี 4 เจตสิก เวทนา / ตัตตรมัชฌัชตตา / วิริยะ / ญาณ

ตัตตรมัชฌัชตตา จะเป็นเจตสิกที่มาตบสมาธิให้พอดีกับปัญญา (บางทีสมาธิมันจะเลยปัญญาไป) เช่น ในอุเปกขาสัมโพชฌงค์ หรืออุเปกขาพรหมวิหาร จะเป็นเจตสิกตัวนี้

ถ้าใน สังขารุเปกขาญาณ อุเปกขาตัวนี้คือ ญาณ คือทำหน้าที่เห็น
เห็นแบบไม่ตกไปข้างใดข้างหนึ่ง
วิจารไปตามธรรม ว่าไปตามความรู้ ตามสภาวะที่มันเป็น
ไม่ไปรังเกียจสังขารที่เป็นทุกข์ ไม่ได้ไปให้ราคากับนิพพาน

สังขารอุเปกขา ญาณ

ญาณ รู้สังขาร
ญาณ รู้อุเปกขา
รู้สองอย่างว่าเป็นสังขารทั้งคู่ (เป็นการรู้แล้วทิ้ง)
คือ สังขารเป็นอันนึง อุเปกขาเป็นอันนึง ทั้งสองอันล้วนเป็นสังขาร

มุญจิตุกัมยตาญาณ ใคร่จะพ้นนี่ไม่ได้ "ใคร่"
แต่มันทบทวนพิจารณาความจริง และดำรงมั่นตั้งอยู่ในความจริงนั้นด้วย มีใจเป็นกลางว่ามันเป็นอย่างนั้นแหละ ว่ามันเป็นทุกข์ เป็นภัย เป็นเหยื่อล่อของตัณหา (สามิสัง) เป็นสังขาร

วันจันทร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2564

รู้ซื่อๆ

รู้ซื่อๆ คือรู้ใจตัวเองซื่อๆ รู้ซื่อๆ ที่ใจแล้วมันจะรู้ข้างนอกทางตาหูจมูกลิ้นกายใจซื่อๆ ไปด้วย

วันจันทร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2564

ภังคญาณ

 เห็นความดับของอารมณ์ และความดับของจิตที่เห็นความดับของอารมณ์นั้น (เห็นสองอย่าง) สิ่งที่ปรากฏคือ ความว่าง (สุญญโต)

จะละเอียดกว่าอุทยพยญาณ

สิ่งที่ปรากฏคือความว่าง = ว่างจากความเที่ยง ว่างจากความงาม ว่างจากความสุข ว่างจากความเป็นตัวตน

อนุปัสสนา วิปัสสนา และการละ

การใช้คำในปฏิสัมภิทามรรค

ถ้าอนุปัสสนา จะหมายถึง  ไตรลักษณ์ ได้แก่ อนิจจานุปัสสนา, ทุกขานุปัสสนา, อนัตตานุปัสสนา

ถ้าใช้คำว่าวิปัสสนา จะหมายถึง นิพพิทา..., วิราคา..., นิโรธา..., ปฏินิสสัคคานุปัสสนา (เริ่มที่ภังคญาณ จึงเรียกว่าวิปัสสนาจริง)

  1. อนิจจานุปัสสนา ละความเห็นว่าเที่ยง (นิจจสัญญา)
  2. ทุกขานุปัสสนา ละความเห็นว่าสุข (สุขสัญญา)
  3. อนัตตานุปัสสนา ละความเห็นว่าเป็นอัตตา (อัตตสัญญา)
  4. นิพพิทานุปัสสนา ละนันทิ (หมายถึง ตัณหาที่ประกอบด้วยปีติโสมนัส, เบื่อก็ละความเพลิน)
  5. วิราคานุปัสสนา ละราคะ (หมายถึง ตัณหาที่นอกจากนันทิ, เมื่อคลายกำหนัดย่อมละราคะ)
  6. นิโรธานุปัสสนา ละสมุทัย (หมายถึง ละความเกิด เกิดอะไรก็เกิดตัณหาแหละ ก็ละเอียดขึ้น หมายเอาตัณหาที่เอาสังขารเป็นอารมณ์, เมื่อตัณหาไม่เกิด ก็ชื่อว่าละความเกิด)
  7. ปฏินิสสัคคานุปัสสนา ละอาทาน (สละคืน มิใช่ถือเอาไว้ ก็คือดับตัณหาได้สนิท ไม่เกิดอีกต่อไป, เมื่อสละออก ก็ไม่ถือ)
อาทาน = ถือ ถือนี้หมายถึง เกิดอยู่เรื่อย ที่ดูเหมือนมันเที่ยงคือตัณหามันเกิดอยู่เรื่อย เกิดตอนไหนก็เกิดตอนมันถือ ตอนถืออันใหม่ก็ไม่ใช่ถืออันเดิม มันคนละถือกัน แต่ถ้าไม่มีญาณเห็นความดับ มันก็จะมั่วว่าที่ถืออยู่เป็นอันเก่า

ปชหติ = ละ หมายถึง มันเกิดลดลง, หรือเกิดก็มีกำลังลดลง ถ้าเกิดเรื่อยๆ เกิดบ่อยๆ ก็เรียกว่า ละไม่ได้

วันพฤหัสบดีที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2564

วันอาทิตย์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2564

ส่องอินทรีย์

บอกศรัทธาดี? ได้ยินอรหังนี่ขนลุกเลยมั้ย

บอกวิริยินทรีย์ดี? เวลาอกุศลจะเกิดนี่ปล่อยหรือห้าม
เวลาจะทำบุญผลัดไปก่อนหรือเปล่า

วันศุกร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2564

เมื่อมีคนมาบอกว่าเห็นอย่างนี้ (วิธีตอบของท่านเศรษฐี)

เห็นว่าโลกเที่ยง หรือโลกสูญนั้น (ที่เห็นผิดเป็นดังนั้น)
ที่เห็นเป็นดังนั้น ก็เพราะทำในใจไว้โดยไม่แยบคาย หรือได้ฟังมาเท่านั้น
ไม่ฉลาดคิดภายในตัวเอง
ได้รับเสี้ยมสอนมาจากครูอาจารย์ หรือคนรอบข้าง
(อโยนิโสฯ + ปรโตโฆสะ)

เหมือนเด็กฝันร้าย ไปหาแม่
แม่ก็จะไม่ได้ไปตามว่าเด็กฝันเรื่องอะไร
ก็แค่บอกว่า เจ้ากินเยอะ นอนเยอะ ถึงได้ฝันอย่างนั้น เท่านั้น
เพราะไอ้สิ่งที่ฝันโดยมากก็ไม่จริง ไม่จำเป็นต้องไปตาม

จับเอาเลยที่ท่านรู้สึกอย่างนนั้นนั่นเป็นทิฏฐิ
ทิฏฐินี้เกิดจากเหตุปัจจัย

สิ่งใดที่เกิดจากเหตุปัจจัย
สิ่งนั้นไม่เที่ยง 

สิ่งใดไม่เที่ยง
สิ่งนั้นเป็นทุกข์

สิ่งใดเป็นทุกข์
ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่เรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา

รวบเข้าเลย

วันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2564

อธิมานะ

ถ้ามานะเฉยๆ คือสำคัญตน

ถ้าอธิมานะ คือ สำคัญตนว่าได้ตรัสรู้ ได้บรรลุ ไม่ได้แปลว่าสำคัญตนมากๆ ไม่ได้แปลว่ามานะจัด

ข้อปฏิบัติต่อเสียงในศาสนานี้

 การแสดงธรรม จะไม่ได้แสดงแค่ว่า "เอ้อ นี่เสียง" แล้วหยุดอยู่แค่นี้ มันจะไม่ได้ประโยชน์อะไร


แต่จะแสดงในแง่ว่า เสียงนี้เป็นกามคุณนะ กามทั้งหลายเหมือนร่างกระดูก ไม่มีใครเข้าไปมีความสุขเพลิดเพลินได้อย่างแท้จริงในเสียงเหล่านั้น

กามทั้งหลายเหมือนชิ้นเนื้อ เครื่องเสียงเป็นที่แย่งชิงกัน เสียงรถยนต์ก็เป็นที่แย่งชิงกันอยู่แล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นวัตถุกาม

ก็เอาเรื่องกามมาวิเคราะห์เป็นโทษภัย พิษภัยเป็นต้น

หรือถ้าจะแสดงในแง่อายตนะ ก็แสดงเป็นเสียงอยู่ในฐานะเป็นอารมณ์ของโสตวิญญาณและธรรมที่สัมปยุตกับโสตวิญญาณ

ถ้าจะวิเคราะห์เสียง ก็มีอยู่แค่ 9 รูป เพราะหลักของเราไม่ใช่เพื่อสร้างเสียง แต่เพื่อตัดฉันทราคะในเสียง ตัวเสียงจริงๆ ไม่ได้มีอะไรให้มาวิเคราะห์มากมายในสายธรรมะ

เสียงอันนั้นเป็นปัจจัยให้ศีลธรรม เช่น อาศัยเสียง ทำบาปได้ไหม ชี้ในมุมนี้ ลำพังตัวเสียงเองไม่ได้มีอะไร เช่นเสียงดังๆ มาสตาร์ทรถอยู่หน้าเรา มโนทุจริตเริ่มเกิด สักพักวจีทุจริตอาจจะตามมา

เสียงทำให้เกิดอภิชฌาได้ไหม อยากได้เสียงพาตัวเองไปนั่งที่นั่นที่นี่บ้าง

ถ้าทุกขเวทนาจากเสียงก็เกิดโทสะ
ถ้าอุเบกขาเวทนาจากเสียงก็เกิดโมหะ

และก็เป็นปัจจัยแก่ตัณหาอยู่ดี ตัณหาเกิด อุปาทานเกิด คิดถึงเสียงก็เป็นมโนกรรม พูดถึงเสียงเป็นวจีกรรม ถ้ามีพฤติกรรมโต้ตอบจากเสียงก็กลายเป็นกายกรรม กรรมเหล่านี้ ก็เป็นปัจจัย เพื่อให้ "มีหูต่อไป"

ฉะนั้นเหตุที่ทำให้มีหูอันนั้น ก็คือความเพลินในเสียงอันนั้น

แล้วรู้เห็นอย่างไรถึงจะเบื่อหน่ายในเสียง จะได้เลิกเพลินในเสียงสักที นี่แหละที่เรียกว่าเป็นโยนิโสมนสิการ มาใคร่ครวญจนเบื่อหน่ายและคลายกำหนัด

ข้อปฏิบัติในศาสนานี้ไม่ใช่ไม่ไปสนใจเสียง แต่เข้าไปรอบรู้ในเสียงด้วยอำนาจของปริญญา 3

อย่างเสียงในทะเลที่ไม่ไปได้ยินมันล่ะ เกี่ยวข้องต้องไปพิจารณามั้ย?

ก็ต้องดูว่าเสียงนั้นเป็นอารมณ์ของจิตมั้ย?
เกี่ยวข้องกับกรรมไหม?

ซึ่งจิตและกรรมนี่แหละ เป็นที่ตั้งของตัณหาและอวิชชา 
กิเลสถ้าจะเกิดก็เกิดในสิ่งเหล่านั้นแหละ ในฐานะเป็นอารัมณปัจจัย   

เสียงนี้เป็นปัจจัยแก่กิเลสได้ 2 ปัจจัยเท่านั้นคือ
อารมณปัจจัย และอุปนิสยปัจจัย

สรุปประเด็น รู้เห็นอย่างไรจึงจะเบื่อหน่ายในเสียง

จับที่สมุฏฐานของเสียงเป็นอันดับแรก
  1. ตัวเหตุของเสียงมันจีรังยั่งยืนไหม
  2. แล้วตัวเสียงมันเที่ยงไหม?
  3. การได้ยินเสียงที่ต้องอาศัยหูนี่ ถ้าหูเสื่อมจะได้ยินไหม?
  4. ถ้ามีอะไรมากั้นที่พลังงานถ่ายทอดมาไม่ได้นี่จะดังไหม?
พิจารณาลงไตรสิกขา
  1. เสียงนี้ทำให้ผิดศีลมั้ย
  2. เสียงนี้ทำให้เจริญสมถะได้มั้ย
  3. เสียงที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน เช่น เสียงธรรมพระพุทธเจ้า เสียงนี้เป็นปัจจัยแก่จิตชนิดไหนบ้าง
มัชฌิมาปฏิปทานี้อยู่ตรงไตรสิกขา
ถ้ารับรู้อารมณ์อะไรแล้วไม่สามารถสงเคราะห์ลงไตรสิกขา เราจะไม่สามารถถึงมรรคได้
ตัวข้อปฏิบัติจริงๆ อยู่ตรงนี้

วันพฤหัสบดีที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2564

12/8/2021

 โทสะไม่ได้น่ากลัว ที่น่ากลัวคือสมุทัย
เมื่อล่วงเลยมโนกรรม หลุดไปถึงวจีกรรมแล้ว
สัญญาจะชัดเจนมากขึ้น ปรากฏทีไรเป็นทุกข์ทุกที วิปปฏิสารกันไป

แม้จะมีความจำอันชัดเจนอยู่ว่าสังขารก็ไม่เที่ยง
แต่ความจำนั้นก็เกิดดับ สลับแทรกกับสัญญาวิปลาสให้เดือดร้อน ตามวาระ

อยู่ๆ ก็คิดขึ้นมาว่า แม้ยังประมาทอยู่อย่างมาก
แต่ภพที่ 8 ก็ไม่มีสำหรับเธอนั้น 
มันอาจจะดูอะไรประมาณแถวๆ นี้แหละ  ไม่ต้องดูไกล

ข้อสังเกตเมื่อถูกพยาบาทนิวรณ์กลุ้มรุม  และใจชุ่มกามนานๆ
พอออกมาแล้วมันจะอยู่ในโหมดถีนมิทธะ ถ้ารู้ไม่ทันจะถูกครอบอยู่สักพัก
มันจะไม่ใช่ สาตสหคต


#บันทึกความคิดขำๆ ไม่มีอะไร
#ไม่มีของดีให้ดูก็ดูนิวรณ์นี่ล่ะวะ

วันอาทิตย์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2564

เฉยๆ ไม่ได้แปลว่าไม่มีตัณหา

 ตัณหา ไม่ได้มีแค่อารมณ์เพลิดเพลินในความสุข

จริงๆ ตัวอารมณ์ธรรมดา คืออุเบกขานี่อันนี้เกิดมาก

ในชีวิตทั่วๆ ไป ที่ไม่ค่อยได้รับอิฎฐารมณ์นี่

เช่น ว่าเห็นของตรงหน้าเนี่ย ไม่ได้โสมนัส แต่ก็ไม่ได้รังเกียจ และก็ไม่ได้ปัจจเวกอะไรด้วย

เฉยๆ นี่แหละโลภะ-อุเบกขา 

เหล่านี้นี่สมุทัยทั้งนั้น

ดังนั้น ปัจจัย-ปัจจยุบัน ต้องใคร่ครวญให้มาก

หูนี่คืออะไรมีปัจจัยอะไร ฟังนี่มีผลอะไร มันพาอะไรมา แล้วมันเที่ยงหรือไม่เที่ยง

การใคร่ครวญทั้งหมดเป็นไปเพื่อละฉันทราคะทั้งสิ้น

วันอาทิตย์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2564

อาราธนาศีล (แปลบาลี)

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๐๘)

--------------------------------------

คำอาราธนาศีล

มะยัง ภันเต, วิสุง วิสุง รักขะณัตถายะ, 
ติสะระเณนะ สะหะ, ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ.

ทุติยัมปิ มะยัง ภันเต ...
ตะติยัมปิ มะยัง ภันเต ...

เขียนแบบบาลี :

มยํ ภนฺเต, วิสุํ วิสุํ รกฺขณตฺถาย, 
ติสรเณน สห, ปญฺจ สีลานิ ยาจาม.

ทุติยมฺปิ มยํ ภนฺเต ...
ตติยมฺปิ มยํ ภนฺเต ...

.................

แปลเป็นคำๆ หรือภาษานักเรียนบาลีเรียกว่า “แปลยกศัพท์” คือยกคำบาลีขึ้นมาศัพท์หนึ่ง แล้วเป็นไทยไปทีหนึ่ง :

ภนฺเต ข้าแต่ท่านผู้เจริญ
มยํ อันว่าข้าพเจ้าทั้งหลาย
ยาจาม ย่อมขอ
สีลานิ ซึ่งศีลทั้งหลาย
ปญฺจ ห้าข้อ
สห พร้อม
ติสรเณน ด้วยไตรสรณะ
รกฺขณตฺถาย เพื่อต้องการจะรักษา
วิสุํ วิสุํ เป็นส่วนๆ 

ทุติยมฺปิ แม้ในวาระที่สอง 
ภนฺเต ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ...

ตติยมฺปิ แม้ในวาระที่สาม 
ภนฺเต ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ...

.................

ได้ความเฉพาะคำแปลว่า -

ข้าแต่ท่านผู้เจริญ อันว่าข้าพเจ้าทั้งหลาย ย่อมขอ ซึ่งศีลทั้งหลาย ห้าข้อ พร้อม ด้วยไตรสรณะ เพื่อต้องการจะรักษา เป็นส่วนๆ 

แปลรวมความว่า -

ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าขอศีลห้าข้อพร้อมด้วยไตรสรณะ เพื่อรักษาแยกกันเป็นพวกๆ

.................

โปรดสังเกตว่า เวลาแปลเป็นไทย เราไม่ได้แปลเรียงคำไปตามลำดับคำบาลีที่เขียนไว้ แต่แปลคำนี้แล้วกระโดดไปคำโน้น

ถามว่า แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า ต้องแปลคำไหนก่อน แล้วแปลคำไหนต่อไป

ตอบว่า รู้ได้เมื่อเรียนหลักบาลีไวยากรณ์ แต่ไม่ต้องกลัว ตอนนี้เรารู้ได้ด้วยการจำเป็นคำๆ ไปก่อน

หรือจะจำสูตรไว้สั้นๆ พอหากินไปได้เฉพาะหน้าก็ได้ คือ -

...................................
ถ้าไม่มีคำอื่นมาตัดหน้าหรือมาแทรก -
(๑) หาประธานให้เจอก่อน แล้วไป -
(๒) คำกริยา (กิริยา) แล้วไป -
(๓) กรรม
...................................

แต่ถ้า-ประธาน-กริยา-กรรม คือคำหน้าตาเป็นอย่างไร ยังไม่รู้จัก ก็ต้องใช้วิธีจำเป็นคำๆ ไปก่อน

“มยํ” (อันว่าข้าพเจ้าทั้งหลาย) = ประธาน
“ยาจาม” (ย่อมขอ) = กริยา (กิริยา) > กิริยาที่ทำคือ “ขอ”
“สีลานิ” (ซึ่งศีลทั้งหลาย) = กรรม > สิ่งที่ถูกทำ คือถูกขอ

ยังมีเรื่องที่น่าคุยกันต่อ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๔
๑๘:๓๘

วันพฤหัสบดีที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2564

จาคะ vs ทาน

จาคะ เป็นชื่อของคุณธรรมของบุคคลผู้ไม่มีความตระหนี่ 

โดยที่สุดเป็นชื่อของนิพพาน

ทาน เป็นชื่อของเจตนา ที่จะนำสิ่งของหรืออะไรดีๆ เปลี่ยนมือเจ้าของจากเราไปให้แก่ผู้อื่น

วันอังคารที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2564

อีกมุมของสัญญา

สัญญาคือการล็อกสเปค 
สิ่งนี้ต้องเป็นแบบนี้ๆ
ควรเป็นอย่างนี้ๆ

แล้วก็เดือดร้อนกับความจริงที่ผิดกับที่หมายไว้ 5555

วันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

การท่องจำ ท่องได้ จำได้

การท่องได้ จำได้

มันอยู่ที่อุปนิสัย อะไรที่ประทับใจมันจะจำได้

ถ้าท่องได้จำได้ ก็จะสงเคราะห์ลงในชีวิตได้ง่าย เพราะศาสนานี้เริ่มต้นที่การฟัง

ถ้าท่องไม่ได้ จำไม่ได้ ก็เอามาใช้กับตัวเองไม่ได้ เล่าให้คนอื่นฟังก็ไม่ได้

แค่ความคิดว่า "รู้น่า รู้น่า"

ถ้าจำไม่ได้ ข้อมูลในการพิจารณาธรรมเราก็น้อย 

ถ้าจำไม่ได้ แน่ใจหรือว่าสิ่งที่เราปฏิบัติเป็นของพระผู้มีพระภาค

ถ้าพิจารณาตามความรู้ความนึกคิดของเราเอง แล้วเข้าใจว่า "นี่นะพระธรรมว่าไว้อย่างนี้" สวมรอยพรั่บเข้าไปเลย อันนี้น่ากลัว

ไอ้ตรงที่เราจะพิจารณาอย่างไรนี่ ยังไม่มีใครตำหนิอะไรหรอก

แต่ถ้าดันเอาความนึกคิดที่ปรุงขึ้นมาเองแล้วตู่ว่านี่เป็นพระธรรม อันนี้มีโทษมากมายมหาศาล

พระธรรมนี่ถ้าเข้าใจถูก มีคุณค่ามากมายมหาศาล แต่ถ้าเข้าใจผิดก็มีโทษมากมายมหาศาลเช่นกัน

เหมือนกันหมอที่เขาปรุงยาไว้ดีแล้ว แต่ก็มีคนเผลอไปกินแล้วตาย ถามว่าโทษหมอได้ไหม? ก็โทษไม่ได้ เพราะคนเอาไปกินไม่รู้จักขนาด ไม่รู้จักขนานอะไรๆ เอง

พระธรรมนี่มีค่ามาก ใช้กะๆ เอาไม่ได้ ทีวิชาอื่นมีค่าน้อยยังท่องซะเป๊ะๆ

ฉะนั้นถ้ามีศรัทธาท่องได้แน่นอน 

ถ้าคิดว่าพระธรรมดีมากๆ ยังไงก็จำได้ 

แต่ถ้าคิดว่าพระธรรมก็งั้นๆ ยังไงก็จำไม่ได้

จะจำได้หรือไม่มีปัจจัยอยู่ 2 ตัว

1.เป็นอารัมณาธิปติมั้ย หรือ
2.เป็นสหชาตาธิปติไหม

ก็คือตระกูลอธิปติปัจจัย

เช่น บางเหตุการณ์เราตกใจแต่จำเอามาเล่าได้ อันนี้คือสหชาตาธิปติ

ในขณะนั้นมี ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา อย่างใดอย่างหนึ่งในขณะนั้นก็จะจำได้

หรือสอง

อารมณ์นั้นเป็นอารัมณาธิปติ 

คือเป็นอารมณ์หนัก อารมณ์ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ก็จะเป็นเหตุให้จำได้

ดังนั้นถ้าเราปลูกฝังสองอย่าง

หนึ่ง ปลูกฝังให้จิตเรามี ฉันทาธิปติ หรือ...วิมังสาธิปติ นี้นัยหนึ่ง

อีกนัยหนึ่งก็ให้อารมณ์ที่น่าฝักใฝ่ น่าปรารถนา ปลูกฉันทะอย่างแรงกล้าในอารมณ์นั้นๆ

แต่สำคัญที่สุดก็คือทัศนะคติเบื้องต้น "เชื่อมั้ยว่าเราจำได้" ก่อน

กรณีศึกษาตัดหัวเป็นพุทธบูชา

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเนี่ย
มีพวกเราถามหลวงพ่อว่า
กรณีพระองค์หนึ่งไปตัดหัวตัวเองเป็นพุทธบูชา
บอกมันถูกมันผิดอะไร มันจะเป็นยังไง ?
การฆ่าตัวตายยังไงก็บาป 
ไม่มีข้อยกเว้นว่าใครจะเป็นคนฆ่า
ถ้าเจตนาฆ่าสัตว์ให้ตายก็บาปแล้ว
เพราะงั้นตรงนี้ถ้าเป็นพระไปฆ่าตัวตาย 
เนี่ยปาราชิกเลย
แต่ถ้าเป็นฆราวาสอย่างเคสที่เป็นข่าววันนั้น
เขาสึกก่อน เพราะงั้นเป็นฆราวาสฆ่าตัวตาย

นี้การฆ่าตัวตายเป็นพุทธบูชาเป็นความเชื่อ 
เป็นความเชื่อของคนกลุ่มหนึ่ง
อ่านประวัติพระเมตไตรย
บอก พระเมตไตรยเนี่ยตอนเจอพระพุทธเจ้าครั้งแรก
ไม่ใช่องค์นี้นะ พระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ
ท่านเลื่อมใสศรัทธารุนแรง
ท่านเป็นพวกศรัทธากล้า เป็นพวกวิริยะกล้า
ท่านไม่ใช่พวกปัญญากล้า หรือสมาธิกล้า

ตำราบอกว่าท่านตัดศรีษะบูชาพระพุทธเจ้า
ตำรานั้นเราก็ต้องดูนะ มันตำราชั้นไหน
ตำราถ้าอยู่ในพระไตรปิฎกก็เป็นของแน่นอน
ถ้าเป็นตำราที่พระรุ่นหลังท่านแต่งขึ้นมานะ
บางทีแต่งเพื่อจะบิ้วออกไปทางดราม่ามาก
เพื่อให้รู้สึกว่าเนี่ยท่านศรัทธาจริง

มีข้อยกเว้นมั้ยว่า
พระโพธิสัตว์ทำบาปแล้วไม่บาป ? ไม่มี
นี้เราไปเห็นว่าเนี่ยเป็นพระเมตไตรย
เรานับถือพระศรีอาริย์
งั้นสิ่งที่ท่านทำต้องดีที่สุดถูกที่สุด
อันนั้นเป็นความงมงาย
เราต้องไม่ลืมอย่างหนึ่งนะพระโพธิสัตว์เป็นปุถุชน
พระโพธิสัตว์ยังเวียนลงนรกได้
งั้นสิ่งที่ทำเนี่ยไม่แน่ว่าจะถูกเสมอไป
มันก็ต้องใช้สติใช้ปัญญานะ
อะไรที่มันผิดศีลนั้นต้องไม่ทำ
ถ้ายังทำอยู่แล้วก็มันไม่ถูกหรอก

งั้นพระโพธิสัตว์นะท่านยังลองผิดลองถูกอยู่
ยุคของเราเนี่ยนับถือพระโพธิสัตว์
มากกว่านับถือพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าสอนอะไรไม่ค่อยเชื่อนะ
ไปดูแบบอย่างพระโพธิสัตว์
งั้นท่านทำถูกบ้างผิดบ้างเป็นเรื่องปกติ
เอาเป็นต้นแบบ เป็นนิยามอันดี ..ไม่ได้

ถ้าดูจริยวัตรของพระพุทธเจ้า
อันนั้นถึงจะใช้ได้
ดูจริวัตรพระพุทธเจ้าแหละ
องค์เดียวนี่แหละสำคัญที่สุด
พระอรหันต์สาวกบางทียังทำอะไรที่ไม่สมควรเลย
อย่างมีองค์หนึ่งนะ
ท่านเหาะขึ้นไปเอาบาตรไม้จันทร์
เพื่อไม่ให้คนต่างศาสนาเนี่ยดูถูกศาสนาพุทธ
ท่านเลยแสดงอิทธิฤทธิ์ขึ้นมา
พระพุทธเจ้าก็ตำหนิ ไม่ใช่ไม่ตำหนิ
งั้นไม่ใช่จะใช้อะไรเป็นแบบอย่างได้ตลอด
คนใดคนหนึ่ง คนที่สมบูรณ์ที่สุด
เป็นแบบอย่างได้แน่นอน
คือพระพุทธเจ้าเท่านั้นแหละ
เราก็ดูตัวอย่างไป

บางคนเขานับถือครูอาจารย์
เอาครูอาจารย์เป็นแบบอย่าง
ครูอาจารย์บางทีท่านก็อัตโนมัติของท่านเหมือนกันนะ
งั้นจะมีข้อวัตรอะไรเฉพาะตัวที่ท่านเคยทำแล้วมันดี
เราไปเห็นตัวอย่างครูบาอาจารย์ท่านทำอย่างนี้แล้วดี
เราก็เอาอย่าง อะไรอย่างนี้
มันอาจจะไม่ดีสำหรับเราก็ได้

งั้นเราก็ทำอะไรก็ต้องมีเหตุมีผลนะ
อย่างการฆ่าตัวตายเนี่ย
บัณฑิตทั้งหลายเขาติเตียนทั้งนั้นแหละ
หลวงพ่อไปเห็นคำสอนครูบาอาจารย์
หลายองค์นะท่านพูดถึงการฆ่าตัวตาย
อย่างสมเด็จพระญาณสังวร เนี่ยท่านไม่ธรรมดา
ท่านสมบูรณ์พร้อมทุกสิ่งทุกอย่างเลยนะ
ท่านยังพูดเลยว่าร่างกายนี้มีประโยชน์
เอาไว้ทำประโยชน์
เอาไปฆ่าทิ้งแล้วมันไม่มีประโยชน์อะไร
เป็นบาปเป็นกรรม ก็เสียประโยชน์ของตัวเอง
เสียประโยชน์ของผู้อื่นด้วย

งั้นเรื่องฆ่าตัวตายเป็นพุทธบูชาอะไร
เนี่ยอย่าไปทำเลย ไม่มีประโยชน์อะไร
เป็นความงมงาย
ถามว่าพระพุทธเจ้าท่านอยากได้หัวของใครมั้ย ?
ท่านไม่ได้อยากได้หัวของใครหรอก
เอาหัวไปใส่บาตร ท่านเอามั้ยล่ะ ?
ท่านก็ไม่ได้ปลื้มด้วยหรอกนะ

แต่ถ้ามองอย่างกรณีพระเมตไตรยนะ
หลวงพ่อมองอีกอย่างหนึ่งนะ
คำว่าตัดศรีษะตัดหัวของท่านนี่นะ
มันคือคำว่าตัดอัสมิมานะ
ท่านเป็นกษัตริย์ในยุคนั้น
กษัตริย์ยังไงก็มีความถือตัว
แต่พอเจอพระพุทธเจ้าเนี่ยตัดหัว
อาจจะเป็นธรรมาธิษฐาน
การตัดหัวก็คือการตัดมานะถือตัว
ตัดอัสมิมานะกูเหนือคนอื่น
อย่างนี้ต้องตัด ถ้าท่านตัดได้ ดีที่สุดเลย
ถ้าตัดหัวจริงๆเนี่ยไม่ได้ประโยชน์อะไร

นี้เรามอง บางทีนิทานตำนานทั้งหลาย
ถ้ามองทะลุนิทานเข้าไปให้เห็นธรรมะให้ได้
การตัดหัวที่ดีที่สุดนั้น คือการตัดอัสมิมานะ
กูเหนือคนอื่น กูแน่กูหนึ่ง กูไม่ก้มหัวให้ใคร
เนี่ยตัวนี้ดูให้ดี ในตำราชั้นไหนเขียนไว้ ดูเอา
ถ้าชั้นพระไตรปิฎกก็เชื่อถือได้
ชั้นรองๆลงมาบางทีก็แฝงธรรมะซ่อนเอาไว้
ก็ต้องมีสติมีปัญญามองให้ออก
มองไม่ออกก็คิดว่าทำอย่างนี้แหละแล้วได้บุญ
ได้บาป ไม่มีได้บุญหรอกการฆ่าสัตว์
งั้นเข้าใจอย่างนี้นะ ชาวพุทธอย่าโง่งมงาย
เดี๋ยวก็เลียนแบบกัน ใช้ไม่ได้

งั้นการภาวนานะต้องฝึกตัวเอง
ให้มันมีศีล ให้มันมีสมาธิ ให้มันมีปัญญา
มีปัญญาอย่างต่ำเลยก็เชื่อในกฎแห่งกรรม
เชื่อเหตุเชื่อผล 

_/|\_ _/|\_ _/|\_

พระธรรมเทศนา #หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช

วัดสวนสันติธรรม บ้านโค้งดารา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

แสดงธรรมเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2564
.....
<<< แนวคิดตัดหัวบูชาพระพุทธเจ้า เคยมีมาก่อนไหม? >>>
ว่ากันว่า พญามารในยุคพระพุทธโคดมนี้
อดีตท่านเคยพบพระพุทธเจ้าพระนามว่า ‘กัสสปะ’
ได้ฟังธรรมจากพระพุทธกัสสปะแล้วเลื่อมใส
ขนาดลั่นวาจา ปรารถนาความสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าบ้าง
แล้วบั่นศีรษะของตนต่อเบื้องพระพักตร์
เพื่อพิสูจน์ความปรารถนาอันแรงกล้านั้นด้วยชีวิต
ซึ่งฟังแล้วไม่ค่อยน่าเชื่อ
เพราะคอคนไม่ได้ตัดกันง่ายๆ
ขนาดเพชฌฆาตผู้ล่ำสัน
บางทีสับคอนักโทษประหารแรงๆ
ยังต้องออกกำลังสองหนสามหน
นี่ให้เอาดาบตัดคอตัวเองในท่านั่ง
จะให้มีแรงบั่นไปจนขาดได้อย่างไร
อีกทั้งไม่น่าจะเป็นพุทธวิสัย
ที่ทอดพระเนตรดูใครตัดหัวถวายพระองค์
(ในตำนานกล่าวเสียอีกว่า 
พระพุทธกัสสปะทรงสนับสนุนให้ทำจนสำเร็จ)

เรื่องอดีตชาติของพญามาร
ไม่ได้มีอยู่ในพระไตรปิฎก
เป็นตำนานนอกคัมภีร์
แต่เมื่อเล่าขานนานเข้า
ก็กลายเป็นแรงบันดาลใจ
ให้คนบางกลุ่มที่ต้องอัธยาศัยเดียวกันนึกครึ้ม
อยากเอาเป็นแบบอย่างบ้าง
โดยจำไว้ง่ายๆว่า
ถ้าอยากเป็นพระพุทธเจ้า
หรือเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า
ให้ตัดคอตัวเองบูชาพระพุทธเจ้า
แล้วตั้งความปรารถนานั้นให้มั่นคง

ตัวตำนานเกี่ยวกับอดีตชาติของพญามาร
ยังมีความสับสน
เพราะอีกกระแสเล่าว่า
ยุคของพระพุทธกัสสปะนั้น
พญามารเกิดเป็นอำมาตย์ของพระราชา
และครั้งหนึ่ง พระพุทธกัสสปะเพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติ
(สมาธิที่เทียบเท่ากับการเข้านิพพานโดยตรง)
อำมาตย์จึงพาภรรยาไปถวายทาน
ทั้งที่พระราชาสั่งประชาชนทั้งเมืองไว้ว่า
ต้องให้พระราชาได้ถวายก่อนใคร
และคาดโทษว่าใครฝ่าฝืนถวายก่อนพระองค์ จะโดนประหาร
แต่อำมาตย์ก็ยอมตาย ขอให้ได้ถวายทานก่อนใครเพื่อน
ซึ่งในความเป็นจริง
อำมาตย์จะเลือกเวลาท่าไหน
จึงได้มีสิทธิ์ไปถึงก่อนขบวนเสด็จที่ยิ่งใหญ่ได้
ทั้งเมื่อพระราชาทราบเรื่องพระพุทธเจ้าออกจากนิโรธสมาบัติ
แล้วอยากถวายเป็นคนแรกขนาดนั้น
เพียงให้ทหารไปเฝ้ารอบๆที่ประทับของพระพุทธกัสสปะ
ก็ไม่มีผู้ใดมีสิทธิ์ถวายทานแด่พระพุทธองค์เป็นแน่แล้ว
ตำนานนี้จึงขัดกับความน่าจะเป็นไปได้จริงเช่นกัน

<<< สิ่งที่อดีตพระธรรมกรทำ เจตนาอันเป็นเครื่องชี้กรรมคืออะไร? >>>
ต้องมองให้ครบว่า
เจตนาที่แท้จริงของท่าน
ไม่ใช่ตัดหัวเพื่อบูชาพระพุทธเจ้า
แต่เป็นการตั้งใจปรารถนาว่า
ขอให้ตนได้อยู่ในเส้นทางเกิดตาย
แบบที่ปลายทางได้เป็น
พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งในอนาคตกาล
ความปรารถนานี้ของท่าน
เขียนไว้บนแผ่นหินอ่อนชัดเจน
แต่ไม่ค่อยมีใครนำมากล่าวถึง
เพราะฟังแล้วไม่เป็นที่เข้าใจแก่คนทั่วไป

ท่านธรรมกรน่าจะเข้าใจว่า
การถวายชีวิตบูชาพระพุทธเจ้า
แล้วปรารถนาความสำเร็จเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า
จะได้สำเร็จผลเหมือนตำนานอดีตพญามาร

<<< พระปัจเจกพุทธเจ้า ต่างจากพระพุทธเจ้าอย่างไร? >>>
พระพุทธเจ้า ค้นพบวิธีทำลายอวิชชา
พ้นทุกข์ เป็นพระอรหันต์ด้วยพระองค์เอง
อีกทั้งชอบช่วยคนมานานนับอนันตชาติ
จึงมีบารมีพอจะสถาปนาพระพุทธศาสนาขึ้นมา
สอนให้คนอื่นพ้นทุกข์ตาม
ขนสัตว์ออกจากวัฏสงสาร
แทนการเอาตัวรอดเฉพาะองค์

ส่วนพระปัจเจกพุทธเจ้า ค้นพบวิธีทำลายอวิชชา
เป็นพระอรหันต์ด้วยพระองค์เองเช่นกัน
แต่ไม่มีอัธยาศัยช่วยผู้คนไพศาล
ขวนขวายน้อย ไม่ก่อตั้งพระพุทธศาสนา
ตามเส้นทางบุญ
ที่ได้ปรารถนาการรอดปลอดภัย 
ไปนิพพานเฉพาะตน

<<< สิ่งที่อดีตพระธรรมกรทำ จะสำเร็จตามความมุ่งหวังไหม? >>>
ต้องดูต้นทุนบุญใหม่ในชาตินี้ของท่านว่า
ท่านอายุ ๖๘ เป็นพระมานาน
บวชมาแล้ว ๒๐ พรรษา
สั่งสอนชาวบ้านให้เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ คิดดีทำดี
ไม่สุงสิงกับใคร ชอบอยู่ตามลำพัง
ไม่ขวนขวายเพื่อเอายศเอาตำแหน่ง
ไม่มีเรื่องด่างพร้อยให้ชาวบ้านระคาย
อีกทั้งท่านใกล้ตายอยู่แล้ว
แทนที่จะตายเปล่า
ก็ใช้ชีวิตที่เหลือเป็นเครื่องตั้งอธิษฐานจิต
ถางทางไปนิพพานตามวิธีที่ท่านปรารถนา
ยิ่งเมื่อคิดว่าท่านเตรียมการตัดหัวตัวเองมา ๕ ปี
สร้างเครื่องประหารเองโดยไม่ให้ใครยุ่งเกี่ยว
ต้องนับว่าไม่ใช่พวกเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ
จิตต้องแน่วแน่พอสมควร
สุดท้ายเอาจริง ไม่ลังเล
ก็นับเป็นกรรมอันแน่วแน่ ไม่ธรรมดานัก

อย่างไรก็ตาม
วิธีการทำบุญเพื่อตั้งอธิษฐานใหญ่ของท่านนั้น
ถ้ามองเผินๆเหมือนยอมตาย ไม่เสียดายชีวิต
แต่เป็นวิถีการอุทิศชีวิตที่วิญญูชนไม่สรรเสริญ
และโดยเส้นทางไปนิพพาน
คนที่มีสิทธิ์ไปถึงจริงนั้น
ศรัทธากับปัญญาต้องได้ดุล
แต่นี่เส้นทางของท่านจะหนักไปทางศรัทธา
ซึ่งแปรปรวนง่าย
พระสารีบุตรเคยบอกว่า
ไม่อาจรับประกันศรัทธาของปุถุชนได้แม้แต่วันเดียว
แม้ปากเขาจะบอกว่าศรัทธาท่านปานใด
และนั่นก็เป็นในทำนองเดียวกันกับศรัทธาชนิดอื่น
มีเรื่องเล่ามากมายทั้งอดีตและปัจจุบันว่า
การปรารถนาพุทธภูมิก็ดี ปัจเจกภูมิก็ดี
ต้องใช้กำลังใจมั่นคงต่อเนื่องหลายล้านชาติ
ที่จะมีความคงเส้นคงวาไปทุกชาตินั้นยาก
ดังเช่นที่หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล 
ฟังธรรมจากท่านพระอาจารย์ม้าวแล้วเกิดความเลื่อมใส
กลับมาบอกพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโตว่า 
“เราได้เลิกการปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว 
และเราก็ได้เห็นธรรมตามความเป็นจริงแล้ว”

หากชาติต่อๆไปท่านธรรมกรพบพุทธศาสนา
พบอาจารย์ดี เปลี่ยนใจลาเส้นทางปัจเจกภูมิ
ก็เท่ากับชาตินี้ตายฟรีไปชาติหนึ่ง

<<< สิ่งที่อดีตพระธรรมกรทำไป ถูกทางหรือผิดทาง? >>>
ความปรารถนาในระดับข้ามภพข้ามชาตินั้น
เป็นเรื่องรู้เฉพาะตนที่ไม่มีถูกไม่มีผิด
แต่ที่น่าคำนึง คือ วิธีที่ท่านทำ
ไม่ใช่สิ่งที่วิญญูชนไหนๆเห็นเป็นเรื่องน่าสรรเสริญ
ทุกคนย่อมประสานเสียงเดียวกันว่า มันผิด
มันเป็นเรื่องที่ฉุดให้พระศาสนาหม่นหมอง
กระทำพระศาสนาให้เหมือนลัทธิฆ่าตัวตาย 
งมงาย ไร้เหตุผล น่าขบขัน
ควรแก่การเยาะเย้ยถากถางสำหรับผู้ไม่ศรัทธาอยู่เป็นทุน
พูดง่ายๆ ถ้าแอบทำเงียบๆ 
ไม่ทิ้งร่องรอยไว้ น่าจะประเสริฐกว่านี้

<<< สิ่งที่อดีตพระธรรมกรทำไป ต้องรับผลดีร้ายอย่างไร? >>>
สิ่งที่ท่านทำ
เรียกว่า ‘อัตวินิบาตกรรม’
คือ ปลิดชีวิตตัวเอง
ไม่ใช่ ‘ปาณาติบาตกรรม’
ซึ่งหมายถึงเอาชีวิตผู้อื่น

อัตวินิบาตกรรม
ต้องใช้กำลังใจมากกว่าปาณาติบาตกรรม
ให้ผลหนักแน่นกว่าปาณาติบาตกรรมมาก

แต่ต้องดูด้วยว่า
ขณะก่ออัตวินิบาตกรรม
จิตเศร้าหมอง
ด้วยความอยากตัดช่องน้อยแต่พอตัว
หรือมีจิตศรัทธาผ่องใส
ด้วยเป้าหมายที่คิดว่าดี
พระพุทธเจ้าตรัสว่า
ถ้าจิตเศร้าหมอง ก็มีทุคติเป็นที่หวังได้
แต่ถ้าจิตไม่เศร้าหมอง ก็หวังสุคติได้อยู่

ภพชาติไม่ได้มีแค่เรื่องสุคติกับทุคติภูมิ
แต่ยังมีรายละเอียดในภพชาติที่ไปถึงด้วย
เช่น ถ้ากลับมาเป็นมนุษย์อีก
ชะตาของท่านจะเป็นอย่างไร
แน่นอน ท่านจะเป็นคนแบบนี้อีก
คือ ไม่สนว่าใครจะว่าอย่างไร
ถือว่าไม่ได้ทำตัวเป็นที่เดือดร้อนใคร
โดยที่ท่านไม่มองให้ถี่ถ้วนว่า
ผลลัพธ์ของสิ่งที่ท่านทำ
สะเทือนจิตใจชาวพุทธจำนวนมหาศาล
และท่านก็จะติดนิสัยไม่สนความรู้สึกผู้คนอีก

ดูง่ายๆ คนรับรู้เป็นล้าน
แต่น้อยคนมีกำลังใจพอจะอุทิศกุศลให้ท่านไปดี
เหมือนใจคนอยากตำหนิติเตียนท่านกันมากกว่าอย่างอื่น
เมื่อเกิดใหม่ชาติไหน
แม้ลืมกรรมนี้ไปแล้ว
ท่านก็จะเสวยผล
คือ ไม่ได้รับความไยดีจากคนรอบข้างอีก

<<< กรณีตัดหัวบูชาฯนี้ ให้บทเรียนอะไรกับชาวพุทธบ้าง? >>>
เรื่องของศาสนา
เป็นเรื่องที่ใหญ่กว่าชีวิตของผู้ศรัทธา
ศรัทธาที่ประกอบด้วยปัญญา
เป็นสิ่งที่พุทธเราย้ำนักย้ำหนา
อย่าเอาแต่เชื่อ
ให้ดูดีๆด้วยว่า
สิ่งที่เชื่อ ขัดกับสามัญสำนึกมนุษย์ไหม

ตำนาน คือเรื่องเล่าสืบๆกันมา
แตกต่างจากพระไตรปิฎก
ซึ่งเป็นการบันทึกอย่างมีหลักฐาน
และเนื้อหาส่วนใหญ่ในพระไตรปิฎกแนวเถรวาท
ก็มีการเจาะจงชัดเจนว่า
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ที่ไหน กับใคร
หากได้รู้ถึงแก่นที่พระพุทธเจ้าสอนจากพระไตรปิฎก
ผู้ศึกษาย่อมเท่ากับได้สามัญสำนึก
ทราบได้ด้วยตนเองว่า
มหาบุรุษเช่นพระพุทธเจ้า
ปรารถนาให้ทำหรือไม่ทำอะไรบ้าง
เช่น ถ้าคิดบูชาพระพุทธเจ้า
ก็ทราบว่าพระองค์ตรัสไว้ชัดๆ
ท่านพอพระทัยให้ปฏิบัติบูชา
ไม่ใส่ใจแม้ใครเอาอามิสบูชามาถวาย
ท่านพอพระทัยให้ปฏิบัติแบบไม่เสียดายชีวิต
แต่ไม่ใช่เอาชีวิตมาทิ้งไปเฉยๆ!

พรรณนาความตาย (สืบเนื่องจากกรณีศึกษาตัดหัวถวายเป็นพุทธบูชา)

บุคคลใดแลทิ้งกายนี้ ยึดมั่นกายอื่นบุคคลนั้นเราเรียกว่าควรตำหนิ ฉันนะภิกษุก็มีลักษณะเช่นนี้ไม่ 

(ฉันโนวาทสูตร)

อนึ่งที่กล่าวอย่างนี้มิใช่พรรณนาคุณแห่งความตาย

ภิกษุใดพรรณนาถึงความตาย ชักชวนเพื่ออันตาย หรือแสวงหาศัสตรามาเพื่อให้เขาตาย ถ้าเขาฆ่าตัวตายจริง ภิกษุนั้นต้องอาบัติปาราชิก

(อรรถกถา ตติยปาราชิกสิกขาบท
บทภาชนีย์ มาติกา มาติกาวิภังค์)
...
ทั้งนี้การพิจารณาว่าชีวิตมีความตายเป็นธรรมดา จัดเป็นตีรณปริญญา
...

วิรัติ วิรตี

ประเภทของวิรัติ

1. สมาทานวิรัติ
2. สัมปัตตวิรัติ
3. สมุจเฉทวิรัติ

วิรัติที่ไม่ได้สมาทานมาก่อน แต่ด้วยการพิจารณาชาติ วัย และด้วยความเป็นพหูสูตรของตนแล้วไม่ฝ่าฝืนวัตถุที่มีประจวบเข้าด้วยคิดว่า "เรื่องนี้ไม่เหมาะแก่เราที่จะกระทำ" นี้ชื่อว่า สัมปัตตวิรัติ

เช่น เราเกิดมารวยขนาดนี้แล้วจะไปขโมยอีกได้อย่างไร

เราอายุตั้งขนาดนี้แล้วจะไปกินเหล้าเมาอย่างนี้ได้อย่างไร

เราเรียนมาตั้งขนาดนี้ จะไปทำอย่างนั้นได้อย่างไร

...
วิรัติที่สมาทานมาก่อน และแม้สละชีวิตของตน ที่มีคุณค่ายิ่งกว่าสิกขาบทก็ไม่ล่วงละเมิดวัตถุ เพราะสมาทานสิกขาบทไว้ ชื่อว่าสมาทานวิรัติ 

สภาวะของศีล

สภาวะของศีล

มีสองคือ เจตนา และวีรตี

เจตนาต้องเป็นเจตนาที่เกิดร่วมกับมหากุศลจิต 8 ดวง

และวีรตีอีก 3 ดวง วีรตีเจตสิกนั้นเกิดร่วมกับมหากุศลเป็นครั้งคราว

วีรตี เป็นเจตสิกที่เกิดกับมหากุศลเท่านั้น และเกิดไม่แน่นอน

วันอาทิตย์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

เรื่องเศร้าหมองที่ควรคิด

เรื่องเศร้าหมอง

เรื่องแบบเดียวกันนี้บางทีก็แล้วแต่ใครคิด

บางคนคิดแล้วไม่เป็นอันทำอะไร อย่างนี้อย่าไปคิด

แต่บางคนขี้เกียจมาก พอคิดงี้แล้วกลัว ก็กระตุ้นตัวไม่ให้ประมาท รีบทำกุศล อันนี้คิดได้

อันนี้ท่านก็แสดงไว้ว่า อารมณ์ใดเห็นแล้ว ได้ยินแล้วกุศลเจริญ อารมณ์นั้นควรเสพ

มีเจตนา หรือ มีเหตุผล

เจตนาและเหตุผลเป็นคนละส่วนกัน

ที่พูดว่า "มีเจตนา/ไม่มีเจตนา" บางทีคือเอาเหตุผลมาพูด

จริงๆ มันเป็นคนละขณะกัน

อย่างปานาติบาต

โดยสภาพหรือสภาวะคือเจตนา

อารมณ์คือสังขาร (ที่นี้หมายเอาเฉพาะ ชีวิตินทรีย์)

มีเวทนาเป็นโทสะ

---
คำถาม
ตกปลาเป็นโทสะหรือ

คำตอบ
ตกปลามีหลายแบบ บางคนตกเล่น ไม่เจตนาที่ชีวิต ตกแล้วปล่อย อันนั้นเบียดเบียน

บางคนตกแล้วจะเอามันมากิน อันนี้เจตนาที่ชีวิต อันนี้คือปาณาติปาต

---

พระราชาสั่ง "เอามันไปหลับ" (ในความหมายเอามันไปประหาร) อันนี้ก็ปานาติบาต และคำพูดนั้นก็จัดเป็นคำหยาบ ไม่ใช่คำสุภาพ

---
คำถาม
ปลิดชีวิตด้วยสงสารอยากให้พ้นทรมาน เป็นปานาติบาตหรือไม่

คำตอบ
แยกคนละขณะกัน สงสารขณะหนึ่ง เจตนาปลิดชีวิตอีกขณะหนึ่ง

เราดูที่เจตนาเฉพาะหน้า ไม่ได้ดูที่เหตุผล

เอาเจตนาเป็นประมาณ ส่วนเหตุผลเอาเป็นประมาณไม่ได้ในการวินิจฉัยกรรม

บางคนเอาเหตุผลมาสับสนกับเจตนา ซึ่งเป็นคนละอย่างกัน ที่ว่าไม่มีเจตนา ไม่มีเจตนา มันคือสำหรับเขามันไม่มีเหตุผล

คำสอนในพุทธศาสนาจะแยกเป็นขณะๆ ไปไม่เหมา มันคนละอารมณ์คนละขณะกัน

สมมติว่าเจตนาดี แต่วิธีการไม่ดี ก็ว่าเป็นตอนๆ ไป ไม่ได้เอามารวมกัน กุศล-อกุศล ไม่ได้มาประมวลเป็นเรื่องเดียวกัน

เช่น ในการล้มหมูตัวหนึ่ง ที่ประชุมนั้นบาปไม่เท่ากัน

บาปนี้ของบางคนให้ผลตกนรก, ของบางคนให้ผลเป็นเปรต, บางคนให้เป็นเดรัจฉาน, บางคนให้มาเป็นมนุษย์ที่อายุสั้น เพราะเจตนาในการทำนั้นไม่เท่ากัน

บางคนทำด้วยอสังขาริก
บางคนทำด้วยสสังขาริก
บางคนก่อนทำเป็นมิจฉาทิฏฐิ
บางคนหลังทำเป็นมิจฉาทิฏฐิ
บางคนขณะกำลังทำมีฉันทะเป็นใหญ่ ยินดี
บางคนมีวิริยะเป็นใหญ่
บางคนมีการชักชวน
บางคนไม่มีการชักชวน

จะไล่เป็นขณะๆ ไป ไม่ได้กล่าวถึงเหตุผล เช่น เขาใช้ให้มาฆ่า เอาเหตุผลมาอ้างไม่ได้ เจตนานั้นๆ ก็คือเจตนานั้นๆ

ส่วนเรื่องโจรเคราแดงที่พระสารีบุตรถามว่า นี่ใครใช้ให้ฆ่า

อันนั้นเรียกว่าเป็นอุบายให้เปลี่ยนอารมณ์ เปลี่ยนความคิด แต่ไม่ใช่ว่าคนฆ่าไม่บาป เพียงแต่ต้องการให้เขาสบายใจ เขาจะได้ฟังธรรมต่อไปได้ เรียกว่าเบนประเด็น

คือจิตจะเศร้าหมองหรือไม่เศร้าหมองอยู่ที่อารมณ์ด้วย นึกให้ยิ้มก็ยิ้ม นึกให้เครียดก็เครียด แล้วแต่จะนึกถึงอะไร

หรืออีกเรื่องโยมจะถวายข้าวพระ แต่พระบอกเอาน้อยๆ ไม่ต้องเยอะเพราะบิณฑบาตฉันมาแล้ว โยมโกรธมาก ตักใส่ให้เต็มบาตรเลย แล้วมานึกย้อนทีหลังว่าจะบาปมั้ยหนอ จึงไปหาพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านไม่ตอบเลยว่าบาปไม่บาป แต่ท่านตอบไปว่า "เจตนาที่จะถวายอาหารแด่สงฆ์ที่มีผลน้อยนั้นไม่มี"

คือถ้าในชั้นของการศึกษานี่เราก็แยกแยะให้ชัดเจนเป็นประเด็นๆ ไป เพื่อให้เข้าใจ

แต่ถ้าในการสนทนาเป็นบางเรื่องก็เบนประเด็นซะ คือบางคนนี้ยังไม่อยู่ในฐานะที่พร้อมจะรับการชี้แจง โดยไม่พูดถึงเรื่องนั้นเลย

การไม่พูดถึงเพื่อให้อีกฝ่ายเกิดกุศลจิต อย่าลืมว่าในการศึกษาธรรมในพระพุทธศาสนา ฟังเสร็จเห็นแจ้ง อาจหาญ สมาทาน ยิ้มได้ ร่าเริง กลับบ้านได้ แสดงว่าศึกษาถูกต้อง แต่ถ้าหากว่ากลับบ้านแล้วเครียดหนักกว่าเก่านี่แสดงว่าผิดพลาด

วันศุกร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2564

กรณีศึกษาอาลัวพระเครื่อง (หลู่คุณท่าน)

(วิสัชนาธรรมโดย หลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง)

       ตกเครื่องบินตาย มีคนถวายสังฆทานอุทิศส่วนกุศลให้รับไม่ได้คนเดียวเพราะปรามาสพระพุทธเจ้า

       “เมื่อหลายปีก่อนเครื่องบินตกที่ภูเก็ต มีคนตาย ๘๓ ศพ มีคนมาถวายสังฆทานกับอาตมาเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้คนตาย ตอนก่อนไม่เห็น พอปรารภเข้าก็เห็นหมด พวกนั้นมาปรากฏกายทั้งหมด เพราะมาคอยอยู่ที่นี่หมดแล้ว"

       บรรดาผีบอกว่า ถวายสังฆทานให้น่ะดี แต่เวลานี้ยังไม่เอา ขอรอให้คนมามากต่างคนต่างทำ ที่นี่เขาบำเพ็ญกุศลมีกำลังสูง พวกเขาต้องการกุศลจากคนทุกคน แกหากินถูกช่องเหมือนกัน

       ก็เป็นอันว่า เวลาอุทิศส่วนกุศลจริง ๆ รับไม่ได้อยู่คนเดียวเป็นฝรั่ง ถามเทวดาชั้นจาตุมหาราชว่า “ทำไมรับไม่ได้” ท่านบอกว่า 

       “คนนี้ปรามาสพระพุทธเจ้า ไม่มีโอกาสโมทนา”

       เขาอาจจะข้ามพระพุทธรูปเข้ามั้ง ไม่มีเจตนาชั่ว แต่ปรามาสคิดว่าเป็นตุ๊กตา

===
ว่าด้วยเรื่องการนำรูปสัญลักษณ์พระพุทธเจ้ามาทำเป็นขนม

       การนำ "รูปสัญลักษณ์พระพุทธเจ้า" ซึ่งเป็นองค์แทนขององค์พระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พุทธศาสนิกชนสักการะบูชา เคารพเลื่อมใสด้วยความนอบน้อม ออกมาทำเป็นขนมขาย ไม่ต่างอะไรกับการไปด้อยค่า กดให้ต่ำลง (ปรามาส) ในสิ่งที่ควรบูชาสูงสุด ซึ่งพุทธศาสนิกชนทั้งหลายที่มีความยึดมั่นในพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึกแล้ว ย่อมมีจิตพึงรู้ได้ด้วยสามัญสำนึกว่า การกระทำเช่นนี้ย่อมถือเป็นการปรามาสหาใช่การเคารพนอบน้อมด้วยจิตเลื่อมใสศรัทธาไม่ ซึ่งผู้ที่ทำกรรมอันเป็นการปรามาสพระพุทธเจ้าไว้ หรือผู้มีส่วนร่วมสนับสนุนก็ตาม ย่อมมีโทษมาก และได้รับผลกรรมตามมาเป็นความหายนะอย่างร้ายแรงที่สุด ๑๐ อย่าง คือ

   ๑.บุคคลผู้นั้นจะยังไม่บรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ
   ๒.เสื่อมจากธรรมที่บรรลุแล้ว ฌาณ สมาธิ จะเสื่อมทันที
   ๓.สัทธรรมของบุคคลผู้นั้นย่อมไม่ผ่องแผ้ว
   ๔.เป็นผู้หลงคิดว่าตนเป็นผู้บรรลุสัทธรรม
   ๕.ไม่ยินดีในการประพฤติพรหมจรรย์
   ๖.ถ้าเป็นภิกษุต้องอาบัติเศร้าหมองอย่างใดอย่างนึง
   ๗.ย่อมถูกโรคเบียดเบียนอย่างหนัก
   ๘.ถึงความเป็นบ้ามีจิตฟุ้งซ่าน
   ๙.หลงตามกาละ คือตายอย่างขาดสติ
   ๑๐.เมื่อตายย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

(อ้างอิงจาก: พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๖ อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต)

   ดังฉะนี้แล้ว เราท่านทั้งหลายจึงพึงระวังให้จงหนัก ถึงผลกรรมอันเกิดจากการปรามาสพระพุทธเจ้า ไม่ว่าจะด้วยประการใด ๆ ก็ดี รู้เท่าถึงการณ์ก็ดี รู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ดี เจตนาก็ดี หรือไม่เจตนาก็ดี

CR.วัดป่าพรหมยาน

===

พระพุทธรูปนี่เป็นพุทธานุสติ คือเมื่อเห็นแล้วมีจิตระลึกนึกถึงพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้านี่เกิดมาก็ไม่ทันเห็นท่าน เวลาเราจินตนาการก็จินตนาการเป็นพระพุทธรูปได้เท่านั้น ซึ่งดูไม่เหมือนคน แต่ก็มีรูปที่ทำให้ระลึกได้ว่านี่คือรูปของคนไม่ใช่อย่างอื่น แต่เป็นเด็กแอบสงสัยว่าทำไมไม่ทำให้รูปเหมือนคนจะได้รู้ว่าพระพุทธเจ้าหน้าตายังไง

พอโตมาเรียนอักษร อาจารย์เขาว่ารูปพระพุทธเจ้า ไม่ได้ทำเหมือนจริง แต่เป็น abstract แต่ละชิ้นส่วนแทนคุณธรรมความดีหรือบารมีที่พระองค์ได้สั่งสมมา จึงกลายเป็นพระมหาปุริศลักษณะ คือรูปร่างของมหาบุรุษ 

ตอนนี้ถ้านึกถึงพระองค์ที่เป็นคนก็จะนึกถึงตอนที่คีนูรีพแสดง เพราะรู้สึกว่าหล่อมาก ใช่เลย ดูแล้วเป็นเจ้าชายฯ แต่ล่าสุดที่เป็นพระเอกแขก เราอยู่วัดแล้ว ไม่มีอารมณ์อย่างนั้นแล้ว มันเลยไม่จำ 555 ถามตอนนี้ก็จำได้แต่คีอานูรีฟ เพราะมันประทับใจเป็นสัญญา 

ดังนั้นก็เลยเข้าใจว่า ทำไมเขาไม่สร้างพระพุทธรูปมีกล้ามเนื้อ ดูเรียลลิสติก ให้ส่อไปทางกามได้เลย เพราะพระองค์เหนือมนุษย์ไปแล้ว เป็นสัญญะ หรือสัญลักษณ์เท่านั้น เขาถึงใช้รูปแบบศิลปะอย่างนี้ คือตัดทอนและมีลักษณะที่เป็นสัญลักษณ์ คงไว้เท่าที่จำเป็น เพราะยังไงก็คือคน คือภูมิมนุษย์

ต้องงามด้วย ต้องดูศักดิ์สิทธิ์ น่าเชื่อถือ ดูแล้วสงบ มีเมตตา ดูแล้วเชื่อว่าเป็นตัวแทนรูปพระพุทธองค์ ต้องไม่ชวนให้คิดไปทางอื่น ถ้าศึกษาแล้วจะรู้สึกว่าน่าทึ่งมากๆ ศิลปินเก่งมากๆ 

ถ้าได้ทำฌาน ก็รู้อีกว่า ศิลปินเก่งมากขนาดนั้น ฟ้าต้องส่งลงมาเกิด หรือไม่ก็มาแบบไม่ต้องเกิดเลย สร้างเสร็จก็หายวับไปแบบนั้น สามารถตอบโจทย์ทางปรัชญา หรือทางธรรมได้หมด ในรูปเดียว

ดังนั้นจริงๆ แล้วพระพุทธรูปคือพระธรรม เป็นสื่อแสดงธรรม ไม่ใช่เป็นศาสดาซะเอง แต่หน้าที่สำคัญ คือ เมื่อเห็นแล้วเกิดความระลึกนึกถึงพระพุทธองค์ เป็นพุทธานุสติ เห็นแล้วระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า หรือพุทธคุณ จิตเกิดปีติปราโมทย์ พ้นทุกข์ได้หนึ่งขณะสองขณะ ถ้าตายตอนนั้นไปสู่สุคติได้ 

(การถอดรหัสนี้ จะไม่เกิดในยุคปัจจุบัน ซึ่งการเรียนการสอนธรรมะเป็นส่วนเกินของหลักสูตร เป็นความล้มเหลว เพราะเอาไปไว้ในระบบการศึกษา)

พระเครื่องมามีเมื่อโลกเริ่มยึดวัตถุมากขึ้น อย่างไรก็ดี พระเครื่องจัดเป็นวัตถุมงคล ในโลกของวัตถุนิยม materialism นี้ ถ้าเราจะยึดวัตถุอะไรสักอย่างด้วยนิสัยชอบยึด ก็ให้ยึดพระเครื่องเสีย จะได้เป็นมงคล ก็ยังดีกว่าไปยึดอย่างอื่นที่เป็นอัปมงคล ครูบาอาจารย์พระสงฆ์หลายองค์ก็เลยทำพระเครื่องขึ้นมาให้ลูกศิษย์ไปบูชา 

ลูกศิษย์เอาไปบูชาบ้างก็เกิดพุทธานุสติ บ้างก็แค่เอาไว้เป็นกำลังใจจะได้ทำผิดทำบาปอย่างปลอดภัยก็มี อันนี้ครูอาจารย์ท่านก็คงห้ามไม่ได้ แต่เจตนาคือเอาไว้เพื่อให้เป็นขวัญกำลังใจ เอาไว้บูชา ด้วยความศรัทธา ทำให้ศิษย์มีการไหว้พระบูชา มีการท่องคาถาอาราธนา ก็เป็นอุบายให้ได้ปฏิบัติทานศีลภาวนา นิดๆ หน่อยๆ ก็ยังดี 

ส่วนขนมเอาไว้กิน อาลัวเป็นขนมที่หายาก เพราะไม่ค่อยมีคนรู้จัก แต่ถ้าทำรูปทรงน่ารักๆ ก็ยังน่ากินยังขายได้ หากินได้ ถ้าทำเป็นรูปที่กินได้ เห็นแล้วน่ากิน ตามบรรทัดฐานที่เหมาะที่ควร แต่ถ้าทำรูปที่มันเป็นของอุบาทว์ ผิดบรรทัดฐานการกิน เช่นทำรูปขี้ หรือรูปผี ก็คงดังแค่พักเดียว แต่ถ้าทำรูปที่น่ากิน ก็ขายได้เรื่อยๆ

การเอาขนมมาทำเป็นรูปพระเครื่อง นอกจากจะไม่เป็นมงคล ไม่ได้ช่วยให้ระลึกถึงพระพุทธคุณ แต่ระลึกว่าไม่ควรทำไม่ดีไม่งาม(อกุศล) 

ใครกินเข้าไปก็ต้องเรียกว่าอัปมงคล 

เห็นเงินดีกว่า คุณธรรมความดี คงจะมีทุคติเป็นที่ไปอย่างแน่นอน ไม่เชื่อลองติดตามดูชีวิตของพวกเขาหลังจากนี้ไป 

ฉันไม่ได้เป็นพระภิกษุ ไม่ได้เรียนบาลี ไม่สำเร็จเลยสักประโยค แต่ฉันก็รู้ว่าอะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรเป็นบุญอะไรเป็นบาป 

 "ความลบหลู่เป็นการทำสิ่งที่เขาทำดีแล้วให้พินาศไป 

จำได้มั้ยห้างดังที่ยิงกันหลายศพ ครั้งนึงก็เปิดโอกาสให้มีการล่วงเกินปรามาสพระพุทธเจ้า อย่างถูกต้องตามกฏหมายกฏหมู่ กฏอะไรก็ตาม

ตอนที่ต้องรับวิบากกรรม ก็เพราะสถานที่มันอัปมงคล กรรมมันก็ลงได้ง่าย 
ดังนั้นก็เลยต้องนิมนต์พระสงฆ์มาปัดเป่ามาสวดมนต์ให้เป็นมงคลภายหลัง 

สำหรับขนมอัปมงคล ก็ดูกันต่อไป ว่าจะเป็นยังไง

พี่ไม่ได้แก่ศรัทธา พี่แค่ชอบพิสูจน์ทฤษฏี และพร้อมใช้เวลาทั้งชีวิตเพื่อพิสูจน์ ทำสิ่งอัปมงคล ชีวิตจะเป็นมงคลได้ยังไง ดูกันไปค่ะ

นี่ยังไม่ได้พูดถึงความเป็นมงคล หรือความดีงามของพระสมเด็จเลยนะคะ
เด็กที่วาดรูปพระพุทธเจ้าในชุดอุลตร้า ยังลบหลู่แค่พระพุทธ แต่เอารูปพระสมเด็จมาทำพิมพ์ขนม คุณอัปมงคลหลายระดับ ลบหลู่ทั้งองค์สาม คือพระรัตนตรัยเลยค่ะ 

พี่น้องอย่าไปกดไลก์ คือทำกรรมร่วมกับเขาเลยนะ แม้แชร์ก็ไม่ควรแชร์นะ เพราะอาจทำให้คนอื่นกดไลก์ได้นะ

อนิจจานุปัสสนา vs อนิจจานุปัสสี

อนิจจานุปัสสนา 
เป็นชื่อของปัญญา

ส่วนอนิจจานุปัสสี
เป็นชื่อของบุคคล
ผู้มีปัญญาชนิดนี้เป็นปกติ

วันพุธที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2564

โคลงทำนาย

ตรัสแก้สุบินนิมิตรของพระเจ้าปเสนทิโกศล
(จัดพิมพ์ในหนังสือ “วันทามะหัง” ปี พ.ศ.๒๕๕๔)
.................................

๑. เห็นสี่โคตั้งเค้า ชนกัน
     ท่าที ฤ แข็งขัน เข่นฆ่า
     ต่อชาวบ้านโจษจัน ห้อมโห่
     กลับเลิกรอยถอยล้า ดังนี้ เป็นใด ?

เมื่อโลกกันดารด้วย ความดี
จักแห้งแล้งขาดสี เขียวข้าว
เมฆทะมึนแต่สี่- ทิศท่า หนักเท
จนแล้วก็ร้อนเร่า ตั้งเค้า หลอกคน ฯ

..........

๒. ไม้พันธุ์ไม่พอคืบ พ้นดิน
      ผลิดอกออกผลริน เกลื่อนทุ่ง
      เดชะพระภูมินทร์ โปรดบอก
      ละอ่อนพืชหยาบยุ่ง เล่าร้าย ลางใด ?

เมื่อโลกร้อนด้วยเชื้อ ไฟกาม
แน่งน้อยมิทันงาม เต็มเนื้อ
รู้เสพสวาททราม ครรภ์ป่อง
วัยแม่ห่างลูกเชื้อ ไม่สิ้น สิบปี ฯ

..........

๓. แม่โค ฤ ก็แก่ ใกล้กาล
     ง้อขอดื่มนมธาร ลูกน้อย
      ลูก ฤ ก็เอาการ ตระหนี่
      อุบาทว์ใดจักคล้อย ด้วยเรื่อง ดังฝัน ?

เมื่อแผ่นดินสิ้นเชื้อ กตัญญู
ประโยชน์ก็เพื่อกู เท่านั้น
เลี้ยงแม่จักเลี้ยงดู ไม่ต่าง เลี้ยงแมว
แม่อดต้องทนกลั้น ขอข้าว เดนกิน ฯ

.............

๔. เทียมเกวียนเทียมไถด้วย ลูกโค
     แปลก.ไม่เลือกตัวโต เชื่องแล้ว
     โคน้อยไร้แรงโข อ่อนหัด
      เกวียนล่มไถไม่แคล้ว ดังนี้ ลางใด ?

ต่อผู้นำถ่อยทั่ว เต็มกลืน
กรมกองเด็กวานซืน นั่งชี้
จับผู้ใหญ่เวนคืน ขังคอก
ลากบ้านเมืองป่นปี้ สุดแล้ว ซวยใคร ฯ

...............

๕. ม้าแปลกมีสองปาก อ้ารอ
    คน ฤ ต่างพะนอ ป้อนหญ้า
    สองปากเหมือนไม่พอ จักอิ่ม
    ด้วยสุบินดังว่า จักร้าย แรงใด ?

เมื่อสิทธิ์พิพากษา ชั่วดี
ตกแก่มือกาลี ปากกว้าง
ถูกผิดคิดตามมี โอนอุด
คุกเหล็กเงินยังง้าง ประสาไร กฎหมาย ฯ

...............

๖. ค่าควรเมืองเช่นนั้น ถาดทอง
    บรรจงขัดเอี่ยมอ่อง อวดค่า
   น้อมเป็นกระโถนรอง สุนัขฉี่
   การณ์อนาถดังว่า ส่อเภท ภัยใด ?

เมื่อสถุลหนาแน่น นั่งเมือง
วงศ์หงส์ก่อนรุ่งเรือง กลับร้าย
ยากสู้พิษฝืดเคือง จำจิต
ยกธิดาคล้ายขาย แต่งด้วย เทือกสถุล ฯ

.................

๗. หนึ่งชายนั่งฟั่นเชือก หนังโค
     ปลายเชือกค่อยยาวโย้ หล่นแคร่
     นางจิ้งจอกหิวโซ นอนแอบ
     แทะเชือกปลายอิ่มแปล้ เขาหา รู้ความ ?

ผัวทำงานงก-งก สร้างครัว
เมียอยู่บ้านแต่งตัว ร่านเที่ยว
ผลาญทรัพย์บำเรอมั่ว ชายอื่น
ผัวหารู้สักเสี้ยว นกเอี้ยง เลี้ยงมา ฯ

................

๘. ตุ่มโตเต็มเอ่อน้ำ ตั้งกลาง
     ตุ่มเล็กแล้งน้ำวาง แวดล้อม
     ตุ่มเต็มจนล้นราง อุตส่าห์ ยังเติม
     ตุ่มแล้งตั้งร้อยห้อม สักผู้ ใครสน ?

รวยแล้วถึงรวยแล้ว ชอบกล
ก็จักขูดคนจน เลือดน้อย
คนจนนับเป็นคน ? อาจจะ !
โลกไม่ถมคนด้อย ถมแต่ คนมี ฯ

วันพุธที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2564

วรรคทองเจ้าอาวาส

 จะบอกว่ายากหรือง่ายไม่ได้ อยู่ที่ความคุ้นเคย

ความหมายของภิกษุ

 ภิกษุ มีหลายความหมาย

  • ในนัยของพระวินัย หมายถึงผู้ขอ คือนักบวช
  • ในนัยของพระสูตร หมายถึง ผู้เห็นภัยในวัฏฏะ จะไม่ได้หมายถึงแต่นักบวช

อสัมโมหสัมปชัญญะ

จากการเจริญสัมปชัญญะ 3 ข้อต้น แล้วไม่หลงลืมในความเป็นขันธ์ ธาตุ อายตนะ ปัจจัย อริยสัจ

สัปปายสัมปชัญญะ

สัปปายสัมปชัญญะ

ทำแล้วสบายไหม คือสบายต่อสมถะวิปัสสนาไหม?

ทำแล้วเกิดกุศลไหม?

(ไม่ใช่ทำแล้วสบายกายสบายใจเฉยๆ)

---

หรือบางอย่าง แม้สิ่งที่ทำมีประโยชน์ แต่ไม่เหมาะกับอัธยาศัย ก็ไม่เกิดกุศล

ถ้าไม่เป็นกุศล จะวางใจอย่างไรให้เป็นกุศล

ปริญญา

 ปริญญา ที่แปลกันว่ารู้รอบ หรือกำหนดรู้

ที่จริงแปลว่า วิเคราะห์ก็ได้ ใคร่ครวญก็ได้

แบ่งออกเป็นสามชั้น

  1. ญาตปริญญา
    "ญาต" นี้ อาจแปลว่า กำหนด
    คือมองสิ่งนั้น รวมทั้งสมุฏฐานของสิ่งนั้น
  2. ตีรณปริญญา
    ตีรณ แปลว่าพิจารณา
    ปริญญา แปลว่ารอบรู้ รู้รอบ
    ตีรณปริญญา คือการพิจารณาเป็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นต้น
  3. เมื่อพิจารณาตีรณอย่างเข้มข้นก็จะเริ่มละความยึดถือ อันนี้เป็นปหานปริญญา

สมมติเข้าใจกรรมและการให้ผลของกรรมเป็นอย่างดีแล้ว จะเข้าใจเรื่องความไม่เที่ยงเป็นอย่างดี

เพราะถ้ากัมมชรูปตกแต่งมาให้เป็นอย่างนี้ ถ้ามีกรรมบางอย่างมาเบียดเบียน กัมมชรูปนั้นก็อยู่ไม่ได้ เมื่ออยู่ไม่ได้ ไอ้ที่ว่าไม่มีแล้วก็มีขึ้น มีแล้วก็ไม่มี นี้เรียกว่า อนิจจัง

แต่การจะเข้าใจเรื่องอนิจจังนั้น จะต้องเข้าใจเรื่องปัจจัยเป็นอย่างดี การที่อยู่ๆ จะกระโดดพรวดพรากไปคิดเรื่องไม่เที่ยงเลย โดยไม่พิจารณาปัจจัย เรียกว่าฐานยังไม่แน่น ต้องมาเสริมฐานความเข้าใจเรื่องปัจจัยก่อน

พิจารณาให้เห็นว่ารูปมีนั้นมีสมุฏฐานเป็นอะไร อย่างนั้นแล้ว ถ้าสมุฏฐานนั้นไม่มี รูปนั้นก็ไม่มี

การไปดูระยิบระยับวิบวับอะไรแล้วบอกไม่เที่ยง อย่างมากจะได้แค่ความรู้อุปมาบางอย่าง แต่ความรู้ที่ชัดเจนนั้นจะมาจาก ความรู้ในเรื่องสมุฏฐานที่มีมาเป็นอย่างดี เมื่อสมุฏฐานนั้นหมดไป รูปนั้นก็หมดไป ตรงไปตรงมา

เช่น สีหน้ายิ้มแย้ม มีจิตเป็นสมุฏฐาน ถ้าจิตอันนั้นเปลี่ยนไปแล้ว สีหน้ายิ้มแย้มนั้นจะยังมีอีกไหม เป็นต้น


คำแปล ชวน

 ชวน แปลว่า แล่น ไว เร็ว

คำแปล อาวัชชนะ

 อาวัชชนะ แปลว่า รำพึง พิจารณา แต่ไม่ถึงกับแบบที่เรามานั่งคิด


เครียดคืออะไร

 เครียดคือ สนใจเรื่องหนึ่งเรื่องใดนานเกินไป

สติสังวรณ์ คือยังไง

 สติสังวรณ์

  • รักษาว่าตามองเห็น ใจไม่เป็นบาป
  • รักษาว่าหูได้ยิน ใจไม่เป็นบาป
  • รักษาว่าจมูกได้กลิ่น ใจไม่เป็นบาป
  • รักษาว่าลิ้นรู้รส ใจไม่เป็นบาป

做自己的选择题

不要做别人的判断题

要做自己的选择题

note เกี่ยวกับ สอุปปาทิเสสนิพพาน อนุปาทิเสสนิพพาน

สอุปปาทิเสสนิพพาน

อนุปาทิเสสนิพพาน

เป็นชื่อของสังขารธรรม ไม่ใช่ชื่อของนิโรธสัจ


มิลินท 8 

1.58

สัมมาสังกัปปะ

เนกขัมมสังกัปปะ - เจริญอสุภะและวิปัสสนา

อพยาปาทสังกัปปะ - เจริญเมตตา

อวิหิงสาสังกัปปะ - เจริญกรุณา

ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ

 ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ

การถึงสรณคมน์ มี 4 ความหมาย

  1. ถึงคือรู้ รู้ธรรม
  2. มีธรรมไปข้างหน้า นำหน้า
  3. มอบกายถวายชีวิตเพื่อธรรม
  4. นอบน้อมในธรรม

ตายแล้วไปสวรรค์ดีจริงหรือ

บริโภคโลภะล้วนๆ เก้าล้านปี คิดว่าตายแล้วจะไปไหน

สั่งสมความเพลิน เก้าล้านปี คิดว่าตายแล้วจะไปไหน

สมุทัยโดยแท้ก็คือความวิปลาสในขันธ์

 สมุทัยโดยแท้ก็คือความวิปลาสในขันธ์


ถ้าไม่เจริญปัจจัยปริคคหญาณ สมุทัยชุดไหนจะเกิด

ถ้าไม่เจริญสัมมัสสนญาณ สมุทัยชุดไหนจะเกิด

ฯลฯ

ลองไล่ๆ ดู

อาสวะไปถึงไหน

 อาสวะ

โดยภพ - ไหลไปถึงภวคคพรหมเนวสัญญาฯ

โดยธรรม - ไหลไปถึงโคตรภู


โคตรภูนี้โดยองค์ธรรมมีนิพพานเป็นอารมณ์ด้วยซ้ำไป แต่ยังถือเป็นแดนที่อาสวะไหลไปถึง (เหมือนเห็นพระราชาอยู่ลิบๆ แต่ยังไม่ได้เข้าเฝ้า)


เวลาพูดของสูง ถือว่าของต่ำได้ถูกแสดงแล้ว

อย่างพูดภวัคคพรหม แปลว่าภพทั้งสามถูกรวมเข้าอยู่แล้ว

เวลาพูดถึงโคตรภู แปลว่าโลกิยธรรมทั้งหมดได้ถูกแสดงแล้ว ได้แก่ ขันธ์ ธาตุ อายตนะ

---

อาสวะนี้เป็นตัวสมุทัย

สัจฉิกาตัพพธรรม

สัจฉิกาตัพพธรรม ธรรมอันควรกระทำให้แจ้ง

หมายถึงนิพพาน


บางที่ใช้คำว่าเข้าถึง 

จะให้ภาพแบบนิพพานเป็นเมืองหรือลงรูอะไรสักอย่าง

คำว่าทำให้แจ้งนี้ ความหมายเท่ากับ ผุสิตา คือสัมผัส หรือกระทำให้เป็นอารมณ์ 

คือทำใจให้มีนิพพานเป็นอารมณ์ หรือทำให้สัมผัสกับนิพพาน ไม่ใช่ต้องไปในที่ไหนๆ

วิโมกข์ 8

วิโมกข์ 8


โมกข หมายถึง โน้มเอียง, พ้น


คือความโน้มเอียงของจิตที่นำไปสู่ความพ้น(จากกิเลส)


น้อมใจไปอยู่ในอารมณ์แปด (คือเอาใจไปสัมผัสอารมณ์พวกนี้) เช่น

1. รูปภายใน

2. รูปภายนอก

3. พรหมวิหาร

4-7 อรูปสี่

8. นิพพาน

ธรรมขันธ์ห้า

 ธรรมขันธ์ห้า

  1. ศีลขันธ์
  2. สมาธิขันธ์
  3. ปัญญาขันธ์
  4. วิมุตติขันธ์
  5. วิมุตติญาณทัสสนขันธ์


ในบรรดาวิมุตติห้า

จะมีเฉพาะ สมุจเฉทวิมุตติ, ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ, นิสสรณวิมุตติ ที่นับเป็นวิมุตติขันธ์ (อื่นๆ ไม่นับลงขันธ์นี้)

ส่วนวิมุตติญาณทัสสนขันธ์ หมายถึง ปัจเวกขณญาน

อกุปปาเจโตวิมุตติ

 อกุปปาเจโตวิมุตติ

หมายถึง เจโตวิมุตติ ที่ไม่กลับกำเริบ หรือไม่เสื่อม

สภาวะคือ อรหัตผล

ความหลุดพ้นแห่งจิต (จากกิเลสนานา) โดยไม่เสื่อมอีกต่อไป

สิ่งที่ควรกระทำให้แจ้งคือวิชชาและวิมุตติ

วิชชา คือ มรรค

วิมุตติ คือ ผล

--

สิ่งที่ควรกระทำให้แจ้ง

ถ้าพูดแบบสองคือ

วิชชาและวิมุตติ


วิชชาคือมรรค

วิมุตติคือผล


วิชชาถ้าขยาย จะขยายเป็นวิชชา 3 (ปุพเพนิวาสาฯ, จุตูปปาตฯ, อาสวกขยญาณ) 


สูงสุดคืออาสวกขยญาณ คือมรรคญาณ


วิชชา เป็นปัญญา

วิมุตติ เป็นสภาวะที่เข้าถึง

กรรมฐานไหนเจริญตอนไหน

 ท่านให้เจริญกรรมฐานตามกาล (ไม่ใช่ตามเวลาเช้า สาย บ่าย เย็น) 

เช่น

ตอนมีโทสะ - เจริญเมตตา

ตอนมีราคะ - เจริญอสุภะ

ตอนมีอัสมิมานะ - เจริญอนิจจสัญญา

การทำชาคริยานุโยค

 ชาคริยานุโยค จะทำอิริยาบถไหนก็ได้ เงื่อนไขคือห้ามถูกนิวรณ์ครอบ

สฬายตนะ

 สฬายตนะ


วิเคราะห์ได้ทั้ง อายตนะทั้งหก และอายตนะที่หก

คือถ้าอรูปก็จะเหลืออายตนะเดียว

สมถะวิปัสสนาในโพชฌงค์

 7 ข้อในโพชฌงค์

มีเฉพาะธัมมวิจัย ที่จัดอยู่วิปัสสนา

ที่เหลือสมถะหมดเลย

วิธียกจิต

การยกจิต 

ยกมันขึ้นมาจากอกุศล

บางจังหวะต้องยกด้วยวิปัสสนา

บางจังหวะต้องยกด้วยความเพียร (สังเวควัตถุ)

บางจังหวะต้องยกด้วยอนุสสติ

สมัยไหนเหมาะใช้อะไรเลือกเอา 

อีกความหมายของอายตนะ

 อายตนะ ที่ประชุมให้เกิดจิตและเจตสิก

ผลของการพิจารณาไตรลักษณ์

พิจารณาความไม่เที่ยง ละมานะ

พิจารณาความเป็นทุกข์ ละตัณหา

พิจารณาความเป็นอนัตตา ละทิฏฐิ

อะไรคือศีล

 อะไรคือศีล

อรรถของศีลคือตั้งมั่น (สมาทาน) ไม่ล่วงละเมิดกระจัดกระจาย

อุปทานาน คือรองรับกุศลธรรมชั้นสูง


เจตนาคือศีล

เจตสิกคือศีล

สังวรคือศีล


กิจ(หน้าที่) ของศีลคือ กำจัดความทุศีล

ศีล มีความสะอาดทางกาย วาจา เป็นเครื่องปรากฏ

ศีล มีหิริโอตตัปปะ เป็นเหตุใกล้


หิริ ปรารภ ภายใน

โอตตัปปะ ปรารภ ภายนอก


ศีลที่รักษาดีแล้ว นำมาซึ่งอวิปปฏิสาร

---

ศีล มี 4 อย่าง

  • เจตนา
  • เจตสิก
  • สังวรณ์
  • อวีติกม การไม่ล่วงละเมิด
---
ต้องรักษาศีลขนาดไหน?

  • ก็ขนาดที่ว่าพูดออกไปแล้วตำหนิตัวเองไม่ได้
---
ศีลเป็นกุศลได้สองขณะ
  1. สมาทาน 
  2. งดเว้น
เป็นกุศลเพราะเป็นจิตที่ไม่มีโทษ ฉลาด ไม่มีกิเลสเข้าไปเบียดเบียน
---

ความแตกต่างของผู้เป็นสาวก

 ฟังอริยสัจเหมือนกันผู้เป็นสาวกกับไม่เป็นสาวกต่างกันตรงไหน

แบบไหนเรียกอริยสาวก?

ต่างกันคือ อริยสาวก ท่านทำกิจต่ออริยสัจ

แต่ผู้ไม่ใช่สาวก ไม่ได้ทำกิจต่ออริยสัจเลย...

เห็นมรรคสัจ ต้องเห็นแค่ไหน

เห็นมรรคสัจ ต้องเห็นแค่ไหน

คือเห็นเป็นบันไดไปสู่นิโรธ

---

เนื่องมาจากเห็นนิโรธว่าเป็นที่น่ารื่นรมย์

วิธีที่ไปสู่ความน่ารื่นรมย์นั้น คือวิธีอย่างนี้

มรรคที่กำลังปฏิบัติโดยชัดเจนนี้นำไปสู่ความน่ารื่นรมย์

(ไม่อ้างอิงเพียงความสบายเฉพาะหน้าซึ่งเป็นเพียงเวทนาจากผัสสะ)

เห็นนิโรธต้องเห็นแค่ไหน

คือถ้าเทียบเห็นสมุทัยดังความหิว ความกระหาย

ก็เห็นนิโรธเป็นความอิ่ม ความน่ารื่นรมย์

---

ต้องเห็นอย่างนี้

ถ้ายังไม่เห็นอย่างนี้

คือฝึกฝนจนเห็นได้อย่างนี้เป็นธรรมดา

เห็นสมุทัยต้องเห็นแค่ไหน

เมื่อประสบกับอารมณ์ที่น่ารักน่าพอใจ

รู้สึกเหมือนดังเห็นบ่วงแห่งมัจจุราชที่มาดักเอาไว้

เหมือนดังเห็นหลุมถ่านเพลิง

มันต้องกุศลเกิดมากๆ แล้วมาเจออกุศลถึงจะรู้สึกว่ามันร้อน

--

ต้องเห็นอย่างนี้

ถ้ายังไม่เห็นอย่างนี้

คือฝึกฝนจนเห็นได้อย่างนี้เป็นธรรมดา

อสุภะอยู่ตรงไหนของไตรลักษณ์

 อสุภะ เป็นคำอธิบายหนึ่งของทุกขังในไตรลักษณ์

เหตุแห่งกุศล

 กุศลนี่ใช่ว่าจะเกิดจากโยนิโสมนสิการอย่างเดียว

ยังเกิดจาก อุปนิสัยปัจจัย อุตุ โภชน เสนาสนะ บุคคล

อยู่ใกล้คนมีศรัทธา ก็เขาทำเราทำด้วย

คำไวพจน์ของ เหตุ

 ธัมมัฏฐิติญาณ = ปัจจยปริคหญาณ 

คือรู้ ปัจจัย และ ปัจจยุบัน

คือรู้เหตุ และผลจากเหตุนั้น

โดยเหตุในที่นี้ ไม่ได้หมายถึง เหตุปัจจัยเสมอไป

เหตุ ในที่นี้ เป็นคำแทน ปัจจัย


เหตุ

= ปัจจัย

= สมุทัย

= นิทาน

= แดนเกิด

= ปภว

= สมฺภว

ทวารของพรหม

 รูปพรหมมี 3 ทวาร ตา หู ใจ

อรูปพรหม มีเฉพาะทวารใจ

ภพ ชาติ (more clue)

 ผลของกรรมนั้นๆ เรียกว่าภพ

ภพครั้งแรกในชีวิตนั้นเรียกว่าชาติ

ปณิธาน

 อนึ่ง...

ความเพียรที่เราเริ่มทำแล้วจักไม่ย่อหย่อน

สติที่เราตั้งไว้แล้วจักไม่หลงลืม

กายที่เราทำให้สงบแล้วจักไม่กระสับกระส่าย

จิตที่เราทำให้ตั้งมั่นแล้วจักมีอารมณ์แน่วแน่


อารพฺภวิริยา โหถ

พูดอย่างไร ทำอย่างนั้น

 ยถา วาที ตถา การี

คำแปลของ อสังขตะ

สังขตะ หมายถึง ธรรมที่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง

อสังขตะ หมายถึง ธรรมที่เป็นที่ดับของสังขตะ ธรรมที่สามารถดับสังขารได้  ไม่ใช่สังขารพังไป แต่เป็นธรรมที่ดับสังขาร

ถ้ายังเห็นตาว่าดี จะยังมีตามต่อไป

อริยมรรคคือทางเป็นที่ดับตา

วันพฤหัสบดีที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2564

35 ปี 5 เดือน 2 วัน

กรรมน่าติเตียนประจำวัน

เรื่องแรก
พูดผิดกับพ่อ ไม่ได้พูดเท็จ แค่ไม่ประกอบเมตตา พาใจเศร้าหมองไปพักใหญ่

หลุมหลอกคือ มีช่วงเงียบที่ไม่รู้จะพูดอะไร แล้วมันก็เลยถูกลากลงเรื่องอดีต

ตั้งใจแก้ไข ตั้งสติพูดด้วยเมตตา ไม่มีเรื่องพูด ก็สร้างเรื่องพูดขึ้นมา เล่าเรื่องดีๆ

เรื่องที่สอง

กล่าวไม่ดีลับหลังเพื่อนร่วมงาน แม้จะตั้งใจไว้ว่าจะไม่ทำแล้ว

หลุมหลอกคือ ถูกถามสถานการณ์แก้ไขเรื่องที่ทำงาน

แก้ไขไงดี...

วันพุธที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2564

มโน และธัมมารมณ์

 มโน เท่ากับ ภวังค์ และอาวัชนะ (มโนทวาราวัชนะ)


ธรรม คือเว้น รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสกายเสีย ที่เหลือคือธรรม


มโนและธรรม ทำให้เกิดมโนวิญญาณ 


ธรรมสามประการรวมกันเป็นผัสสะ

นามรูป

ในปฏิจจสมุปบาทหมายเอา นามและรูป ที่เกิดจากวิญญานเป็นปัจจัย


นาม ได้แก่ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์


ไม่ใช่เวทนาทั่วไป ไม่ใช่สัญญาทั่วไป ไม่ใช่สังขารทั่วไป


เฉพาะนามขันธ์สาม ที่เกิดจากวิญญานเป็นปัจจัยเท่านั้น หมายเอาในที่นี้ ไม่รวมวิญญานขันธ์ด้วย เพราะกล่าวไปแล้ว


การพูดถึงองค์ธรรมปฏิจจสมุปบาท จะไม่พูดลอยๆ จะพูดเป็นปฏิจจสมุปปันธรรม เช่น นาม จะไม่พูดนามเฉยๆ จะพูดว่านามที่เกิดจากวิญญานเป็นปัจจัย 


ถ้าพูดลอยๆ มันจะงง 


จะพูดเป็นเงื่อนไข ถ้าเงื่อนไขมันบังคับมา มันก็จะไม่สงสัย

---

รูป ในปฏิจจสมุปบาท
ก็หมายเอาเฉพาะรูปที่มาจากวิญญาน ไม่ได้รวมถึงรูปที่มาจากอาหาร มาจากอื่นๆ


อย่างรูปที่กินแล้วอ้วนนี่อันนี้ทำมา เหมือนจะมีอำนาจควบคุม แต่ไม่ใช่รูปในปฏิจจสมุปบาท 


รูปในปฏิจจสมุปบาทมันถูกล็อคมาแล้ว เราไม่มีอำนาจอะไรเลย เหมือน ชาติแล้วต้องแก่ ต้องตาย อันนี้ทำอะไรไม่ได้เลย


อันนี้ถึงจะเป็นหลักพิจารณาที่ทำให้ความมีตัวตนหายหมด (ตรงที่มันทำอะไรไม่ได้ ไม่มีตรงไหนที่คุมได้) ทุกอย่างมาจากอำนาจปัจจัย 


รูปในปฏิจจสมุปบาทจึงไม่พิจารณารูปที่เหมือนจะควบคุมได้ เช่น ยื่นแขนออกไป จิตคิด ก็ดันยื่นออกไปได้เสียด้วย แต่เขาพิจารณารูปจากวิญญานวิบาก เกิดจากกรรม หนีไม่ ออก


ไม่ได้พิจารณาทุกรูป มันจะไม่ล็อคเป้า

----

ถ้าในแบบ 1 ขณะจิต 

วิญญาณปัจจยา นามรูปํ

รูป หมายเอาถึง หทยรูป ที่เป็นที่เกิดของวิญญาณ

วันจันทร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2564

สังขารในปฏิจจสมุปบาท

 การขยายความ "สังขาร" ในปฏิจจสมุปบาท จะขยายออกมาเป็นสองชุด 


1. ปุญญา อปุญญา อาเนญช

2. กาย วจี จิตสังขาร


แต่ก็อันเดียวกันคือ เจตนาที่สร้างวิบากออกมาได้


ไม่ใช่เจตนาทั้งหมด หมายเอาแค่เจตนาที่สร้างวิบากได้


คือ "ต้องการเอาขันธ์ห้าบางอย่าง"


ทำไมต้องการเอา ?


เพราะเขาไม่รู้ว่ามันเป็นทุกข์


ถ้าต้องการกระทำโดยสติสัมปชัญญะ คือรู้ว่าทำโดยจำเป็น เช่น ถ้าไม่กินจะไม่มีแรง ไม่มีแรงไม่มีสมาธิ ไม่มีสมาธิไม่มีปัญญา อันนี้ไม่ใช่สังขารในปฏิจจสมุปบาท


แต่ถ้ากินเพื่อจะได้ไม่โมโหหิว คือเพื่อจะเอาเวทนา


---

 ปุญญาภิสังขาร = กุศลเจตนา ที่เป็นกามาวจร รูปาวจร


อปุญญาภิสังขาร = อกุศลเจตนาที่เป็นกามาวจร


อาเนญชาภิสังขาร = กุศลเจตนาที่เป็นอรูปาวจร

กายสังขาร วจีสังขาร จิตสังขาร

 กายสังขาร 


เจตนาที่ปรุงแต่งสร้างวิบากโดยใช้กายเป็นทางออก

เช่น กายทุจริต กายสุจริต


วจีสังขาร


เจตนาที่ปรุงแต่งสร้างวิบากโดยใช้วาจาเป็นทางออก


จิตสังขาร


เจตนาที่ปรุงแต่งสร้างวิบากโดยใช้จิตเป็นทางออก เช่น พวกทำสมาธิ

อาเนญชาภิสังขาร

 อเนญชาภิสังขาร 

เจตนาจะสร้างความไม่หวั่นไหวขึ้น 

ความหวั่นไหวคือรูป ว่ามันแตกสลายถูกทำลายได้ พวกนี้จึงเป็นพวกอรูป

ไม่ใช่ทุกกรรมจะก่อวิบาก

ไม่ใช่ทุกกรรมจะก่อวิบากได้


กรรมบางกรรมก่อวิบากไม่ได้ สร้างวิญญานไม่ได้ อันนั้นเรียก สหชาติกรรม


ส่วนกรรมที่ก่อวิบาก สร้างวิญญานได้ เรียก อภิสังขาร


ก็คือเฉพาะเจตนาที่สามารถสร้างวิบากได้


ไม่ใช่ทุกเจตนาจะสร้างภพใหม่ เช่น เจตนาจะเดินจงกรม อันนี้ไม่สร้างภพใหม่ ไม่เป็นอภิสังขาร 

หรือเจตนามาฟังธรรมเฉยๆ ไม่ได้จะฟังเอาไปสวรรค์อะไร อันนี้ก็ไม่ได้นับเข้าปฏิจจสมุปบาท

นัย 4 ของปฏิจจสมุปบาท

 การเข้าใจปฏิจจสมุปบาท ต้องเข้าใจอรรถะ 4 นัยให้ดี


ปฏิจจสมุปบาทนี่มันเป็นองค์ประกอบที่แตกต่างกัน 12 อัน เกิดดับสืบเนื่องกันโดยไม่ขาดสาย


เอกัตนัย 


ปฏิจจสมุปบาทนี่สืบเนื่องเป็นสายเดียวกันไม่ขาดสาย 


ถ้าเห็นถูก จะละความเห็นว่าขาดสูญ เพราะเหตุมี ผลย่อมมี


แต่ถ้าเห็นผิด จะเข้าใจว่ามันเป็นสัสสตทิฏฐิ เพราะเห็นว่ามันเป็นสายเดียวกันแบบไม่ตัดตอน คือไปเข้าใจว่ามันเชื่อมต่อกันจริงๆ 


อันที่จริงมันต่อกัน แต่มันก็ไม่ได้เชื่อมกันจริงๆ มันตัดเป็นคนละภาวะ แต่เชื่อมกันด้วยอำนาจปัจจัย


====


นานัตนัย 


แต่ละสภาวะในปฏิจจสมุปบาทนี่แยกขาดจากกันเลย เป็นคนละตัว อวิชชาก็ไม่ใช่สังขาร อวิชชาก็เกิดดับเลย, สังขารคือเจตนาก็เกิดดับเลย, วิญญานก็เป็นสภาวะอีกอย่างหนึ่งเกิดดับ มันแยกกัน มันไม่ใช่ตัวเดียวกัน


ถ้าเห็นถูก ก็จะละสัสสตทิฏฐิ คืออวิชชาก็ไม่เที่ยง เกิดและดับไปแล้ว, ก่อให้เกิดสังขาร ที่ไม่เที่ยงเช่นกัน ไม่มีอะไรค้างอยู่


แต่ถ้าเห็นผิด จะไปถืออุจเฉททิฏฐิ เห็นว่ามันไม่ต่อกัน มันสูญ เพราะว่ามันคนละอันกัน


จริงๆ มันเกิดแล้วดับก็จริง แต่ว่ามันมีปัจจัยไปต่อให้คนอื่น


====

อัพยาปารนัย


แต่ละสภาวะไม่มีความขวนขวาย ไม่มีผู้มีอำนาจ อวิชชาไม่ได้อยากหรือไม่อยากให้สังขารเกิด, สังขารไม่ได้มีเจตนาให้วิญญานเกิด มันเป็นแค่ เหตุ-ผล ที่เป็นอย่างนั้น


ถ้าเห็นถูก จะละอัตตทิฏฐิ คือความเห็นว่ามีผู้สร้าง มันไม่ได้มีอำนาจจริงๆ แต่มันมีปัจจัยของมัน


ถ้าเห็นผิด จะไปเห็นว่าเป็นกิริยทิฏฐิ มันไม่มีใครทำงั้นก็ไม่ต้องทำอะไร กลายเป็นไม่เป็นอันทำอะไร


====

เอวังธัมมตานัย


เป็นธรรมดาของปัจจยาการเช่นนั้นเอง อวิชชาปัจจยาสังขารา สังขารจะมีขึ้นก็เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จะขาดอวิชชาไม่ได้ เป็นธรรมดาของมันอย่างนั้น


ถ้าสังขารมา แสดงว่าอวิชชาต้องมา จะแบบเดี่ยวๆ ลอยๆ ไม่ได้


ถ้าเห็นชอบ ก็จะละ อเหตุกทิฏฐิ และอกิริยทิฏฐิ


ถ้าเห็นผิดก็จะถือว่าไม่มีเหตุไปเลย และถือนิยตะ คือถือว่ามันเป็นอย่างนั้น คือมันเป็นอย่างนั้นก็จริง แต่ถ้าทำเหตุอื่น มันก็ไม่เป็นอย่างนั้นก็ได้ไง

กิเลสเยอะ บาปมั้ย

 กิเลสจะเยอะขนาดไหน 

ถ้าไม่ประกอบเจตนาก็ไม่บาป 

แต่ถ้าประกอบเจตนาก็เป็นกรรม นั่นแหละบาป

ดูก่อนภารดา

 ดูก่อนภารดา


ไฟไหม้ต้องมีสาเหตุ

แต่ที่ควรทำก่อนคือดับไฟ

กำหนด

 กำหนด = ปริคฺคณฺหาติ (ปริคคัณหาติ)


ความสามารถในการบ่งชี้ บ้างบอก แยกแยะโดยชัดเจน


"กำหนดแบบสติ" 

มีอารมณ์จดจ่อกับสิ่งนั้น เช่น กำหนดกาย มีอารมณ์จดจ่ออยู่กับกาย ไม่คลาดเคลื่อนไปจากกาย


"กำหนดแบบปัญญา" 

ปัญญากำหนดกาย หมายถึง ปัญญาไปแจกแจงกายออกเป็นธาตุสี่ หรือเป็นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง


เป็นอาการคนละอย่าง แต่เวลาแปล ใช้คำว่ากำหนดเหมือนกัน

รวมสำนวนจากหนังจีน/qi pa shuo

 胸有激雷而面如平湖者,可拜上将军!


泰山崩于前而色不变,麋鹿兴于左而目不瞬


整个成熟的过程

从允许自己崩溃,

到允许别人崩溃

这些过程都是要自己发现的


知道自己是一个脆弱的人 

是个弱智

原谅自己

知道自己是个未成年人

慢慢地走上成年的道路


我觉得成年人的另一个标志就是不是那么喜欢争输赢


人生不能寄望在别人身上

不管别人是恶意还是善意

都不要寄望在别人身上


你藏不藏其实就在于你在不在乎别人


如果你根本就觉得别人帮不上什么忙

那你在别人面前展现崩溃这件事情是换不来什么的


它换来很多别人的干扰


藏了是因为我受不了我自己事后的后悔

我承受不了那个挫败感给我的冲击


我们跟一个人相处不只是在评价他

是在塑造他


一个人有多少被人喜欢的能力

他才在这个社会上有多少不被喜欢的权利

วันจันทร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2564

ถ้อยคำแก่งแย่ง

 ภิกษุเว้นขาดจากการกล่าวถ้อยคำแก่งแย่งกัน 

เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว 

ยังกล่าวถ้อยคำแก่งแย่งกัน เช่นว่า 

  • ท่านไม่รู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึง 
  • ท่านจักรู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ได้อย่างไร 
  • ท่านปฏิบัติผิด ข้าพเจ้าปฏิบัติถูก 
  • ถ้อยคำของข้าพเจ้าเป็นประโยชน์ ของท่านไม่เป็นประโยชน์ 
  • คำที่ควรจะกล่าวก่อน ท่านกลับกล่าวภายหลัง
  • คำที่ควรจะกล่าวภายหลัง ท่านกลับกล่าวก่อน
  • ข้อที่ท่านเคยช่ำชองมาผันแปรไปแล้ว 
  • ข้าพเจ้าจับผิดวาทะของท่านได้แล้ว 
  • ข้าพเจ้าข่มท่านได้แล้ว ท่านจงถอนวาทะเสีย
  • มิฉะนั้นจงแก้ไขเสีย ถ้าสามารถแม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.

闻而忘之

 闻而忘之; 见而记之;行而知之

ไม่หมกมุ่นในสุขที่ชอบธรรมนั้น

ไม่นำทุกข์มาทับถมตนที่ไม่เป็นทุกข์

ไม่สละสุขอันชอบธรรม

ไม่หมกมุ่นในสุขที่ชอบธรรมนั้น

เพียรพยายามละเหตุแห่งทุกข์

เข้าใจอรรถ เข้าใจธรรม

เข้าใจอรรถะ แปลว่า เข้าใจเนื้อหา 

เข้าใจธรรม หมายถึง เข้าใจสภาวะที่เป็นอริยสัจสี่

ลูกค้าของพระพุทธเจ้า

 ความรู้อริยสัจ จำเป็นเฉพาะกับผู้ยังมีปัญหากับเวทนาเท่านั้น

นิสสรณปหาน

 นิสสรณะ - ธรรมอันใดมีแล้ว เกิดแล้ว ถูกปัจจัยปรุงแต่งแล้ว ออกจากธรรมนั้นแล้ว

ปฏิปัสสัทธิปหาน

 ปฏิปัสสัทธิปหาน = ละโดยสงบระงับ 


สงบระงับจากกิจใดที่เป็นไปเพื่อการละ สงบระงับไปจากกิจนั้นแล้ว

เห็นสักแต่ว่าเห็น

 สำนวน "เห็นสักแต่ว่าเห็น" 

มาจาก ทิฏฺเฐ ทิฏฺฐมตฺตํ ภวิสฺสติ


คำแปลจริงๆ

เมื่อใดสิ่งที่ถูกเห็น (รูปารมณ์) จะเป็นสิ่งที่ถูกเห็นเท่านั้น


รูปจะปรากฏได้ รูปคือรูปธรรม ตัวรู้จักรูปคือปัญญา (ขันธ์สี่) เป็นนามจึงเรียกว่ารวมว่าขันธ์ห้าเกิด


ไม่ได้ให้พิจารณาการเห็น

ให้พิจารณาสิ่งที่ถูกเห็น


ทิฐฺเฐ ทิฏฺฐมตฺต ภวิสฺสติ


รู้จักมันตามที่เป็น

---

ทิฏฺเฐ ทิฏฺฐมตฺตํ ภวิสฺสติ 

สุเต สุตมตฺตํ ภวิสฺสติ

มุเต มุตมตฺตํ ภวิสฺสติ

วิญฺญาเต วิญฺญาตมตฺตํ  ภวิสฺสตีต

เตรียมตัวให้พร้อมที่สุด

การเตรียมตัวให้พร้อมที่สุด

โดยเป็นพ้นไปจากความหวังและความกลัว 

เป็นสิ่งที่มีค่ายิ่งกว่ากำลังใจที่ขึ้นๆ ลงๆ 

และการหลอกตัวเองไปวันๆ

ทุกข์ในขันธ์ห้าต้องบริหาร

 ทุกข์ในขันธ์ห้าต้องบริหาร

ทุกขอริยสัจต้องกำหนดรอบรู้

เวทนาที่อวิชชาสัมผัส

 เวทนาที่อวิชชาสัมผัส

หมายถึง เวทนาที่มีผลต่อตน, เวทนาที่มีผลต่อเขา

คุณ ในคำว่า กามคุณ

 คุณ ในคำว่า กามคุณ

แปลว่าเครื่องผูก


หมายถึง เครื่องผูกคือกาม ไม่ได้หมายถึงประโยชน์ของกาม

การเห็นแบบสัมมสนญาณ

 ยังไม่ได้เห็นไม่เที่ยงนะ (คือ ไม่ได้เห็นอันเก่าดับไป แค่เห็นอันใหม่) เห็นเปลี่ยนหน้าอีกละ เป็นลักษณะเด่นของสัมมสนญาณ 


ความดับเป็นแค่ความ "อนุมานเอา" ในสัมมสนญาณ


เช่น ไม่เห็นความเป็นเด็กดับ แค่เห็นว่าตอนนี้มันแก่ละ เลยอนุมานว่าเด็กมันดับไปแล้ว

ทุกข์ 3 หมวด - ทุกขทุกข์ วิปรินามทุกข์ สังขารทุกข์

 ทุกข์ 3 หมวด


หมวดแรกแบ่งตาม สภาวะที่รู้สึกได้ (แบ่งตามเวทนา)


1. ทุกขทุกข์ หมายถึง ทุกข์ในความรู้สึกเลยว่าทุกข์ - ว่าตามองค์ธรรมก็จะหมายถึง ทุกข์ และโทมนัส 


2. วิปรินามทุกข์ หมายถึง ทุกข์ที่รู้สึกเอาได้เมื่อมันเปลี่ยนระดับ มันยักย้ายถ่ายเท มันเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น หรือแปรปรวนไป เวลาพูดเวทนาจะหมายถึง สุข และโสมนัส อันนี้คนอาจจะไม่รู้สึกว่ามันทุกข์ แต่มันเปลี่ยนระดับ 


จริงๆ โทมนัสเวทนาก็แปรปรวน แต่ตัวความรู้สึกว่า "ทุกข์" มันชัดกว่า เลยจัดเป็นทุกขทุกข์ไป ในแบบว่า นับแล้วไม่นับซ้ำ


3. สังขารทุกข์ หมายถึง ทุกข์ในแบบสังขาร เรียกว่าเป็นทุกข์อย่างยิ่ง ทุกข์ปกปิด ทุกข์ในแบบที่เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันเป็นทุกข์ ไม่รู้ร้อนรู้หนาวกะมัน ถ้าว่าโดยสภาวะก็คือ อทุกขมสุข และสังขารอื่นๆทั้งหมด คือมันแปรปรวนน่ะแหละ แต่เรารู้สึกอะไรไม่ได้เลย คือเป็นทุกข์อย่างยิ่ง (ยิ่งจนคนทั่วไปรู้สึกไม่ได้) อันนี้คือสังขารมันเป็นทุกข์ในแบบไตรลักษณ์


สังขารถูกบีบคั้นอยู่ให้เคลื่อนย้ายเปลี่ยนรแปลงอยู่เสมอๆ เป็นธรรมดา แต่คนจะรู้สึกหรือเปล่านี้อีกเรื่องหนึ่ง การที่สังขารถูกบีบคั้นอยู่เสมอ (อันนี้เป็นไตรลักษณ์) คนที่ถูกความเปลี่ยนแปลงของสังขารแล้วถูกบีบจนตัวเองเป็นทุกข์ อันนี้เป็น ทุกขอริยสัจ


ท่านมักใช้ วิปรินามทุกข์ ในการเชื่อมเข้าอริยสัจ

ส่วน ทุกขทุกข์ ก็เชื่อมได้ แต่ถ้าทุกข์มากๆ มันจะไม่พิจารณา


วิปรินามทุกข์ และ ทุกขทุกข์ อาจจะไม่เป็นทุกข์เลยก็ได้ แต่เมื่อมีตัณหา อุปาทานมาถึอครอง จึงจะกลายเป็นทุกขอริยสัจ


---


หมวดสอง ทุกข์ในไตรลักษณ์


จะสื่อถึงสภาพความเป็นธรรมดาของสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติ


---


หมวดสาม ทุกขอริยสัจ


ถ้าไปยึดสิ่งนั้นๆ เป็นตัวเราขึ้นมาก็จะกลายเป็นทุกขอริยสัจ เป็นอารมณ์ของอุปาทาน


---

ทุกข์จร นี่เป็นทุกข์อริยสัจ เป็นทุกข์ที่มาจากความยึดถือ - โสกปริเทวะทุกขโทมนัสอุปายาส


ทุกขทุกข์ - เป็นเวทนา

วิปรินามทุกข์ - เป็นเวทนา

สังขารทุกข์ - เป็นสังขารท.(อาจจะเป็น/ไม่เป็นทุกขอริยสัจ อยู่ที่ยึดไหม)


การอธิบายคนกลางๆ - เอาตั้งต้นอธิบายความแปรปรวนเวทนาขึ้นต้นเรื่อง แล้วจะอธิบายเหมาก็เอาสังขารทุกข์ 


ทุกขทุกข์ ทุกข์มากมักไม่พิจารณา (ต้องคนปัญญาเยอะจริงถึงจะเห็น)

สังขารทุกข์ (ต้องคนปัญญาเยอะ)

---

การพิจารณาความไม่เหมือนเดิม (วิปรินามทุกข์) เกิดอันใหม่อยู่เรื่อย เป็นลักษณะของสัมมสนญาณ


แม้ยังไม่เห็นดับก็จริง แต่รู้ว่ามันจะต้องเปลี่ยนแน่นอน


ยังไม่ได้เห็นไม่เที่ยงนะ (คือ ไม่ได้เห็นอันเก่าดับไป แค่เห็นอันใหม่) เห็นเปลี่ยนหน้าอีกละ เป็นลักษณะเด่นของสัมมสนญาณ 


ความดับเป็นแค่ความ "อนุมานเอา" ในสัมมสนญาณ


เช่น ไม่เห็นความเป็นเด็กดับ แค่เห็นว่าตอนนี้มันแก่ละ เลยอนุมานว่าเด็กมันดับไปแล้ว

คำแปลอื่นๆ ของสะระณัง คัจฉามิ

 พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ


  • ข้าพเจ้าขอเสพคบซึ่งพระพุทธเจ้า
  • ข้าพเจ้ารู้ว่าพระพุทธเจ้าเป็นที่เบียดเบียนซึ่งภัย (กันภัยออกไปได้)

นันทิราคะ ฉันทราคะ

 ฉันทะราคะ ไม่ใช่ 2 เจตสิก เป็นเจตสิกเดียว = ตัณหา


นันทิราคะ ในธรรมจักร ก็ไม่ใช่ 2 เจตสิก เป็นเจตสิกเดียว = ตัณหา

กิเลสกาม วัตถุกาม

 กาม 2

กิเลสกาม - ตัณหา (สมุทัย)

วัตถุกาม - อารมณ์ (ทุกข์)


รูปาวจร อรูปาวจร ก็จัดเป็นวัตถุกามเช่นกัน


กาม

รูป

อรูป


จริงๆ ละคำว่า อวจร ไว้ ให้รู้ว่าคำเต็มคือ กามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร


อวจร ความหมายคือ เป็นไป (ปวตฺติ) เป็นไปในแบบนั้นๆ ในแบบของจิตคือเกิดดับ อันก่อนหน้ากับไปก่อน อันใหม่จึงเกิด 


ไม่ได้แปลว่า ท่องเที่ยว 

เดี๋ยวจะเหมือนพระสาติ ว่าวิญญาณท่องเที่ยวไป จะกลายเป็นความเห็นผิดไป

เว้นแต่โลกุตระจะไม่มี อวจร

จะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน

ครั้งที่เรายังเป็นมนุษย์ และบำรุงด้วยข้าวน้ำ 

สงเคราะห์ด้วยการล้างเท้าและทาเท้าให้ในเรือนของตน 

มาเข้าถึงหมู่คน ธรรพ์ อยู่ในหมู่คนธรรพ์

ท่านพวกนี้เอาหน้าไปไว้ไหน จึงไม่รับธรรมของพระพุทธเจ้า 


พวกท่านเข้าไปนั่งใกล้พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ

ประพฤติพรหมจรรย์ในพระพุทธเจ้าผู้ยอดเยี่ยม

แต่กลับมาเกิดในหมู่เทพชั้นต่ำ

การเกิดของพวกท่านไม่สมควร

เราได้มาเห็นผู้ร่วมประพฤติธรรม มาเกิดในหมู่เทพชั้นต่ำนับว่าได้เห็นรูปที่ไม่น่าดูเลย


ท่านดำเนินตามทางตรัสรู้ เป็นผู้มีจิตตั้งมั่นแล้ว จะเย้ยพวกเทวดาก็ได้

ท่านดำเนินตามทางสัมโพธิเพราะเป็นผู้มีจิตมั่นคง ย่อมเย้ยเทวโลกได้

ดูก่อนภราดา

 ดูก่อนภราดา

ถ้าเจ้าฟังแต่เรื่องที่เจ้ารู้

เจ้าจะไม่รู้เรื่องที่เจ้าฟัง


ดูก่อนภารดา

ถ้ายังไม่พร้อมที่จะไม่มี อย่าเพิ่งมี

แต่ถ้ามีแล้ว จงพร้อมเสมอที่จะไม่ดี 

กำหนดด้วยสติ กำหนดด้วยปัญญา

 กำหนด = ปริคฺคณฺหาติ


ความสามารถในการบ่งชี้ บ้างบอก แยกแยะโดยชัดเจน


"กำหนดแบบสติ" มีอารมณ์จดจ่อกับสิ่งนั้น เช่น กำหนดกาย มีอารมณ์จดจ่ออยู่กับกาย ไม่คลาดเคลื่อนไปจากกาย


"กำหนดแบบปัญญา" ปัญญากำหนดกาย หมายถึง ปัญญาไปแจกแจงกายออกเป็นธาตุสี่ หรือเป็นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง


เป็นอาการคนละอย่าง แต่เวลาแปล ใช้คำว่ากำหนดเหมือนกัน