กรณียมตฺถกุสเลน
กรณียํ (สิ่งที่พีงกระทำ/จำเป็นต้องกระทำ) + อตฺถกุสเลน (คนที่ฉลาดในประโยชน์)
สำหรับ กรณีย หรือสิ่งที่พึงกระทำนี้ ในพระพุทธศาสนาก็มีอยู่อย่างเดียว
คือ เดินทางไปนิพพานพ้นจากทุกข์ให้ได้ก็เท่านั้น
ในฐานะมนุษย์ ไม่พ้นทุกข์ให้ได้ก็เรียกว่าเสียชาติ
เพราะเกิดเป็นหมาเป็นแมวมันก็กินแล้วก็นอน
แต่มนุษย์ทำได้กว่านั้น
ฉลาดในประโยชน์ คือเห็นภัยในวัฏฏะ
ยนฺตํ สนฺตํ
ยํ + ตํ (อันใด) + สนฺตํ (สงบ)
สันติลักษณะเป็นลักษณะของนิพพาน
สงบแบบนิพพานนั้น ไม่ใช่สงบนิ่งแบบน้ำในแก้ว
ความสงบนิ่ง เป็นสงบแบบจิตแบบน้ำในแก้วไม่มีอะไรกระทบ
สงบอย่างนี้ยังเป็นการปรุงแต่งอยู่
แต่สงบแบบนิพพาน เป็นเพราะไม่มีอะไรให้นิ่ง มันจึงสงบ
สงบคือ ไม่มีทั้งน้ำ ไม่มีทั้งแก้ว
เป็นสุขอย่างยิ่ง แต่ไม่ใช่แบบสุขโลกๆ
สุขเพราะไม่มีอะไรให้สุข มันจึงสุข
ปทํ (สิ่งที่พึงถึง/พึงเดินทางไป)
ปท นี่ก็เป็นชื่อของนิพพาน คือเป็นสิ่งที่ควรไปให้ถึง
เป็นจุดหมายสุดท้าย ถ้าไม่ถึงก็จะวนเวียนอยู่อย่างนี้
เป็นความจำเป็น ถ้าไปไม่ถึงก็ไม่พ้นทุกข์
เป็นเป้าหมาย ไม่ใช่ทางเลือก
เป้าหมายหลัก คือ ไปนิพพาน
เป้าหมายรอง คือ ทำทุกๆ กิจกรรมให้สอดคล้องกับเป้าหมายหลัก
เป้าหมายที่จะไปให้ถึงนี่ไม่ได้ไปไหนนะ
เป้าหมายไม่ได้หนี แต่คนเดินทางนี่ล่ะหนีเป้าหมาย
สิ่งที่จะดึงให้หนีห่างเป้าหมาย คือ ความเคยชิน
อภิสเมจฺจ (ผู้ต้องการที่จะบรรลุ/มุ่งหวัง)
แปลรวมๆ กิจที่ควรกระทำ อันใด ที่ผู้ฉลาดในประโยชน์ ผู้ต้องการที่จะบรรลุ ซึ่งปท อันมีลักษณะสันติ...ทำสิ่งต่อไปนี้
= = = = =
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น