วันพฤหัสบดีที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2560

กรณียเมตตสูตร (ขยายความ ๑ ศีล)

สกฺโก (เป็นคนกล้าหาญ)
หมายถึง ตรงไปตรงมาต่อตัวเอง ถ้าผิดก็คือผิด ถูกก็คือถูก
กล้าแก้ไข กล้าเปลี่ยนแปลง กล้าดูตนเอง

อุชู (เป็นคนตรง)
กาย วาจาตรง มีศีล

สุหุชู (จิตตรง/ไม่มารยาสาไถย)
จิตใจตรงด้วย
การเดินทางนี้ใช้จิต จึงต้องดูจิตให้เป็น ดูว่ามีความเจ้าเล่ห์อะไรในจิตหรือเปล่า
ถ้าดูไม่เป็น อาจจะถูกหลอกให้เป็นคนดีก็ได้ หลอกให้พูดดีก็ได้
คนที่อ่อนน้อมจริงๆ คือคนที่ไม่รู้สึกว่าตนอ่อนน้อมถ่อมตนอะไร
ถ้ารู้สึกว่าตัวเองอ่อนน้อมนี่ ตัวอัตตานี่แหละที่มาบอกว่า "เรานี่ล่ะอ่อนน้อมถ่อมตน"
พวกนี้ไม่จริง ต้องรู้ให้ทัน
พวกนี้ต้องฝึกสติเยอะๆ อย่าทำตามความเคยชิน
ให้หยุดดูความรู้สึกตนเองก่อน หยุดดูความคิดตนเองก่อน แล้วค่อยพูด/ค่อยทำ

สุวโจ (เป็นคนว่าง่าย)
บอกอะไรก็ทำอย่างนั้น
ไม่ทำให้อาจารย์ลำบาก เพราะความจริงอาจารย์ไม่ต้องสอนเราก็ได้
ท่านรู้ทางแล้ว
มีใครมาชี้ความผิดก็ดีมาก ช่วยบอกอีกหน่อย

จสฺส
จ + อสฺส ควรจะเป็นอย่างนั้น

มุทุ (เป็นคนอ่อนโยน/ไม่แข็งกระด้าง)
พูดกับใคร อ่อนโยน ผ่องใสเอิบอิ่ม ลดความแรงของอัตตาลง

อนติมานี (ไม่ดูหมิ่นคนอื่น/ไม่ยกย่องตนเอง)
นินทานั่นแหละคือการดูหมิ่นคนอื่น ไม่ก็ยกย่องตนเอง
คนที่ยกย่องตนเอง ดูหมิ่นคนอื่น จะมีอะไรนอกจากการไม่เห็นอริยสัจ
ยกตน ก็เท่ากับข่มท่านนั่นล่ะ

สังเกตมั้ยว่าชอบเห็นคนอื่นผิดอยู่เรื่อย
เมื่อเห็นคนอื่นผิด เรานั่นล่ะผิดอยู่
ถ้าจิตเป็นกลางมันจะไปมีใครผิดอะไร
ไม่มีสัตว์มีคน มีแต่การกระทำที่เกิดตามเหตุตามปัจจัย

ถ้าเรามองว่าคนอื่นผิด
แสดงว่ากำลังเอาอดีตที่จบไปแล้ว
มาปรุงเป็นกิิเลสให้ขันธ์เราเอง

ลักษณะของจิตที่ควรแก่การงาน
จะไม่มีใครผิด
มันเป็นกำลังของกิเลสที่มาจากเหตุจากปัจจัย
ไปตามกระบวนการปฏิจจสมุปบาทของมัน

จิตที่ควรแก่การงาน จะไม่ยินดี ไม่ต่อต้านอารมณ์
ถ้ายินดี อภิชฌาเข้า
ถ้าต่อต้าน โทมนัสเข้า

สนฺตุสฺสโก (พอใจในสิ่งที่เป็นอยู่ขณะนั้นๆ)
สํ (สิ่งที่ตนเองมีอยู่/เป็นอยู่) + ตุสฺสก (ผู้ยินดีพอใจ มีความสุข)
ปกติมักถนัดปรุงจิต
อยากได้แต่จิตดีๆ
แต่ลักษณะของสติปัฏฐานคือไม่ปรุง ไม่แต่ง ไม่ทำให้มันดี
ไม่ดีก็รู้ ดีก็รู้ สงสัยก็รู้ ทุกอย่างเป็นฐานของการฝึกสติเท่านั้น

แต่ธรรมดาเราชอบจะทำให้ดี ไม่ดีไม่เอา
ดังนั้น คิดแบบเดิมจึงเชื่อไม่ได้
ก็ดูมันไปนี่สังขารขันธ์
ขันธ์ที่ละยากที่สุดก็สังขารขันธ์นี่ล่ะ

ถ้าไปจริงจังกับสังขาร
ว่าโดยย่อการยึดมั่นในขันธ์ 5 เป็นทุกข์
ความยึดมั่นอยู่ตรงไหน
ความยึดมั่นอยู่ที่ความคิดนี่ล่ะ คือสังขารขันธ์

สุภโร (เป็นผู้เลี้ยงง่าย)
อยู่ง่าย กินง่าย
ยิ่งกินง่ายอยู่ง่าย ยิ่งใกล้ปฏิจจสมุปบาท
ฝึกสติไปบ่อยๆ ความยุ่งยากในชีวิตจะน้อยลงๆ

เวลาหิวก็ดูความหิวสักหน่อย
ปกติคนเราไม่กินอะไรเยอะหรอก
ยิ่งแก่ พลังงานใช้น้อยลง
มันจะไปกินเท่าเดิมเหมือนเด็กๆ หนุ่มสาวเป็นไปได้ยังไง

อปฺปกิจฺโจ (เป็นผู้มีกิจน้อย)
อปฺป (น้อย) กิจจ (สิ่งที่จะต้องทำ)
กิจในที่นี้หมายถึงกิจไม่จำเป็น หรือประโยชน์น้อย
เนื่องจากเราต้องการกิจสูงสุดคือนิพพาน
อะไรไม่จำเป็นตัดไปๆ
บางอย่างไม่มี ยังมีประโยชน์กว่า

แทนที่จิตจะเกาะอยู่กับรูปนาม
มัวไปเกาะกับมัน

อยากรู้ว่าเบา/หนัก
มองไปธรรมชาติ ต้นไม้ จะรู้สึกเบา
มองข้างในจะรู้สึกหนัก
มองไปที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง จะรู้สึกมีน้ำหนัก
หนักเบาไม่เท่ากัน
ยึดเท่าไรทุกข์เท่านั้น

โดยเหตุโดยปัจจัย
ทุกสิ่งเสมอกัน คือไม่มีน้ำหนัก
ขันธ์ภายนอก ภายในเสมอกัน
น้ำหนักมาจากความยึดนั่นล่ะ

สลฺลหุกวุตฺติ (ผู้ดำเนินชีวิตด้วยความเบา)
สํ (ดี/ยอดเยี่ยม) + ลหุก (เบา) + วุตฺติ (ดำเนินชีวิต/ประพฤติ)

จิตเกาะอยู่แต่ข้างในก็เบา
ไม่มีเรื่องข้างนอกให้เกาะหนักใจ
มัชฌิมาปฏิปทาก็จะปรากฏชัดขึ้นมา

ตัวเรานี้ก็เป็นธรรมชาติ
เมื่อมองไปข้างนอกมันเบา
มองมาข้างในมันจะหนักไปไม่ได้

เมื่อมันหนักก็แสดงว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น
ความหนักมันก็คืออภิสังขารที่สร้างมานั่นล่ะ

ตอนที่ไม่ได้สร้างก็คือ ดูเฉยๆ
ตอนที่สร้าง คือ สมุทัย
ลักษณะของสมุทัย มันจะพาหนีสิ่งที่ไม่ดี เกาะสิ่งที่ดี

ไม่ต้องไปหาไกลหรอก
สมุทัยอยู่ในความเคยชินนี่ล่ะ
อยากพูดก็พูด
อยากเดินก็เดิน
อยากกินก็กิน

ก่อนจะทำตามความเคยชินให้มาดู
ก็จะเห็นว่าร่างกายนี้เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย

ความรู้แท้จริงเกิดจากการเรียนรู้สิ่งนั้นแบบตรงไปตรงมา
ความรู้ที่ไม่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
ก็เพราะมันเป็นความรู้ของคนอื่น

สนฺตินฺทริโย
สนฺต (สงบ) + อินทริย (ความสามารถในการข้องเกี่ยว)
สงบในที่นี้เป็นสงบแบบปรุงแต่ง คือแบบน้ำที่นิ่ง

คนจะไปนิพพาน ต้องมีอินทรีย์ที่สงบ
สังเกตตาตนเองหรือไม่
หันเป็นลิง เพราะจิตไม่นิ่ง

อะไรว้อบแว้บมาก็อยากจะไปรู้
อยากจะไปเห็น
อยากจะไปฟัง
เรียกว่าอินทรีย์มันไม่นิ่ง

เราก็รับรู้
เกี่ยวก็ยุ่ง
ไม่เกี่ยวก็เฉย

อ่านข่าวก็อ่านเฉยๆ
เห็นก็คือเห็น
กินอร่อยก็กินเฉยๆ
ต้องมาฝึกศิลปะการไม่ยุ่งเรื่องชาวบ้าน
ฝึกได้จะมีความสุขมาก

นิปโก (ชื่อของปัญญาที่จะช่วยตัวให้รอด)
นิปกะ (ปัญญาสำหรับช่วยตัวให้รอด)
รอดที่ว่า รอดจากกิเลส
ทำให้เราไม่หลงจนเกินไป
ปัญญาต้นๆ คือปัญญาที่จะไม่ตามกิเลสไป

รู้ตัวเองว่าปัญญาเราพอแล้วหรือยัง
รักษาตัวเองรอดหรือยัง
กิเลสแปลงร่างไปเรื่อย
พาเราไปทำดี
ทำดีก็ดี
แต่ก็ช้า...

อปฺปคพฺโภ (เป็นผู้ไม่คะนอง)
อปฺป (ไม่มี) + คพฺโภ (คะนอง)

การพูดเล่นมากเกินไป
การทำเล่นมากเกินไป
มาจากเหตุที่สนิทกันเกินไป

ยิ่งรู้ทางกัน
กิเลสยิ่งรู้ทาง คะนองไปเรื่อย

กุเลสุ อนนุคิทฺโธ (ความติดในตระกูล)
น (ไม่) + อนุคิทฺโธ (ตัณหาที่ติดอยู่ในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง) + กุเลสุ (ในตระกูล)

ความติดในตระกูล ในชื่อเสียง ลาภยศ สถาบัน ศาสนาของเรา
หรืออะไรที่เนื่องกับความเป็นเรา

= = = = = (จบเบื้องศีล) = = = = =








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น