วันศุกร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2561

เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป ปัญญาเห็นอย่างไร

การเห็นขันธ์เกิดดับ
เช่น เห็นเวทนาเกิดดับนี่
ไม่ใช่ เห็นเกิดวูบวาบ ดับวูบวาบ
แล้วบอกปัญญาเยอะแล้ว ไม่ใช่ อันนั้นเป็นอาการอันนึงของจิตที่ไปรับรู้เท่านั้น

ไม่ใช่ว่าเกิด คือมัน วื้ดดดด ขึ้นมา
ตั้งอยู่ คือ มันค้างเติ่ง
ดับไป คือ หายไป
อันนี้ว่าไปเรื่อย~~~

คือมันก็เห็น แต่ไม่ได้เห็นตามท่านบอก
เห็นแล้วมันไม่เบื่อหน่าย คลายกำหนัด
บางคนไปเพียรจนเห็นอะไรเยอะไปหมด แต่ไม่ได้ผลที่พึงได้เลย
กิเลสยังเต็มที่ ไม่ได้ผลคือความเบื่อหน่ายเลย

ถ้าเป็นปัญญาอย่างแท้จริงมันเห็นชัด
อ่อ เวทนาสุขนี่มันเกิดขึ้นเพราะ...อ้อ อวิชชามันเกิด ตัณหามันเกิด กรรมมันเกิด
จึงได้อันนี้มา จึงได้มานั่งอยู่อย่างนี้

ทุกข์เกิดขึ้นก็รู้ว่า
อ้อ เพราะไม่รู้อริยสัจ เลยมีตัณหา ไปเอามา มันก็ทุกข์อย่างนี้
เพราะรักตัวเอง เลยได้ตัวเองมาอย่างนี้ มันเห็นชัด

ปัญญาจะเห็นอย่างนี้
วิจัยด้วยปัญญา
ทีนี้การวิจัยด้วยปัญญาต้องอาศัยฐานสมาธิ ไม่ใช่มานั่งนึกเอา

เวทนาก็ปรากฏขึ้นตั้งอยู่ดับไป
สัญญาก็ปรากฏขึ้นตั้งอยู่ดับไป

ที่ปรากฏขึ้นเพราะสติมันชัดขึ้น
พอชัดขึ้นมันก็จับได้
ทำตัวเหมือนตัวป้อนข้อมูลให้ปัญญา

สติจับทำให้อารมณ์ปรากฏ ทำให้รูปนามปรากฏ
ลักษณะของสติคือไม่ปล่อยอารมณ์เลื่อนลอยผ่านไป จับขึ้นมาไว้ได้
สติเป็นตัวทำให้รูปนามปรากฏขึ้น

ปัญญาเป็นตัวพิจารณาความจริงของรูปนามกายใจ

(เห็น) เกิดขึ้นอย่างไร?
(เห็น) ตั้งอยู่อย่างไร?
(เห็น) ดับไปอย่างไร?
(ยกตัวอย่างอารมณ์คือ เวทนา)

ความเกิดขึ้นของเวทนา
ความเกิดขึ้นของเวทนาย่อมปรากฏ
โดยลักษณะความเกิดแห่งปัจจัยคือ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย
เพราะความเกิดของอวิชชา ความเกิดของเวทนาจึงมี

เห็นชัดว่าปัจจัยเกิด มันจึงเกิด เช่น
มันเห็นชัดว่าได้มานั่งสุขอยู่นี่ เพราะอวิชชานี่หนอ

ถ้าไม่ได้อวิชชาเกิด ก็ไม่ไ้ดรูปนามมา จะมาได้เวทนาอยู่อย่างนี้มั้ยหนอ
หรือเห็นชัดว่าเพราะตัณหาเกิดขึ้น จึงมาได้เวทนาอย่างนี้
หรือเห็นชัดว่าเพราะกรรมเกิด จึงได้เวทนาอย่างนี้

อวิชชา ตัณหา กรรม - นี่เหตุอดีต
มันรักมันพอใจ มันเพลิดเพลิน จึงไปทำกรรม แล้วก็มาได้เวทนาอย่างนี้
เช่น ไปรักเขา ไปดูแล ไปเอามา จึงต้องมาเหนื่อยอย่างนี้
อารมณ์สำนึกได้ในวิบากขันธ์

ที่ได้รับทุกอย่างมา เพราะอวิชชา ตัณหา กรรมนี่แหละ
ทำให้ได้วิบากขันธ์มา

เพราะความเกิดขึ้นของกรรม ความเกิดขึ้นของเวทนาจึงมรี
ไปมีความยึดถือ จึงอยากทำให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ตามใจเรา
แก้ให้เหมือนที่เราคิด (อันนี้เป็นภพ - กรรมภพ)

แต่ถ้าวิปัสสนา เราก็ทำไปตามเหตุปัจจัย ไม่ได้มีความคิดจะทำให้เหมือนที่เราคิด
มันก็ไม่เป็นกรรม

ตอนที่เป็นกรรม คือตอนทำให้เหมือนที่ใจเราคิด
ไปแก้ให้คนนู้นเป็นอย่างนู้นอย่างนี้
พูด ทำ คิดที่ยังมีความยึดมั่น มันจะเป็นกรรม
มีความต้องการจะเปลี่ยนแปลงเพื่อ "เรา"
อันนี้เรียกว่าเป็น กรรม

เมื่อมีความยึดอยู่ พวกสังขารอะไรเก่า
มันก็ทำงานได้ เรียกว่ามีเชื้อ มีเหตุ
จริงๆ กรรมเก่าๆ ก็ไม่ได้มีอะไร ไม่ได้มีตัวตน
มันก็ต้องอาศัยเชื้อ

เชืื้อก็คือ ความเห็นผิด และความยึดผิดนี่แหละ
ตัณหาอุปาทานใหม่นี่แหละ เป็นเชื้อให้มัน
ถ้าอวิชชาเก่ามันส่งผลมาแล้ว แต่ตัณหาอุปาทานใหม่หมดไป มันก็ทำอะไรไม่ได้นะ
เพราะทุกอย่างมันอิงอาศัยกันอยู่

ความปรากฏขึ้นของเวทนา ย่อมเกิดเพราะผัสสะเกิดขึ้น
อันนี้เป็นแบบเหตุปัจจุบัน
เพราะกระทบกับอันนี้ๆ เวทนาจึงเกิดขึ้น
ปัญญาจะมองทะลุ

ทะลุคือ เห็นในปัจจุบันด้วย เห็นในอดีตด้วย
บางทีสิ่งนี้เกิดกับเรา มันรู้สึกชัดเลยว่า อ่อ นี้ไง เคยทำอันนี้ๆ มา
อันนี้เป็นขั้น กัมมัสสกตาญาณ แต่มันยังนอกๆ อยู่
ไม่เห็นเป็นตัวสภาวะ เห็นเป็นเหตุการณ์

กัมมัสสกตาญาณก็ดี หรือปัญญาที่มาจากฐานสติก็ดี
มันไม่เห็นชัดถึงตัวสภาวะ
การจะเห็นตัวสภาวะ ต้องใช้ฐานสมาธิ

คือตอนที่เป็นกัมมัสสกตาฯ มันจะคิดอีกแบบ "เพราะเราทำ..."
ในความเห็นมันจะมี "เรา" โผล่เข้ามา
แต่ตอนเป็นปัญญา มันจะไม่มีเราโผล่เข้ามา จะเป็นสภาวะเลย

ที่เราฟังธรรม พิจารณาทำบ้าง มันก็เห็นเหมือนกัน
แต่มันไม่เห็นถึงตัวสภาวะ
เพราะฐานมันไม่ถึง มันเห็นได้แค่ว่า "นี่เพราะเราทำอันนี้ๆ ไว้ อีกสักหน่อยจะได้รับผลอันนี้ๆ นะ"
มันรู้เหมือนกัน แต่รู้แบบมี "เรา" โผล่

แต่เมื่อจิตเป็นสมาธิตั้งมั่น "เรา" จะหายไป
จะเห็นว่า อ่อ "รูปมันเป็นอย่างนี้ เพราะมีการกระทำเช่นนี้ๆ" 
จะไม่ได้รู้สึกว่า "เพราะเราทำอย่างนี้ๆ จึงได้รูปอย่างนี้ๆ"

เพราะกรรมมันเป็นเช่นนี้ เวทนามันจึงเป็นเช่นนี้

สรุปว่า
การเห็นเวทนาเกิดขึ้น เห็น 5 ลักษณะด้วยกัน
4 อันแรก คือ เห็นเหตุมันเกิด ตัวมันจึงเกิด
จากไม่มีก็มามี และไม่ได้มีมาลอยๆ เพราะอันอื่นเกิดมันจึงเกิด

  1. อวิชชาเกิด เวทนาจึงเกิด (เหตุอดีต เกิดผลปัจจุบัน)
  2. ตัณหาเกิด เวทนาจึงเกิด (เหตุอดีต)
  3. กรรมเกิด เวทนาจึงเกิด (เหตุอดีต)
  4. ผัสสะเกิด เวทนาจึงเกิด (เหตุปัจจุบัน เกิดผลปัจจุบัน)
  5. เห็นมันเกิด แต่เดิมไม่มี แล้วมามีขึ้น
เช่น ความสวยเกิด เพราะความเกิดของสิ่งไม่สวย
อิงอาศัยกันเกิด

ความตั้งอยู่ของเวทนา 
เห็นอย่างไร 

เมื่อผู้เจริญสติอยู่
เวทนาที่ตั้งอยู่ย่อมปรากฏโดยความเป็นของไม่เที่ยง
ย่อมปรากฏโดยความเป็นของสิ้นไป

มองดูเวทนา
ยังไม่ต้องเห็นมันดับอะไร
เป็นความรู้สึกขึ้นมาว่า ไอ้เนี่ย ที่กำลังมีอยู่เนี่ย มันไม่เที่ยง
หรือถ้าไม่เห็น ก็ให้มนสิการใส่ใจลงไปอย่างนี้ ว่า "ไอ้สิ่งที่กำลังเป็นอยู่เนี่ย มันไม่เที่ยง"

เวทนามันก็จะปรากฏโดยความเป็นของสิ้นไป/เสื่อมไป
ทั้งๆ ที่มันยังไม่เสื่อม เราก็เห็นแล้ว
ความรู้สึกมันจะปรากฏแก่ใจ

เหมือนว่า เรามองเห็นคนคนหนึ่ง มีชีวิตอยู่
ก็มีความรู้ว่า คนนี้ก็จะต้องตายเป็นธรรมดา
ความตายของเขาปรากฏแก่ใจเราว่า "ไอ้หมอนี่ต้องตายเป็นธรรมดา"
คือไอ้หมอนี่ก็ยังอยู่ แต่ความเสื่อมของหมอนี่ก็ปรากฏ

เหมือนของใหม่ ทั้งๆ ที่ของใหม่
แต่่เราเห็นว่ามันจะต้องเก่าเป็นธรรมดา
นี่คือ ความเป็นของเก่ามันปรากฏ ทั้งๆ ที่ตัวของตอนนี้มันยังใหม่อยู่

สิ่งต่างๆ ตั้งอยู่โดยความไม่เที่ยง
ทั้งๆ ที่ดูเหมือนว่ายังเที่ยงอยู่

ปัญญาเท่านั้นจะมองทะลุแบบนี้

ขันธ์ตั้งอยู่โดยความเป็นของเสื่อมไปเป็นธรรมดา
การพิจารณาเช่นนี้ จึงเรียกว่า พิจารณาความตั้งอยู่ของเวทนา

เมื่อมองดูโดยความเป็นทุกข์
ความตั้งอยู่โดยความเป็นภัยก็จะปรากฏ
ความน่ากลัว น่าสะดุ้ง ก็ปรากฏแก่ใจ
มองตอนเป็นทุกข์ จึงน่ากลัว

ตอนนี้มันให้ความสุขเราได้
ก็มองเห็น เออ เดี๋ยวสักหน่อยมันก็จะเป็นภาระ
มันหนัก มันเหนื่อย มันน่ากลัว

ถ้าไม่มองเลย มันจะไม่กลัวเลย
ไม่มองก็ไม่ปรากฏ
การมนสิการถึงความเป็นทุกข์ ความน่ากลัว ความเป็นภัยก็จะปรากฏ

หรือเมื่อมนสิการโดยความไม่มีตัวตน
โดยความเป็นของว่าง มาจากความว่าง แล้วก็ไปสู่ความว่าง

สุขเกิดที่ใคร มันก็ไม่ใช่ใครสุข
เกิดที่เราก็เป็นสุข เกิดที่เขาก็เป็นสุข เกิดที่ไหนก็เป็นสุข
ทุกข์เกิดขึ้น
เกิดที่เราก็เป็นแค่ความทุกข์ ไม่ได้เป็นเราทุกข์ ใครทุกข์
เกิดในอดีตก็เป็นทุกข์เกิด อนาคตก็เป็นทุกข์เกิด ไม่ได้มีเราของเรา ใคร/ของใคร
ปัญญาก็เห็นชัดอย่างนี้ มองเห็นเป็นของกลาง

เงินก็เป็นเงิน
ไปอยู่กับคนอื่นก็ไม่ได้เป็นของคนอื่น 
เป็นว่าง เป็นของสาธารณะ
มันก็จะเห็นชัดอย่างนี้

อาหาร ตับไตไส้พุง ก็เป็นของสาธารณะแก่หนอนพยาธิทั้งหลาย
เรากินนั่นนี่เข้าไป พวกในร่างกายเราก็กิน
เป็นของสาธารณะทั่วไป ทุกอย่าง 

ทำไมเขาได้มา เพราะมีเหตุมีปัจจัยจึงได้
ทำไมเราไม่ได้ เพราะไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยจึงไม่ได้

ตั้งอยู่โดยความ
  1. สิ้นไป
  2. เสื่อมไป
  3. สูญไป
  4. ว่างจากตัวตน

เวลาฝึกกรรมฐาน ไม่ใช่เจริญกรรมฐาน
แต่เพื่อฝึกสติ ฝึกสมาธิ ฝึกปัญญา
ไม่ใช่มัวห่วงท่าสวย

ความดับของเวทนา
ปรากฏอย่างไร

ปรากฏโดยความดับไปของปัจจัย
เพราะอวิชชาดับไป เวทนาจึงดับไป
ความดับไปของเวทนาย่อมปรากฏ เพราะความดับไปของตัณหา

เพราะความดับไปของกรรม 
เลิกอยากแก้นั่นแก้นี่
แต่แก้ไปตามเหตุตามปัจจัย แต่ไม่ใช่ทำตามใจอยาก

ถ้าดับอวิชชาได้ในปัจจุบัน เวทนาในอนาคตก็ไม่มี
ตัณหามันดับไป เลิกรัก เวทนาในอนาคตก็ไม่มี

ความดับไปแห่งเวทนาย่อมปรากฏ เพราะความดับแห่งผัสสะ
ไม่มีผัสสะชนิดนี้ เวทนาชนิดนี้ก็ไม่มี

ความดับไปของเวทนาย่อมปรากฏ แก่ผู้เห็นความเสื่อมไป

3อันแรก ดับเหตุปัจจุบัน ผลอนาคตก็ไม่มี
เห็นความดับ
  1. เพราะความดับของอวิชชา ความดับของเวทนาจึงมี
  2. เพราะความดับของตัณหา ความดับของเวทนาจึงมี
  3. เพราะความดับของกรรม ความดับของเวทนาจึงมี
  4. เพราะความดับของผัสสะ ความดับของเวทนาจึงมี
  5. การเห็นลักษณะคือความแปรปรวนไป
อตฺถงฺคโม = ความดับ คือ เกิดแล้วมันดับ
นิโรโธ = ความดับ ดับสนิท หมายถึง มันไม่เกิดเลยไม่ต้องดับ ดับแบบไม่เกิดขึ้น จึงดับสนิท

ดับสนิท คือ ไม่มีไฟ
เย็นสนิท คือ ไม่มีร้อน

ทั้งหมดนี้อธิบายลักษณะของปัญญาว่า "เห็นอย่างไร"
ไม่ได้อธิบายลักษณะของ "เวทนา"

ถ้าลักษณะของเวทนานี่มันก็เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป
เหมือนจิตนั่นแหละ 
แต่ที่ขยายความอยู่นี้คือลักษณะของปัญญา
ว่าปัญญาเมื่อมันเห็นความเกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไปของเวทนา คือ เห็นอย่างนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น