วันอาทิตย์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2561

สิกขติ

หมายถึง ฝึกหัด หัดฝึก

การฝึกในพระพุทธศาสนาเริ่มตรงไหน
ก็เริ่มตรงเห็นโทษภัยแล้วค่อยมาเริ่มฝึก
ถ้ายังไม่เห็นโทษภัย ถึงแม้จะมีศีล ทำบุญทำทาน
ก็ยังถือว่า "ยังไร้การศึกษา"

การศึกษานั้นเริ่มที่ปัญญา เห็นโทษภัยของวัฏฏะ
เห็นโทษภัยของกิเลสต่างๆ เพียงแต่ยังละไม่ได้
แต่ก็เหนื่อยกะมันเหลือเกิน
เลยต้องมาฝึกเพื่อจะละมัน การฝึกนี้เรียกว่า "สิกขติ"

ถ้าไม่ฝึกก็ดูจะสู้มันไม่ได้
เหมือนกะว่ามีฝ่ายมัน-ฝ่ายเราอยู่
เป็นฝ่ายมาร-ฝ่ายพุทธะ
ตอนนี้คือมาสร้างฝ่ายพุทธะขึ้นมา

ในความรู้สึกครั้งยังไม่เห็นอริยสัจ จะเหมือนมี 2 ฝ่าย
ต่อเมื่อเห็นอริยสัจแล้ว ก็จะไม่มี "เรา" อยู่ในกระบวนการของทั้งสองนั้น

แต่เดิมเลยจะรู้สึกว่า ทั้งสองกระบวนการนั้นเป็น "เรา" ล้วนๆ
แต่พอฝึกมาได้สักหน่อย พวกกิเลสจะกลายเป็นฝ่าย "มัน"
พวกความรู้ สติ ปัญญา จะเป็นฝ่าย "เรา"

แต่พอเห็นความจริง ก็จะไปเหมือนตอนต้น
คือ ไม่แยกกัน ไม่มีเรา แต่ก็เป็นเรานั่นแหละ 555
ก็เป็นแค่ธรรม ฝ่ายกิเลสก็มีเมื่อมันเกิด เกิดเมื่อมันมีเหตุ
ฝ่ายดีก็ไม่ต่างกัน มีเมื่อมันเกิด เกิดเมื่อมันมีเหตุ เท่านั้น เหมือนกันเลย

สิกขติเป็นการพัฒนาคุณธรรมฝ่ายดีขึ้นมาให้มันมีความรู้ มีปัญญา
จะฝึกหัดก็ต้องมีการกระทำขึ้นมา มาตั้งไว้อันนึง (กรรมฐาน)
ต้องมาทำเพราะ ศีล สมาธิ ปัญญา อริยมรรค เป็นสังขาร
ไม่ทำไม่เกิด และต้องมาทำให้เกิด ทำให้ถูก และต้องมีฐานแห่งการกระทำ

แค่มีสติตั้งใจดูลมหายใจเข้าออก กายวาจาก็จะเรียบร้อย
จิตก็มีการสำรวมระวัง คนฝึกมานานๆ นี่แค่จิตกลับมาที่ลม
สติก็ผูกจิตไว้ เกิดการสังวรณ์ อันนี้ก็เป็นศีลแล้ว

ถ้าใครยังไม่ได้ศีล ไม่มีสังวร
ก็ต้องอาศัยสิกขาบถมาช่วยไม่ให้มันผิดพลาด
พอมีศีลอยู่กับตัว ไม่ไปยุ่งเรื่องคนนั้นคนนี้ ไม่ไปเที่ยวรัก เที่ยวแก้ไข ก็ไม่เดือดร้อนใจ
ก็เกิดปราโมช ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ

ที่พวกเราไม่ค่อยเป็นสมาธิกันเพราะมันไม่ค่อยมีสังวรนั่นเอง
จิตมันไม่อยู่กับกรรมฐาน ไม่อยู่กับกรรมฐาน
ไม่มีงานประจำให้ทำ มันก็ไปยุ่งเรื่องชาวบ้าน
ไม่สำรวมในผู้อื่น ก็จะไปคิดว่าเขาจะเป็นเหมือนที่เราคิด
ไม่สำรวมในเงิน นี่เงินของเรา

พอไม่สำรวมปุ๊บ กิเลสมันก็มีเหตุให้เกิด
ความไม่สำรวมนี่แหละเป็นเหตุให้เกิดกิเลส การไม่ระวังนี่เอง
ใส่ใจไม่เป็น ไม่รู้จักมีที่ตั้งให้ตนเสียก่อน
เกิดกิเลสก็เดือดร้อนใจ ไม่อิ่ม หิว พอหิวก็ต้องหา มันก็ไม่อิ่มจริง

กรรมฐานจะเป็นตัวช่วยให้รู้จักกระบวนการพวกนี้
อานาปานสติก็เป็นวิธีการอันนึงที่จะฝึกให้ช่วยรู้จักศีล สมาธิ ปัญญา อริยมรรค

ผู้ปฏิบัติมักจะเห็นว่า "แต่เดิมเราโง่อยู่ก่อน"
จริงๆ มันผิด เพราะมันไม่มี "เรา"
ที่เรียกว่า "เรา" นี่มันมาทีหลัง
มีเหตุมีปัจจัย ขาดสติสัมปชัญญะ กิเลสก็เกิดขึ้น มันไม่ได้มีกิเลสอยู่ก่อน

พอมีกิเลสเกิดขึ้น มันก็ไปยึดรูปนามว่าเป็น "เรา"
กล่าวคือ กิเลสเกิดก่อน เรามาทีหลัง
ที่ผิดคือ เรามีอยู่ก่อน กิเลสมาทีหลัง (อันนี้ผิดเต็มๆ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น